ภายหลังที่มีข่าวร่างพระราชบัญญัติเทคโนชีวภาพถูกส่งกลับไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา แวดวงเกษตร วิชาการ และอุตสาหกรรม ได้ร่วมกันจัดอภิปรายในวันนี้ เพื่อเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการร่างกฎหมาย ประโยชน์ของพืชเทคโนโลยีชีวภาพที่จะมีต่อประเทศไทย และแนวทางการทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในอนาคต
กิจกรรมครั้งนี้เป็นการส่งเสริมการพิจารณาให้เกิดกฎระเบียบที่เหมาะสมสำหรับการใช้ประโยชน์จากพืชจีเอ็ม และการร่างพระราชบัญญัติฯ อันจะนำมาซึ่งกรอบกฎหมายที่จำเป็น โดยนอกจากสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย มั่นคง ยั่งยืนแห่งชาติ (สกปช.) ที่สนับสนุนแนวทางของพืชเทคโนโลยีชีวภาพแล้ว ยังมีสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ตัวแทนจาก แวดวงวิชาการ วิทยาศาสตร์ และการเกษตร เข้าร่วม โดยสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพในการจัดการอภิปราย
"ในขณะที่พวกเราหลายคนผิดหวังกับเหตุพลิกผันที่เกิดขึ้นกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ เราก็ยังคงเชื่อมั่นในเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของท่านนายกรัฐมนตรีในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและรุ่งเรืองให้กับภาคเกษตรกรรมของประเทศ" นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าว
"เมื่อผู้บริหารรัฐบาลหยิบยกร่างพระราชบัญญัตินี้มาพิจารณาอีกครั้ง เราควรตั้งคำถามว่า เราจะเพาะปลูกพืชต่าง ๆ ในประเทศไทยด้วยวิถีที่คำนึงถึงความมั่นคงด้านอาหารและความยั่งยืนในอนาคตหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้ผ่านการเห็นชอบการปลูกข้าวโพดเทคโนโลยีชีวภาพเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ทำให้ประเทศเราสูญเสียรายได้คิดเป็นมูลค่าเกือบ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดมีการย้ายฐานไปประเทศอื่น ในขณะที่เวียดนามได้เริ่มปลูกข้าวโพดเทคโนโลยีชีวภาพแล้วในปีนี้ จึงคาดว่าเราอาจต้องสูญเสียรายได้ไปอีก 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 10 ปีข้างหน้า
หากไม่มีการกำหนดกรอบที่ชัดเจนในการอนุญาตให้มีการปลูกพืชเทคโนโลยีชีวภาพ และการคงอยู่ร่วมกันของเกษตรหลากหลายวิถี เมล็ดพันธุ์เทคโนโลยีชีวภาพอาจถูกลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฏหมาย เมื่อนั้นก็จะเกิดประเด็นปัญหาด้านกฎหมายที่ส่งผลเสียหาย ทำให้ไม่สามารถติดตามสาเหตุที่มาของปัญหา มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอุตสาหกรรมการเกษตรอินทรีย์ของเราด้วย"
"ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพที่จะช่วยให้เกษตรกรชาวไทยเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญ และเป็นกระบวนการที่เรายินดีที่จะได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลและผู้นำในภาคเกษตรในการผลักดันและทำให้เกิดผลประโยชน์อย่างแท้จริง"
หัวข้อหนึ่งในการอภิปรายครั้งนี้คือ การปฏิรูปภาคเกษตรที่กำลังดำเนินอยู่ในประเทศไทย หลายฝ่ายเห็นว่าการมีกรอบกฎหมายด้านการเพาะปลูกพืชเทคโนโลยีชีวภาพก่อนทำการปฏิรูปภาคเกษตรเสร็จสิ้นนั้น อาจเร็วเกินไป อย่างไรก็ดี กระแสจากองค์กรส่วนใหญ่กลับเห็นไปในทิศทางที่ต่างกัน
"เกษตรกรไทยต้องเผชิญความเสี่ยงหลายอย่าง" นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดในคณะสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าว "เทคโนโลยีชีวภาพจะช่วยให้ชาวนาให้ทรัพยากรน้อยลงแต่ได้ผลผลิตเพิ่ม ทำไมชาวนาไทยจึงต้องถูกจำกัดทางเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับไร่นาของพวกเขาครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะที่เกษตรกรที่อื่นในโลกสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีชีวภาพซึ่งพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัย
