กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งได้ติดตามและวิเคราะห์ความ ตกลงดังกล่าวในประเด็นสำคัญต่างๆ มีความเห็นว่า ประเทศไทยไม่ควรเข้าร่วมในความตกลงนี้ หรือ อย่างน้อยที่สุดต้องไม่รีบเร่งเข้าเป็นภาคี ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. การยอมรับความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้การคุ้มครองผู้ประกอบการมากไปกว่าความตกลงทาง การค้าโลก ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ตรงที่ต้องแก้กฏหมายที่มีอยู่หรือไม่ แต่จะส่งกระทบทางลบต่อประเทศไทยอย่างกว้างขวาง เช่น การขยายอายุสิทธิบัตรยา และการคุ้มครองข้อมูลยาจะส่งผลให้ยามีราคาแพงคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาท/ปี ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน ค่าใช้จ่ายของรัฐเกี่ยวกับบริการด้านสาธารณสุขจะสูงขึ้นอย่างมหาศาล และทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศในที่สุดการขยายสิทธิบัตรพืชและการผลักดันให้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 จะทำให้เกษตรกรต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น 2-6 เท่า และเปิดช่องให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรชีวภาพคิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมกันอย่างต่ำ 100,000 ล้านบาท/ปี โดยที่การเก็บรักษาพันธุ์เพื่อปลูกต่อถือว่าเป็นความผิดทางอาญา
ส่วนขยายอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้ยาวนานออกไปจะส่งผลต่อการเข้าถึงความรู้ โดยผลประโยชน์อาจไม่ได้ตกอยู่กับศิลปินหรือผู้สร้างสรรค์งาน แต่จะไปอยู่กับบริษัทจัดเก็บรายได้ เปิดช่องให้บริษัทเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต อีกทั้งการทำงานของสื่อมวลชนและนักวิจัยอาจเป็นความผิดฐานละเมิดความลับทางการค้า เป็นต้น
2. ความตกลงเกี่ยวกับการคุ้มครองนักลงทุน จะเปิดช่องให้นักลงทุนฟ้องร้องรัฐบาลได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐดำเนินการออกมาตรการเพื่อปกป้องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน เช่น จำกัดการใช้มาตรการของรัฐเกี่ยวกับการควบคุมยาสูบหรือเครื่องดื่มมึนเมา จำกัดการออกมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเนื่องจากการลงทุนทำเหมืองแร่ และโครงการขนาใหญ่ต่างๆ ฯลฯ ทั้งนี้โดย นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องรัฐผ่านกลไก "อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ" ซึ่งจากการศึกษาพบว่าอนุญาโตตุลาการที่ดำเนินการพิจารณาและตัดสินข้อพิพาทมักจะดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายหรืออยู่ในคณะกรรมการบริหารของบริษัทเอกชน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่อนุญาโตตุลาการจะทำหน้าที่ เอื้อประโยชน์หรือปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนมากกว่าที่จะพิจารณาข้อพิพาทอย่างอิสระและเป็นกลาง
3. สหรัฐอเมริกาจะใช้ความตกลงนี้ในการผลักดันให้ประเทศต่างๆต้องยอมรับพืชและผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs โดยที่ข้อกำหนดเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิเกษตรกร สิทธิผู้บริโภค มาตรการป้องกันไว้ก่อนเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และการใช้เหตุผลด้านเศรษฐกิจสังคม จะไม่สามารถใช้เพื่อยับยั้งการปลูกพืชและการติดฉลากผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมได้อีกต่อไป4. ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเข้าร่วมใน TPP ในกรณีการเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าเพราะการลดภาษีเหลือ 0% นั้น ไม่คุ้มค่ากับผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยได้ทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศในกลุ่ม TPP แล้วถึง 9 ประเทศ เหลือเพียงสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโกเท่านั้นที่ไทยยังไม่มีความตกลงทางการค้าด้วย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกไปยัง 3 ประเทศดังกล่าวเพียง 9% และมีสัดส่วนการลงทุนจากกลุ่มประเทศดังกล่าวเพียง 9.9% เท่านั้น
การที่กลุ่มประเทศดังกล่าวไม่ลดภาษีให้กับประเทศไทยไม่ได้หมายความว่าเราจะสูญเสียตลาดไปทั้งหมด ในทางตรงข้ามจะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรมสูงขึ้น ไม่ใช่แข่งขันที่ราคาแต่เป็นการแข่งขันสินค้าที่มีคุณภาพ อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
การพัฒนานวัตกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับยา และเทคโนโลยีชีวภาพนั้น ต้องอาศัยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสม ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จของอินเดีย และจีนที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมได้ โดยเลือกที่จะคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนาของประเทศของตน หาใช่การให้การคุ้มครองการผูกขาดสิทธิบัตรอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานของสหรัฐแต่อย่างใดไม่
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ขอเรียกร้องให้สังคมไทยร่วมกันกดดันมิให้รัฐบาลชั่วคราวตัดสินใจเข้าร่วมใน TPP โดยอ้างเหตุผลเกี่ยวกับผลประโยชน์ของบางสินค้าและบางอุตสาหกรรม โดยมิได้พิจารณาผลกระทบต่อประชาชน ฐานทรัพยากร และอธิปไตยของประเทศ
การเข้าร่วมในความตกลงระหว่างประเทศดังกล่าว ต้องดำเนินการโดยกระบวนการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกฝ่ายทุกกลุ่ม และผ่านการตัดสินใจโดยรัฐบาลและรัฐสภาที่มีที่มาจากประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริงเท่านั้นกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit