นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์และประมาณการภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาสที่ 2 (เดือนเมษายน – มิถุนายน) ของปี 2559 พบว่า การเติบโตของภาคเกษตร วัดจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 หดตัว 1.3% เมื่อเทียบกับ ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 โดย สาขาพืช หดตัว 2.5% เนื่องจากได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากภัยแล้ง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ปี 2559 ซึ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตได้รวม 1.8 ล้านตัน ลดลง 24% เมื่อเทียบกับข้าวนาปรัง ปี 2558 ที่มีผลผลิต 2.4 ล้านตัน และผลไม้ (ทุเรียน เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย) ซึ่งผลผลิตลดลง จากสภาพอากาศแปรปรวนและภัยแล้ง ทำให้ผลไม้มีผลผลิตเป็น 397,000 ตัน หรือลดลง 40% เมื่อเทียบกับผลผลิตปี 2558 รวม 560,000 ตัน รวมทั้งผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลง 22% (ไตรมาส 2 ปี 2559 ผลผลิตเป็น 3.2 ล้านตัน จากเดิม 4.1 ล้านตัน หรือลดลง 0.9 ล้านตัน)
สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยเฉพาะไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น 4.8 6.6 8.4 และ 2.1% ตามลำดับ ตามความต้องการของตลาด แม้จะประสบอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งบ้าง แต่การเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นฟาร์มมาตรฐานระบบปิด และเกษตรกร ภาคเอกชน มีการจัดการคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดี
สาขาประมง หดตัว 0.9% เป็นผลมาจากผลผลิตประมงทะเลลดลง โดยปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ลดลงร้อยละ 12.7 แต่ผลผลิตกุ้งเพาะเลี้ยง เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 เนื่องจากมีระบบมาตรฐานการจัดการที่ดีในกระบวนการผลิตและตรวจสอบย้อนกลับ และการจัดการปัญหาโรคกุ้งตายด่วนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สาขาบริการทางการเกษตร หดตัว 1.4% โดยการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และเกี่ยวนวดข้าวลดลง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลง จากปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้อย
ส่วนสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากไม้ยางพารา และไม้ยูคาลิปตัส เพิ่มขึ้น โดยการขยายตัวของไม้ยางพารามีปัจจัยสนับสนุนมาจากการขยายเป้าหมายพื้นที่ตัดโค่นสวนยางพาราเก่าของ กยท. ประกอบกับไม้ยางพาราเป็นที่ต้องการของตลาดจีนอย่างมาก ขณะที่ตลาดเกาหลี จีน ไต้หวัน และ ญี่ปุ่น มีความต้องการไม้ยูคาลิปตัสสูงมาก
หากมองถึงรายได้เกษตรกรในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 พบว่า เพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากราคาผลิตผลเกษตรสำคัญที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ราคา 8,100 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบกับราคาข้าวเปลือกช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 7,600 บาทต่อตัน สำหรับผลไม้ (ทุเรียน ลำไย เงาะ) ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 47.7 43.1 และ 24.5% ตามลำดับ ราคาปาล์มน้ำมัน และสับปะรด เพิ่มขึ้น 42.3 และ 4.7% ตามลำดับ โดยปาล์มน้ำมันราคาเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมราคา 3.7 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากผลผลิตลดลง แต่ความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น อีกทั้งการกำหนดมาตรฐานการซื้อขายที่เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เช่น ความต้องการข้าวต้นฤดูเพิ่มขึ้นเพื่อส่งออกเป็นข้าวนึ่งไปยังตลาดแอฟริกา การซื้อขายปาล์มน้ำมันตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน การควบคุมคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ได้แก่ ไม่ตัดทุเรียนอ่อน เป็นต้น นอกจากนี้ ราคาสินค้าปศุสัตว์และสินค้าประมงยังปรับเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับสถานการณ์ผลผลิตสินค้าข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่า ผลผลิตข้าวของไทยในรอบ 5 เดือน (มีนาคม – กรกฎาคม 2559) อยู่ที่ 3.29 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 4.66ล้านตันข้าวเปลือก หรือลดลง 29.40% ส่วนผลผลิตข้าวของเวียดนามในรอบ 5 เดือน (มีนาคม – กรกฎาคม 2559) อยู่ที่ 19.50ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 20.69 ล้านตันข้าวเปลือก หรือลดลง 5.75% จะเห็นได้ว่า ผลผลิตข้าวของไทยและเวียดนาม มีทิศทางลดลงเช่นเดียวกัน