เราจะยังเป็นพันธมิตรสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลในการช่วยปฏิรูปภาคเกษตรของไทย เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและความแข็งแกร่งของภาคเกษตรท่ามกลางสภาพตลาดที่มีความหลากหลายในภูมิภาคและที่อื่น ๆ ทั่วโลก ปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นต่อการปฏิรูปคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร รวมทั้งกฎหมายรองรับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเราจะมุ่งหน้าทำงานร่วมกับผู้บริหารในรัฐบาลเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในภาคเกษตรอย่างแท้จริง"
อีกประเด็นปัญหาหนึ่งที่มีการหยิบยกมาอภิปรายคือ ความท้าทายในการจัดการการลักลอบนำเข้าเมล็ดพันธุ์เทคโนโลยีชีวภาพจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับและลดผลกระทบในส่วนนี้
"เมื่อภาครัฐได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างจริงจังอีกครั้ง สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาไม่ใช่เพียงผลประโยชน์ของเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับพืชที่มีต่อประเทศ แต่ควรพิจารณาถึงอันตรายของการขาดเทคโนโลยีดังกล่าวซึ่งอาจมองเห็นได้ไม่ชัดเท่าด้วย" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ กล่าว "วงการวิทยาศาสตร์นานาชาติและหน่วยงานกำกับทั่วโลกได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับพืชเทคโนโลยีชีวภาพ และพบว่าเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัยเช่นเดียวกับการปลูกพืชด้วยวิถีแบบดั้งเดิม พืชเทคโนโลยีชีวภาพจะช่วยให้เกษตรกรทั้งรายเล็กและรายใหญ่ในการเพิ่มผลผลิต ขณะที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
"การไม่มีกฎหมายรองรับเป็นปัจจัยทำให้การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศไทยทำได้จำกัด ซึ่งการวิจัยและพัฒนานั้นมีความสำคัญมาก เพราะไม่เพียงทำให้ค้นพบทางเลือกเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านเกษตรและส่งเสริมเศรษฐกิจไทย ยังทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีการประเมินความปลอดภัยตามหลักวิทยาศาสตร์ และให้คำแนะนำการใช้สินค้าประเภทนี้ในไทยด้วยความปลอดภัยเท่านั้น"
การประชุมในวันนี้มีการตัดสินใจร่วมกันว่าจะนำข้อมูลผลการศึกษาสำคัญ ๆ ที่ได้จากการอภิปรายไปแบ่งปันให้ทางรัฐบาลได้รับทราบเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปในอนาคต และแสดงจุดยืนของการเป็นพันธมิตรร่วมกำหนดทิศทาง 'การก้าวไปข้างหน้า' เพื่อการปฏิรูปด้านเกษตรกรรมของไทย รวมถึงบทบาทของพืชเทคโนโลยีชีวภาพ
นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2539 เป็นต้นมา พืชเทคโนชีวภาพได้ช่วยให้เกษตรกรทั้งหลายทั่วโลกปลูกข้าวโพดได้เพิ่มขึ้นถึง 231 ล้านตัน โดยมีการคาดการณ์ว่าพืชเทคโนโลยีชีวภาพจะสามารถช่วยให้ประเทศไทยเพิ่มผลผลิตอาหารสัตว์และเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดได้ราวร้อยละ 50 ในอีก 10 ปีข้างหน้า และสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกรไทยคิดเป็นมูลค่า 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในระยะเวลาเพียง 5 ปี ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน ติดต่อบริษัท อาซิแอม เบอร์สันกัดมาร์สเตลเลอร์ จำกัดสาธิดา ศรีธัญญาธรณ์โทร. 0 2252 9871อีเมล [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit