ด้วยในปัจจุบันพบว่า ผู้บริโภคในประเทศส่วนหนึ่งนิยมสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศโดยผ่านช่องทางของผู้ให้บริการจัดซื้อสินค้าทางออนไลน์ หรือที่เรียกกันว่า การสั่งซื้อสินค้าแบบ Pre-order โดยผู้บริโภคจะเข้าไปเลือกซื้อสินค้าที่วางขายในตลาดออนไลน์ ชำระค่าสินค้า จากนั้นผู้ให้บริการในต่างประเทศจะรวบรวมสินค้าที่ถูกสั่งซื้อดังกล่าวจัดส่งให้ถึงมือลูกค้าในประเทศปลายทาง โดยคิดค่าบริการในอัตราที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับน้ำหนักหรือขนาดของบรรจุภัณฑ์ ทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้ารวดเร็วยิ่งขึ้น เสียค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อและค่าขนส่งที่ถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อสินค้าที่วางขายในห้างร้านทั่วไป ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้ว ผู้บริโภคไม่ทราบว่าสินค้านำเข้าที่สั่งซื้อมานั้น หรือไม่ผ่านพิธีการศุลกากรและชำระค่าภาษีอากร อย่างถูกต้องและครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานที่ควบคุม กำกับดูแลการนำเข้า การส่งออก และ/หรือการนำผ่านประเทศ ได้ตระหนักและทราบดีถึงปัญหาการนำเข้าสินค้าดังกล่าว เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐในการจัดเก็บภาษีอากรอย่างถูกต้องเป็นธรรม นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร จึงได้สั่งการให้นายจำเริญ โพธิยอด รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการที่ปรึกษาฯ กรมศุลกากร วางแผนร่วมกับ นายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง โดยมอบหมายให้นายวิศณุ วัชราวนิช ผู้อำนวยการส่วนควบคุมทางศุลกากร และนายอภิชาติ ใจงาม หัวหน้าฝ่ายสืบสวนและปราบปราม สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ดำเนินการวางแผนจับกุม
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 บริษัท เค.เอส.อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด และบริษัท เอสดับบลิวเอ. ชิปปิ้ง จำกัด ได้นำสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข OOLU 9024510 และหมายเลข HDMU6988097 ตามลำดับ จากประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาประเทศไทยทางท่าเรือแหลมฉบัง โดยแต่ละบริษัทฯ จัดทำใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ A011 05904 12770 สำแดงสินค้าจำนวน 1 รายการ เป็น "สื่อการเรียนสำหรับเด็ก" ประเทศกำเนิดสหรัฐอเมริกาจำนวน 1,250 C62 ราคาสินค้า 878,740 บาท ชำระภาษีอากรทั้งสิ้น 61,511 บาท และเลขที่ A012 05904 04399 สำแดงสินค้า 2 รายการ รายการที่ 1 เป็น "ของใช้ในครัวเรือนเก่าใช้แล้ว" และรายการที่ 2 เป็น "เฟอร์นิเจอร์เก่าใช้แล้ว" ประเทศกำเนิดสหรัฐอเมริกา จำนวน 42 PK น้ำหนักรวม 10.88 ตัน ราคาของ 382,638.55 บาท ชำระภาษีอากรขาเข้าทั้งสิ้น 108,668 บาท
ผลการตรวจสอบสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์พบสินค้ามิได้สำแดงอีกจำนวนมาก ประกอบด้วยสินค้าทั่วไปที่ต้องชำระค่าภาษีอากร อาทิ เครื่องเสียง, จักรยานชนิดต่างๆ, กระเป๋า, รองเท้า เป็นต้น และของต้องกำกัดตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร อาทิ เครื่องสำอาง, ผลิตภัณฑ์ สำหรับเด็ก,ขวดนม อาหารเสริม, เครื่องปั๊มน้ำนม,ของเล่นประเภทตัวต่อ (LEGO), เกมส์ประเภทต่าง ๆ รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,500 หีบห่อ มูลค่ารวมประมาณ 6.8 ล้านบาท
กรณีดังกล่าวเป็นความผิดฐานสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงนำของต้องกำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามมาตรา 99, 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบมาตรา 16,17 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482, พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522, พ.ร.บ. เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551, พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
และเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ตรวจสอบใบขนสินค้าขาเข้า เลขที่ A025 05904 07217 รายบริษัท สตาร์ไลท์ เซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด สำแดงสินค้าจำนวน 2 รายการ รายการที่ 1 และ 2 เป็น "ส่วนประกอบพัดลม" เมืองกำเนิดประเทศจีน จำนวน 1,266 Cartons น้ำหนักรวม 19,922 กิโลกรัม ชำระภาษีอากรทั้งสิ้น 127,173 บาท ผลการตรวจพบชนิดสินค้าและจำนวนตรงตามสำแดง แต่ที่ด้านหลังของตัวสินค้ามีข้อความแสดงว่า "ผลิตที่ประเทศไทย" อันเป็นการสำแดงที่ทำให้ผู้บริโภคสำคัญผิดในประเทศผู้ผลิตสินค้า ถือเป็นความผิดฐานสำแดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จ ตามมาตรา 5, 6 ของ พ.ร.บ. ห้ามนำของที่มีการแสดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พ.ศ. 2481 ประกอบกับมาตรา 99, 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 และมาตรา 16,17 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1.8 ล้านบาท ทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้น เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ยึดของกลางไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กรมศุลกากร ใคร่ขอประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารมา ณ ที่นี้ว่า การสั่งซื้อและ/หรือนำพาของเข้าในราชอาณาจักร จะต้องสำแดงรายละเอียดแห่งของนั้นแก่ศุลกากรอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ตามช่องทางที่กำหนด และต้องชำระค่าภาษีอากรครบถ้วน โดยให้ปฏิบัติตามประกาศกรมศุลกากรที่ 118/2556 เรื่อง พิธีการศุลกากรสำหรับการนำของเข้าและการส่งออกทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ซึ่งผู้สั่งสินค้ามั่นใจได้ว่าจะได้รับสินค้าอย่างแน่นอน และยังเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายและศีลธรรมอันดี มิก่อให้เกิดการลักลอบหรือหลีกเลี่ยงหนีศุลกากร และขออย่าหลงเชื่อคำแอบอ้างของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ ว่าสามารถนำของออกจากอารักขาของศุลกากรได้โดยไม่ต้องจ่าย ค่าภาษี หรือสามารถเจรจากับเจ้าหน้าที่ศุลกากรให้ตรวจปล่อยสินค้าโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายได้
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit