สสส.จับมือท้องถิ่นวังสะพุง ดึงตั้งสภาชุมชนร่วมคิดร่วมทำ แก้ปัญหาขยะล้นเมือง ส่งผลบ้านสะอาดปราศจากขยะ

16 Mar 2016
ทึ่ง! พบเมืองวังสะพุงปลอดถังขยะ หน้าบ้านสวย ปลูกผักไร้สารด้วยปุ๋ยไส้เดือนดินจากขยะ นายกฯวังสะพุงเผยการมีส่วนร่วมของชุมชนคือกุญแจสำคัญของความสำเร็จ
สสส.จับมือท้องถิ่นวังสะพุง ดึงตั้งสภาชุมชนร่วมคิดร่วมทำ แก้ปัญหาขยะล้นเมือง ส่งผลบ้านสะอาดปราศจากขยะ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเทศบาลเมืองวังสะพุง จังหวัดเลย ดำเนินโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ หนุน 4 ชุมชน ประกอบไปด้วยชุมชนวังสะพุง 1,2 จอมมณี 1,2 เขตเทศบาลเมืองวังสะพุง จังหวัดเลย ดึงประชาชนร่วมแก้สิ่งแวดล้อม ลดขยะจนไม่เหลือถัง ตั้งธนาคารรับซื้อ ขยะอินทรีย์นำมาเลี้ยงไส้เดือนดินปลูกผักไร้สารรับประทานทานเอง พร้อมอวดหน้าบ้าน-หลังบ้านสวย น่าอยู่

นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล นายกเทศมนตรีเมืองวังสะพุง กล่าวว่า ที่อำเภอวังสะพุงไม่มีที่ทิ้งขยะเป็นของตัวเอง ต้องนำไปทิ้งที่เทศบาลเมืองเลย ซึ่งอยู่ห่างจากที่นี่ไปกลับถึง 80 กิโลเมตร ทำให้ใช้งบประมาณในเรื่องการจัดการขยะค่อนข้างสูงและภารกิจการจัดการขยะทั้งหมดเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทางเทศบาลฯ การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด จึงคิดโครงการหน้าบ้านน่ามองขึ้นมาริเริ่มการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน ตั้งแต่ปี 2552 พอมาปีนี้ 2556 ก็ทำงานควบคู่กันกับ 4 ชุมชนที่ขอรับการสนับสนุนทุนจากโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำรูปแบบการตั้งคณะกรรมการสภาผู้นำชุมชน ในแต่ละชุมชนมีจำนวนกว่า 30 คน เพื่อดึงสมาชิกในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานทุกขั้นตอน

นางดรุณี มาลี ประธานชุมชนวังสะพุง 1 กล่าวว่าชุมชนวังสะพุง 1 ชุมชนเมืองขนาดเล็ก 85 ครัวเรือน เดิมมีปัญหาขยะหมักหมม ล้นถัง การปล่อยน้ำเสียลงหน้าบ้าน แก้ไขปัญหาผ่านคณะกรรมการสภาผู้นำชุมชนเริ่มจากการทำความสะอาดหน้าบ้าน-หลังบ้าน ถนน สถานที่สาธารณะช่วยกันทุกวัน กำหนดกติกาการจัดการขยะที่ทุกครัวเรือนต้องปฏิบัติตาม คือ การคัดแยะขยะครัวเรือน ลดปริมาณขยะ และนำขยะรีไซเคิลไปใช้ประโยชน์ซ้ำ

นางสาววีรพรรณ ลาวัลย์ ประธานชุมชนวังสะพุง 2 กล่าวว่าจำนวนกว่า 30 % ของคนในชุมชนนี้มีอาชีพปลูกผักริมแม่น้ำเลยขาย มีปัญหาเรื่องสารเคมีทางการเกษตร เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่ม ขณะเดียวกันคนในชุมชนบางส่วนที่ไม่ได้ปลูกผักก็ซื้อจากตลาดสดในชุมชนบริโภค คณะกรรมการสภาผู้นำชุมชนกว่า 30 คน จึงคิดแก้ไขปัญหาผ่านโครงการการปลูกผักสวนครัว รั้วกินได้ ไร้สารพิษ ใช้พื้นที่หน้าบ้านและพื้นที่สาธารณะ ปลูกผักทานเองกว่า 20 ชนิด ส่วนที่เหลือนำมาแบ่งปันกันในชุมชน ส่งผลให้พื้นที่หน้าบ้านเป็นลานกิจกรรมที่ดึงคนออกจากบ้าน มาช่วยกันปลูกผัก รดน้ำผักในทุกเช้าเย็น เกิดการพูดคุยนำมาซึ่งความรัก ความสามัคคี และการแบ่งปันผักกัน ที่สำคัญทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพดีมากขึ้นด้วย

นายชาญยุทธ์ ปทุมานนท์ คณะกรรมการชุมชนจอมมณี 1 กล่าวว่าในชุมชนมีปัญหาขยะเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะทิ้งขยะไม่เป็นที่ โดยทิ้งตามไหล่ทาง มุมถนนจนเกิดความสกปรก จากการสำรวจปริมาณขยะต่อวันเฉลี่ยเพียง 600 กิโลกรัมและส่วนใหญ่ร้อยละ 40 ที่ถูกทิ้งเรี่ยราด เป็นขยะย่อยสลายจากเศษอาหารในครัวเรือน จึงได้นำมาเลี้ยงไส้เดือนดินสายพันธุ์ฮอลแลนด์ และสายพันธุ์แม่โจ้ เพื่อย่อยสลายขยะให้เป็นน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน จำหน่ายขวดละ 10 บาทให้แก่ชุมชนรอบข้างที่ปลูกผักหน้าบ้าน ส่วนสายพันธุ์ไส้เดือนดิน จำหน่ายราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 600 บาท ปัจจุบันมีการเลี้ยงไส้เดือนดินกว่า 10 บ่อ

ด้านนางนารีรัตน์ สีหาราช คณะกรรมการสภาชุมชนจอมมณี 2 กล่าวว่าชุมชนมีปัญหาไม่แตกต่างจากชุมชนอื่น โดยเฉพาะเรื่องการจัดการขยะ การแก้ไขปัญหามุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้เพื่อคัดแยกขยะ การส่งเสริมการแปรรูปขยะ เช่น ถุงผ้าจากขยะรีไซเคิล ที่สมาชิกในชุมชนกว่า 50 ครัวเรือน ถือไปจ่ายตลาดเป็นประจำ การจัดการขยะผ่านการตั้งธนาคารขยะชุนชนเปิดรับซื้อเดือนละ 1 ครั้ง ทำให้มีปริมาณขยะเหลือให้รถเทศบาลเก็บเพียง 140 กิโลกรัมต่อวัน จากเดิมสูงถึง 500 กิโลกรัม เป็นต้น

นายเดชา จำปาภา ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองวังสะพุง กล่าวว่าการทำงานของทางเทศบาลเมืองวังสะพุงเน้นที่การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ได้รับทุนสนับสนุนจากสสส.ซึ่งมีกระบวนการหนุนเสริมเรื่องการสร้างสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เมื่อมาทำงานควบคู่กันกันอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับความร่วมมือชาวบ้านทุกคน ซึ่งปัจจุบัน ทั้ง 4 ชุมชน เป็นชุมชนที่ไม่มีถังขยะวางหน้าบ้านเลย

ปัจจุบันทั้ง 4 ชุมชน กลายเป็นต้นแบบการสร้างวินัยคนเมือง ให้รักความสะอาด จัดการสิ่งแวดล้อมอย่างถูกวิธี คนในชุมชนมีความรักความสามัคคี อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขท่ามกลางชุมชนที่สะอาดและสวยงาม เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเกิดเป็นต้นแบบหรือแหล่งศึกษาดูงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้เดือนละกว่า 20 คณะ

คนึงนุช วงศ์เย็น มูลนิธิสื่อสร้างสุข