ไอบีเอ็มประกาศความพร้อมนำเทคโนโลยีค็อกนิทิฟเข้าเสริมศักยภาพธุรกิจไทยตั้งแต่องค์กรขนาดใหญ่จนถึงสตาร์ทอัพ ระดมผู้เชี่ยวชาญมุ่งสร้างอิโคซิสเต็มธุรกิจ-การศึกษาสนับสนุนนโยบายรัฐ พร้อมจับมือดิจิทัล เวนเจอร์ส ผสานจุดแข็งสถาบันการเงินระดับแนวหน้าของไทย เข้ากับเทคโนโลยีอัจฉริยะ 'ไอบีเอ็ม วัตสัน' ที่ปัจจุบันถูกนำไปใช้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก เพื่อพัฒนาสุดยอดไอเดียฟินเทคบนเทคโนโลยีค็อกนิทิฟรายแรกของไทย ที่จะเดินหน้าอวดศักยภาพในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป
"ในขณะที่เราให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาลทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นภาพเคลื่อนไหว ข้อมูลจากอุปกรณ์สวมใส่ หรือสิ่งที่ผู้คนสื่อสารบนโลกโซเชียล เรากลับใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนักจากข้อมูลดังกล่าว เพราะ 88% ของข้อมูลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นข้อมูลแบบไม่มีโครงสร้าง ซึ่งคอมพิวเตอร์ทั่วไปไม่มีความสามารถในการเข้าใจความหมาย" นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว "การสร้างความสามารถในการประมวลผลให้กับคอมพิวเตอร์โดยการจำลองกระบวนการคิดของมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีค็อกนิทิฟ เช่น การเข้าใจความหมายของข้อมูลหลากหลายรูปแบบ การตั้งสมมุติฐาน และเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด ทำให้เราขยายขีดความสามารถในการคิดและการตัดสินใจ ตลอดจนแก้ไขปัญหาท้าทายแบบที่ไม่เคยทำได้ในอดีต ศักยภาพนี้จะเป็นกุญแจสำคัญสู่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดขององค์กรในทุกอุตสาหกรรมและทุกประเทศ"
#ค็อกนิทิฟพร้อมสำหรับตลาดไทย ธุรกิจตื่นตัวแสดงดีมานด์#
ไอบีเอ็ม วัตสัน คือเทคโนโลยีค็อกนิทิฟแรกของโลกที่ก้าวล้ำไม่เหมือนใคร โดยผสานความสามารถ 5 แขนงเข้าด้วยกัน คือ (1) บิ๊กดาต้าและอนาไลติกส์ (2) ปัญญาประดิษฐ์ (3) ระบบที่เข้าใจภาษาธรรมชาติ ภาพ และเสียง แบบเดียวกับมนุษย์ (4) ระบบองค์ความรู้และความเข้าใจในบริบทความรู้ รวมถึง (5) โครงสร้างพื้นฐานและพลังการประมวลผลขั้นสูง โดยที่ผ่านมาไอบีเอ็มได้เสริมศักยภาพแพลตฟอร์มค็อกนิทิฟอย่างต่อเนื่อง ผ่านการลงทุนมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อาทิ การเข้าซื้อกิจการเดอะเวเธอร์คอมแพนีเพื่อนำข้อมูลสภาพอากาศเข้าต่อยอดอินเตอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ การเข้าซื้อกิจการทรูเวนเฮลท์อนาไลติกส์และเมิร์จเฮลธแคร์เพื่อยกระดับบริการดูแลสุขภาพ การเข้าซื้อกิจการยูสตรีมเพื่อรองรับการถอดมุมมองเชิงลึกจากข้อมูลในรูปวิดีโอจำนวนมหาศาล รวมถึงได้มีการจับมือกับพันธมิตรอย่างทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค ซิสโก้ ฯลฯ เพื่อรุกขยายความสามารถของวัตสันให้พร้อมสำหรับธุรกิจทุกขนาดในทุกอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ยังได้มีการตั้งกลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม วัตสัน ไอโอที เพื่อให้ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลอินเตอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนคาดว่าจะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันมากถึง 29,000 ล้านเครื่องในปี พ.ศ. 2563 และกลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม วัตสัน เฮลท์ เพื่อใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและข้อมูลสุขภาพมหาศาลในการพัฒนาการรักษาและบริการด้านสุขภาพแบบเฉพาะบุคคล