ผลผลิตยางพารา (ยางแห้ง) ของไทยในไตรมาสที่ 2/2559 อยู่ที่ 0.667 ล้านตัน ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2558 ซึ่งอยู่ที่ 0.699 ล้านตัน หรือลดลง 4.61% ส่วนผลผลิตยางพารา (ยางแห้ง) ของอินโดนีเซียในไตรมาสที่ 2/2559 อยู่ที่ 0.836 ล้านตัน ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2558 ซึ่งอยู่ที่ 0.841 ล้านตัน หรือลดลง 0.59% และผลผลิตยางพารา (ยางแห้ง) ของเวียดนามในไตรมาสที่ 2/2559 อยู่ที่ 0.215 ล้านตัน คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2558
ด้านปาล์มน้ำมันของไทยในไตรมาสที่ 2/2559 อยู่ที่ 3.16 ล้านตัน ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2558 ซึ่งอยู่ที่ 4.06ล้านตัน หรือลดลง 22.12% เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง ส่วนปาล์มน้ำมันของมาเลเซียในไตรมาสที่ 2/2559 อยู่ที่ 21.16 ล้านตัน ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2558 ซึ่งอยู่ที่ 26.10 ล้านตัน หรือลดลง 18.93% เนื่องจากประสบภัยแล้งเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ จะเห็นว่าตลอดช่วงเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดภาวะความแห้งแล้ง กระทบต่อการผลิตการเกษตรของเกษตรกรในช่วงปี 2558 จนถึงไตรมาสที่ 2 ปี 2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักดูแลเกษตรกรและการเกษตรของประเทศ ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและภาคเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้ง โดยบูรณาการกับหน่วยงานอื่น 13 หน่วยงาน/กระทรวง รวม 8 มาตรการช่วยเหลือ 45 โครงการ
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินมาตรการและโครงการขับเคลื่อนการเกษตรเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันตามเป้าหมายของประเทศไปสู่ความ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ตามแนวทางประชารัฐ ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ใน 6 โครงการสำคัญ คือ 1) นโยบายลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร 2) โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก. 882 ศูนย์) 3) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เป้าหมาย 650 แปลงตามแนวทางประชารัฐและเกษตรสมัยใหม่ 4) โครงการเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ยโสธรโมเดลเป็นต้นแบบ 5) โครงการธนาคารสินค้าเกษตร เช่น ธนาคารโค-กระบือ ธนาคารข้าว ธนาคารเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น และ 6) โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรโดยการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่ Agri-Map และในปี 2559 – 2560 จะนำแผนที่Agri-Map ใช้เป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสม กับสินค้าที่มีความสำคัญของจังหวัดไปเป็นกิจกรรมอื่น ที่เอกชน/ผู้ประกอบการในจังหวัดหรือในภูมิภาคมีความต้องการ ซึ่งได้ดำเนินการใช้แผนที่ Agri-Map ปรับเปลี่ยนกิจกรรมใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และอุทัยธานี และปี 2560 จะกระจายไปอย่างน้อย 2-3 จังหวัดในแต่ละภาค เพื่อขยายผลการใช้แผนที่ Agri-Map ร่วมกับ Single Command และผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละพื้นที่ต่อไป
อัตราการเติบโตของภาคเกษตร
หน่วย: ร้อยละ
สาขา
ไตรมาสที่ 2/2559 (เม.ย. – มิ.ย.)
ภาคเกษตร
-1.3
พืช
-2.5
ปศุสัตว์
3.1
ประมง
-0.9
บริการทางการเกษตร
-1.4
ป่าไม้
2.1 ที่มา: กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit