นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภาพรวมผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ปี 2559 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 24,879 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 23,746 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 จากไตรมาสแรกที่มีกำไรสุทธิ 23,669 ล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมงวดครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 48,548 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 46,330 ล้านบาท สาเหตุหลักจากราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ปรับเพิ่มขึ้นประกอบกับต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่ทยอยปรับลดลงตามราคาน้ำมันที่ลด
ทั้งนี้ ในไตรมาสสองของปีนี้ ปตท.ได้ทบทวนแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปรับลดแผนการลงทุนปี 2559 จาก 50,839 ล้านบาท ซึ่งตั้งไว้เมื่อราคาน้ำมันอยู่ที่ 54 เหรียญดอลล่าสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลงเหลือ 43,307 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันปรับลดลงมาที่ระดับ 40 เหรียญดอลล่าสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยลดการลงทุนที่ไม่คุ้มทุนในสภาวะราคาน้ำมันตกต่ำ แต่ในระยะต่อไป ปตท. ได้เพิ่มเติมแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ท่าและคลังแอลเอ็นจี และ ระบบท่อส่งก๊าซฯและน้ำมัน เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ทำให้แผนลงทุน 5 ปี (2559 – 2563) ปตท. มีวงเงินเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 300,000 ล้านบาท
นายเทวินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานในอนาคตนั้น กลุ่ม ปตท.ได้กำหนดยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย การดำเนินการที่ทำทันที (Do Now) โอกาสการลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ (Decide Now)และ การแสวงหาธุรกิจใหม่เพื่อความยั่งยืน (Shape Now)
กลยุทธ์ที่กลุ่ม ปตท.สามารถดำเนินการได้ทันที คือ การเพิ่มประสิทธิภาพและบริหารค่าใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการทบทวนค่าใช้จ่ายหรืองบลงทุนดังกล่าวนั้นมิใช่จะต้องเป็นการลดค่าใช้จ่ายเสมอไป แต่ให้ความสำคัญกับการใช้เม็ดเงินหรือทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด (Productivity Improvement Program)ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งในด้านการสร้างรายได้ การลดต้นทุน และการปรับโครงสร้างธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น
สำหรับโอกาสการลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจนั้น กลุ่ม ปตท.ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศได้แก่ ระบบท่อ คลังก๊าซฯและน้ำมัน ขยายธุรกิจที่มีความเชียวชาญสู่ต่างประเทศ เช่นขยายธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกโดยใช้รูปแบบ Life Station เป็นต้นแบบ ไปสู่ภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้การลงทุนในสายโซ่อุปทานของแอลเอ็นจี ที่คาดว่าประเทศไทยจะมีการนำเข้าแอลเอ็นจีมากขึ้นในอนาคต เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ ปตท. ให้ความสนใจ โดยจะร่วมศึกษากับ ปตท.สผ.ผลิตแอลเอ็นจีจากแหล่งปิโตรเลียมต่างประเทศ
ปตท.ยังพิจารณารูปแบบการลงทุนที่เสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน เช่นการหาพันธมิตรร่วมพัฒนาธุรกิจโรงแรมราคาประหยัด (Budget Hotel) และธุรกิจร้านคาเฟ่ อเมซอนที่ประสบความสำเร็จในประเทศก็ได้เริ่มขยายตลาดในลักษณะขายเฟรนไชส์ในประเทศกัมพูชา และมีแผนขยายต่อไปยังประเทศฟิลิปปินส์ พม่า ญี่ปุ่น และโอมาน ในอนาคต เพื่อผลักดันแบรนด์ไทยก้าวสู่การเป็น Global Brand ต่อไป โดยตั้งเป้าเปิดร้านคาเฟ่อเมซอนในประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนรวม 400 แห่ง ในปี 2563
นายเทวินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับการแสวงหาธุรกิจใหม่เพื่อความยั่งยืนนั้น กลุ่ม ปตท.จะพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ ให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับแนวโน้มของสังคมโลก พฤติกรรมการใช้พลังงานในอนาคต และทันตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยคำนึงถึงกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพื่ออนาคต เช่น นโยบาย 5+5 คลัสเตอร์ของรัฐบาล โดยจัดตั้งหน่วยงาน ExpresSo (Express Solution) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการวิเคราะห์ คัดเลือกแนวคิดธุรกิจใหม่ๆ จัดทำเป็นโมเดลธุรกิจต้นแบบ ซึ่งหากมีความเป็นไปได้ก็จะนำมาต่อยอดขยายผลสู่การดำเนินการเชิงพาณิชย์ต่อไป ในด้านสังคม ปตท. มีแนวทางยกระดับการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR)ให้มีความยั่งยืนขึ้นโดยการสนับสนุนจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) แสวงหาการลงทุนที่สามารถเลี้ยงตนเองได้โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา เช่น โครงการปลูกไม้เมืองหนาวเพื่อช่วยพัฒนาวิถีเกษตรกร โครงการโรงไฟฟ้าขยะ และโครงการจัดหาเมล็ดกาแฟจากชุมชนสำหรับร้านคาเฟ่ อเมซอน เป็นต้น
ปตท. มีความเชื่อมั่นว่า ยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างความเข็มแข็งและการเติบโตให้กับกลุ่ม ปตท. และสังคมไทยควบคู่กันอย่างยั่งยืนต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit