เสริมศักยภาพบุคลากรสโมสรฟุตบอลชั้นนำไทย ป้องกันวิกฤตนักฟุตบอลเสียชีวิตกลางสนาม โดยการอบรม “FIFA Football Emergency Medicine Course” ครั้งแรกในอาเซียน

11 Mar 2016
สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ โรงพยาบาลกรุงเทพ และบริษัท โซล เมดิคอล คอปอเรชั่น (Zoll Medical Corporation) เป็นเจ้าภาพ จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านเวชศาสตร์การกีฬาในภาวะฉุกเฉินของกีฬาฟุตบอล "FIFA Football Emergency Medicine Course" ครั้งแรกในเอเชีย เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรจาก 38 สโมสรฟุตบอลชั้นนำของประเทศไทย เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างการแข่งขันฟุตบอลรวมไปถึงการป้องกันการบาดเจ็บและการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยบริเวณสนามแข่งขัน
เสริมศักยภาพบุคลากรสโมสรฟุตบอลชั้นนำไทย ป้องกันวิกฤตนักฟุตบอลเสียชีวิตกลางสนาม โดยการอบรม “FIFA Football Emergency Medicine Course” ครั้งแรกในอาเซียน

นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นายแพทย์ไพศาล จันทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสโรงพยาบาลกรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ และประธานฝ่ายแพทย์ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า โรงพยาบาลกรุงเทพมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดการฝึกอบรมครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และในระดับอาเซียน ร่วมกับ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท โซล เมดิคอล คอปอเรชั่น (Zoll Medical Corporation) ภายใต้การสนับสนุนของ FIFA ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของวงการฟุตบอลบ้านเรา ที่กำลังประสบความสำเร็จอย่างสูงในขณะนี้ สำหรับที่มาและวัตถุประสงค์การของการอบรมระยะสั้น 2 วันในครั้งนี้ เกิดจากการที่ผ่านมาวงการกีฬาฟุตบอลมักมีอุบัติเหตุต่างๆ เกิดขึ้นกับนักฟุตบอลบ่อยครั้งในเกมการแข่งขัน ที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเล็กน้อยทั้งในระหว่างการแข่งขัน หรืออาจมีผลตามมาหลังจากแมตท์ฟุตบอลนั้นๆ ทำให้นักฟุตบอลบาดเจ็บจนต้องพักยาว หรือแม้กระทั่งหลายๆ ครั้ง นักฟุตบอลมีการล้มฟุบลงคาสนามกะทันหันจาก "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ดังนั้นการเข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยกู้ชีวิตของนักกีฬาได้ การจัดฝึกสัมมนาเชิงปฏิบัติการการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานในสนามกีฬา จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการช่วยส่งเสริมให้บุคลากรทางด้านกีฬาฟุตบอล ซึ่งเราได้เชิญ 38 สโมสรฟุตบอลชั้นแนวหน้าของเมืองไทย นำร่องเรียนรู้เทคนิคและสามารถนำความรู้ไปปรับใช้เป็นแนวทางเตรียมพร้อมรับมือ หากเกิดภาวะวิกฤตในสนามขึ้นจริง ซึ่ง FIFA ต้องการให้นักฟุตบอล ตลอดจนหัวหน้าทีมฟุตบอล แพทย์ประจำทีมฟุตบอล โค้ชผู้ฝึกสอน และนักกายภาพ มีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพทั้งการรักษาและการป้องกัน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ความรู้ให้การปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและอยู่ในมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก เมื่อเกิดการบาดเจ็บขึ้นต้องรักษาอย่างไร และฟื้นตัวกลับมาเล่นกีฬาให้เร็วที่สุด โดยไม่เป็นอันตรายหรือบาดเจ็บเพิ่มเติมเพื่อให้มีความฟิตเล่นต่อไปได้อีก

Prof. Efraim B. Kramer วิทยากรจาก FIFA ผู้มีประสบการณ์กว่า 30 ปี ในด้านเวชศาสตร์การกีฬาในภาวะฉุกเฉิน และมีส่วนร่วมกับ FIFA ขับเคลื่อนในการพัฒนาการฝึกอบรมการกู้ชีพฉุกเฉินสำหรับนักฟุตบอล กล่าวว่า สำหรับการอบรมในครั้งนี้เราได้แบ่งเป็น 2 ภาค ได้แก่ ภาคทฤษฎีว่าด้วยการพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินและวิกฤตอันเกิดจากสาเหตุ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โรคภูมิแพ้เฉียบพลัน ภาวะการหดตัวของหลอดลมเฉียบพลันในระหว่างออกกำลังกาย อาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคที่เกิดจากความร้อนเช่นโรคลมแดด ฮีตสโตรก การบาดเจ็บที่คอและหลัง โรคลมชัก ภาวะเกลือโซเดี่ยมในเลือดต่ำ และภาคการฝึกทักษะการปฏิบัติการกู้ชีพขั้นพื้นฐานรวมไปถึงขั้นตอนการช่วยเหลือเบื้องต้นพร้อมการปฏิบัติการ เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจทางโพรงจมูก การใส่ท่อช่วยหายใจผ่านทางช่องปาก (LMA) การปั๊มหัวใจ การทำ CPR การเข้าเฝือกอ่อนสำหรับกรณีบาดเจ็บที่แขนและข้อศอก การใช้เปลสนามในการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บที่ถูกต้อง การใช้เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ Automated External Defibrillator (AED) ซึ่งเป็นเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดพกพานั้นได้เพิ่มขีดความสามารถ ให้ง่ายต่อการใช้งานและทรงประสิทธิภาพ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยในระหว่างการช่วยชีวิต ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการปฐมพยาบาลขั้นต้นอย่างเร่งด่วนในสถานที่เกิดเหตุ โดยการปั้มหัวใจ และใช้เครื่อง AED กระตุ้นการเต้นของหัวใจให้ฟื้นกลับคืนมา กลไกการทำงานของเครื่อง AED ได้รับการออกแบบให้ปล่อยกระแสไฟฟ้าจากภายนอกร่างกาย โดยจะวินิจฉัยการเต้นของหัวใจ หากพบภาวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติชนิดที่เป็นอันตราย เครื่องจะปล่อยกระแสไฟฟ้ากระตุ้นให้หัวใจกลับมาทำงานตามปกติที่เรียกว่า "Defibrillation" พร้อมกันนั้นเครื่องจะบันทึกข้อมูลรายละเอียดการเต้นของหัวใจตั้งแต่เครื่องเริ่มทำงานเมื่อรถพยาบาลมาถึงทีมเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษหรือแพทย์สามารถเรียกข้อมูลดูได้ทันที

ด้าน มร.คริสโตเฟอร์ บาร์นาบัส ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท Zoll Medical Corporation กล่าวเสริมว่า บริษัท Zoll Medical Corporation ในฐานะผู้นำทางด้านการผลิตและส่งออกเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ Automated External Defibrillator (AED) ที่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์สนามของฟีฟ่าและเอเอฟซี ซึ่งเครื่อง AED เหล่านี้จะต้องพร้อมใช้งานได้ในทุกเกมการแข่งขันฟุตบอล ตามข้อตกลงของทางฟีฟ่าและเอเอฟซี โดย บริษัท ZOLL มีความมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่อง AED สำหรับช่วยเหลือนักฟุตบอลที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันให้มีมาตรฐานสูง ตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจงตามเงื่อนไขการกู้ชีพฉุกเฉิน

โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70

HTML::image( HTML::image(