ล่าสุดมีการจัดตั้งศูนย์ไอบีเอ็มวัตสันที่สิงคโปร์ เชื่อมผู้เชี่ยวชาญราว 5,000 คนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ครอบคลุมนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีวัตสัน นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วิศวกรซอฟต์แวร์ นักพัฒนา และผู้เชี่ยวชาญด้านอนาไลติกส์ พร้อมเป็นฐานสำคัญในการยกระดับธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ สตาร์ทอัพ หรือผู้ให้บริการระบบซอฟต์แวร์ ทั้งในรูปแบบแพลตฟอร์มอินโนเวชั่นที่มีฐานข้อมูลอุตสาหกรรมจำนวนมหาศาลรองรับ แพลตฟอร์มวัตสันเฮลท์คลาวด์ (Watson Health Cloud Platform) แพลตฟอร์มวัตสันไอโอที (Watson IoT Platform) แพลตฟอร์มบริการที่คิดค่าใช้จ่ายตามลักษณะการใช้งาน (Watson-as-a-Service) โดยปัจจุบันมีวัตสันเอพีไอ (Application Program Interface: API) มากกว่า 30 บริการบนแพลตฟอร์มคลาวด์ 'ไอบีเอ็ม บลูมิกซ์' และคาดว่าจะมีถึง 50 บริการภายในสิ้นปีนี้ ตัวอย่างเอพีไอที่มีอยู่ขณะนี้ อาทิ เอพีไอ Personality Insights ที่สามารถประมวลผลข้อความหรือคำพูดออกมาเป็นบุคลิกภาพของคนๆ นั้น เอพีไอ AlchemyData News ที่สามารถดึงข้อมูลจากเว็บและบล็อกข่าวย้อนหลัง วิเคราะห์เชิงอนุกรมเวลา (time series) วิเคราะห์เทรนด์และการจับคู่แพทเทิร์นต่างๆ แล้วทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตบนพื้นฐานของข้อมูลที่สังเกตได้ เอพีไอ Conversation ทำหน้าที่ virtual agent ที่สามารถเข้าใจความหมายและความต้องการที่แฝงอยู่ในคำพูด และสามารถตอบกลับผ่านช่องทางหรืออุปกรณ์ใดก็ได้ เป็นต้น
"ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีค็อกนิทิฟใน 20 อุตสาหกรรมใน 45 ประเทศทั่วโลก อาทิ การเงิน ค้าปลีก การดูแลสุขภาพ ท่องเที่ยว การศึกษาและวิจัย อาหาร เชื้อเพลิง เป็นต้น ตั้งแต่องค์กรชั้นนำไปจนถึงสตาร์ทอัพ ตัวอย่างเช่น ซอฟต์แบงค์, การรายได้ภายในประเทศแห่งสิงคโปร์, กลุ่มโรงแรมเครือฮิลตัน, ธนาคาร เอเอ็นซี, แอร์บัส, เมดโทรนิค, เซซามี สตรีท, นอธเฟซ, ทอมสัน รอยเตอร์, อันเดอร์ อาร์เมอร์, เคพีเอ็มจี, พาร์คเวย์, ห้างเมซีส์ และเท็ดทอล์ค เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นรายแรกที่นำวัตสันเข้าช่วยพัฒนา การรักษามะเร็งปอด ตับ ลำไส้ และเต้านม" นายทิโมธี เกรย์ซิงเกอร์ รองประธาน กลุ่มงานโซลูชั่นและพันธมิตรทางธุรกิจด้านค็อกนิทิฟและแอปเปิ้ล ไอบีเอ็ม อาเซียน"ไทยถือเป็นประเทศที่เปิดรับเทคโนโลยีค็อกนิทิฟและมีศักยภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน ค้าปลีก ประกันภัย โทรคมนาคม การดูแลสุขภาพ ภาครัฐ รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพ วันนี้เทคโนโลยีค็อกนิทิฟมีแพลตฟอร์มและเอพีไอที่ครอบคลุม และพร้อมแล้วที่จะสร้างศักยภาพการแข่งขันให้ธุรกิจไทยทุกขนาด" นายทิโมธีเสริม
#รุกสร้างอิโคซิสเต็มธุรกิจ-การศึกษา ร่วมสร้าง New S-Curve ขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0#
ไอบีเอ็มยังวางแผนเปิดศูนย์นวัตกรรมเต็มรูปแบบในไทย เพื่อนำเทคโนโลยีค็อกนิทิฟและผู้เชี่ยวชาญเข้าเสริมศักยภาพองค์กรและพันธมิตรทางธุรกิจ ศูนย์ดังกล่าวจะดึงต้นแบบความสำเร็จจากทั่วโลกมาเป็นกรณีศึกษาให้ธุรกิจไทยต่อยอด โดยตั้งเป้าเปิดภายในปีนี้
ไอบีเอ็มยังได้เตรียมความพร้อมบุคลากรในประเทศไทย และจัดตั้งทีม 'ไอบีเอ็ม วัตสัน' เพื่อรองรับลูกค้าที่มีความสนใจในโซลูชั่น 'วัตสัน อนาไลติกส์' และเอพีไอวัตสันบนแพลตฟอร์มคลาวด์บลูมิกซ์ พร้อมทั้งนำผู้เชี่ยวชาญทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลกเดินหน้าให้ความรู้เกี่ยวกับค็อกนิทิฟคอมพิวติ้งและไอบีเอ็ม วัตสัน แก่ลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ สตาร์ทอัพ นักพัฒนา และผู้ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับค็อกนิทิฟและไอบีเอ็ม วัตสัน รวมกว่า 2,000 ราย นอกจากนี้ยังวางแผนจับมือองค์กรชั้นนำของไทยเพื่อนำค็อกนิทิฟเข้าต่อยอดธุรกิจไทยยุคดิจิทัลให้พร้อมแข่งขันในยุคที่ข้อมูลและเทคโนโลยีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งโมเดลธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภค
ขณะเดียวกันยังได้จับมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ รวม 12 แห่ง ในการนำผู้เชี่ยวชาญของไอบีเอ็มเข้าร่วมถ่ายทอดทักษะความรู้ด้านค็อกนิทิฟให้แก่อาจารย์ผู้สอนและนักศึกษา ทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการบริหารจัดการธุรกิจ ทั้งยังเปิดให้ใช้เอพีไอค็อกนิทิฟ โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และอื่นๆ อีกมากมายบนแพลตฟอร์มคลาวด์ไอบีเอ็ม บลูมิกซ์ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยคาดว่าปีนี้จะมีคณาจารย์ รวมถึงนักเรียนและนักศึกษาซึ่งเป็นบุคลากรในอนาคตของไทยกว่า 2,000 คน ที่ได้เรียนรู้เทคโนโลยีทางธุรกิจแห่งอนาคตนี้ เพื่อร่วมสร้าง New S-Curve ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0
#ชูไฮไลท์จับมือดิจิทัล เวนเจอร์ส จัดแข่งขันแผนธุรกิจ 'ไอบีเอ็ม วัตสัน' ครั้งแรกในโลก หนุนฟินเทคไทยสู่เวทีสากล#
ไฮไลท์ในปีนี้คือการจับมือกับดิจิทัล เวนเจอร์ส จัดการประกวดแผนธุรกิจไอบีเอ็ม วัตสัน (IBM Watson Business Case Competition) ครั้งแรกของโลกในไทย โดยมีโจทย์คือเรื่อง 'ฟินเทค' เนื่องจากเป็นพื้นฐานของทุกธุรกิจไม่ว่าอุตสาหกรรมใด และเทคโนโลยีด้านการเงินยังเป็นหนึ่งใน New S-Curve ที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มตัว
เป้าหมายคือการเป็นเวทีให้นักศึกษาและสตาร์ทอัพไทยได้เรียนรู้และแสดงศักยภาพ การศึกษาที่ผ่านมาพบว่าสตาร์ทอัพ 9 ใน 10 รายไม่ประสบความสำเร็จ [2] โดยมีสาเหตุหลักมาจากการขาดตลาดรองรับ [3] ดังนั้นการแข่งขันครั้งนี้จึงเน้นการตีโจทย์ให้สามารถปั้นแผนธุรกิจที่นำเทคโนโลยีไอบีเอ็ม วัตสัน ไปต่อยอดธุรกิจได้อย่างก้าวกระโดด มากกว่าการพัฒนาโซลูชั่นที่มีความสมบูรณ์แบบเชิงไอทีแต่ไม่สามารถเติบโตต่อได้ในมุมธุรกิจ
การแข่งขันครั้งนี้ยังเป็นการแสดงความพร้อมในการผลักดันค็อกนิทิฟในไทยเต็มตัว โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญจากไอบีเอ็ม วัตสัน และไอบีเอ็ม ประเทศไทย รวมถึงดิจิทัล เวนเจอร์ส ศศินทร์ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) และเอ็มเฟค ซึ่งเป็นพันธมิตรในกิจกรรมครั้งนี้ ร่วมให้คำปรึกษาแก่ทุกทีมตั้งแต่วันแรกที่ได้รับเลือกเข้าร่วมการแข่งขัน โดยรวมแต่ละทีมจะมีโค้ช 3-5 คน เพื่อแนะนำมุมมองรอบด้านตลอดระยะเวลาร่วมเดือน ทั้งในมุมเทคโนโลยีค็อกนิทิฟ ฟินเทค ไอที และศักยภาพในเชิงธุรกิจ โดยการแข่งขันจะมีขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม
"หนึ่งในภารกิจของดิจิทัล เวนเจอร์ส คือการมีส่วนช่วยผลักดันสตาร์ทอัพไทยที่เกี่ยวข้องกับ financial technology ในรูปแบบต่างๆ ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้สนับสนุนสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค ของไทยให้เกิดขึ้น" นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าว "การประกวดแผนธุรกิจไอบีเอ็ม วัตสัน ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้เราได้สนับสนุนภาคการศึกษาของไทย โดยทางดิจิทัล เวนเจอร์ส ยินดีที่จะเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ กับทุกทีม และมอบแพคเกจเดินทาง-ที่พักเพื่อให้ทีมที่ได้รับคัดเลือกไปต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงการร่วมลงทุนในธุรกิจนั้นอีก 1 ล้านบาทในรูปแบบของ Venture Capital"
นอกจากนี้ ทีมชนะเลิศยังจะได้รับการพิจารณาเข้าร่วมแข่งขันในไอบีเอ็ม อาเซียน สมาร์ทแคมป์ พร้อมร่วมเปิดมุมมองธุรกิจและเทคโนโลยี รวมถึงแสวงหาโอกาสการต่อยอดธุรกิจเพิ่มเติมที่ 'มหกรรมลอนช์' ซึ่งเป็นงานสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นทุกปีที่ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit