ครูยุคใหม่ แค่มีจิตวิญญาณครู-ไม่พอ

14 Jan 2016
ครูยุคใหม่ แค่มีจิตวิญญาณครู-ไม่พอ

วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี ถือว่าเป็น "วันครูแห่งชาติ" เป็นวันที่ลูกศิษย์จะรำลึกถึงพระคุณของครูและเป็นวันที่ทุกคนจะหวนรำลึกถึงบทบาทหน้าที่ของความเป็นครู เราเรียกร้อง "ครูยุคใหม่" ควรจะเป็นครูแบบไหน แค่มีจิตวิญญาณครูจะพอหรือไม่ สำหรับครูในยุคศตวรรษที่ 21 ครูควรมีคุณสมบัติหรือทักษะอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าฟัง....

"...ครูสมัยใหม่ แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาถ่ายทอดความรู้ก็มาตั้งสติว่าเด็กสมัยนี้ต้องเกิดLearning out come อะไรบ้าง ผลลัพธ์การเรียนรู้อะไรบ้าง จะให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้เช่นนั้นเด็กทำอะไร ครูทำอะไร แล้วครูรู้ได้อย่างไรว่า เด็กมีความก้าวหน้าในเรื่องการเรียนรู้ไปได้ดี เด็กในชั้นเรียน บางคนไปไว บางคนไปช้า ครูก็ต้องมาตั้งคำถามอีกว่าคนไหนไปไว คนไหนไปช้า แล้วครูจะทำอย่างไรกับเด็กแต่ละคน ถ้าเป็นสมัยนี้ครูจะเอาใจใส่กับเด็กที่ไปไวแล้วก็หาทางทำให้ได้รางวัล สิ่งที่ไม่รู้ตัว คือ เด็กที่อ่อน ก็จะสั่งสมการเรียนแบบไม่รู้จริง การศึกษาที่ดีเด็กทั้งชั้นต้องได้ Mastery Learning ถึงแม้ว่าหัวจะช้าก็ไม่เป็นไร ครูก็ต้องมาตั้งคำถามต่อว่าลูกศิษย์ทั้งชั้นได้เรียนรู้เรื่องนั้นจริงแล้ว ต้องแปลให้ชัดเลยว่ามีสองส่วนนะ ส่วนที่เป็นวิชา และส่วนที่เป็นนิสัยใจคอ ก็ไม่ใช่ครูคนเดียวนะที่เกี่ยวข้อง พ่อแม่ด้วย การที่จะทำหน้าที่แบบนี้ ครูคนเดียวโดดๆก็ทำได้ยาก ส่วนผู้อำนวยการก็ต้องเป็นที่ปรึกษาได้...

"....ครูเป็นบุคคลสำคัญ และเป็นผู้จัดชั้นเรียน ให้ชั้นเรียนมีการเรียนที่ถูกต้อง คุณสมบัติที่สำคัญที่สุด คือ ครูอยู่กับการเรียนรู้ ต้องมีฉั นทะ มีแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ในที่นี้ คือ การเรียนรู้เพื่อทำหน้าที่ครูที่ดี เป็นครูแห่งศตวรรษที่ 21 ครูสมัยใหม่ ถ้ามีอันนี้อย่างอื่นก็ตามมา จากมุมมองของผม การเรียนรู้ดีที่สุด คือการอยู่ที่ห้องเรียน จะทำอะไรก็แล้วแต่ถ้าไม่ใช้ห้องเรียนที่ตัวเองเป็นครู ในการเรียนรู้ของตน คนนั้นจะไม่มีวันเข้มแข็ง ครูบางคนมีคุณลักษณะแบบนี้แต่อาจจะไม่รู้ตัว การเป็นครูที่ดี คือ ต้องมาตั้งเป้าหมายในตัวlearning out come ในปีนี้ เทอมนี้ หรือวิชานี้ คืออะไร ซึ่งต้องมีทั้งสองส่วน ทั้งในส่วนวิชาการและนิสัยใจคอ แต่อย่าลืมที่จะทำความรู้จักลูกศิษย์ด้วยนะ ตั้งเป้าหมาย หาวิธีที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย วิธีก็คือการออกแบบการเรียนรู้ ต้องเป็นการเรียนรู้ที่ทำกิจกรรมเยอะๆ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้นจากการสร้างความรู้นั้นข้างในตัวเอง จากการปฏิบัติ การสัมผัส การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งอาจจะไปทำกิจกรรมต่างๆมาแล้วล้มเหลว ต้องแก้ไข สิ่งเหล่านี้เป็นการเรียนรู้หมดเลย ระหว่างนั้นครูก็ต้องมาทำความเข้าใจว่าจะเดินไปกับเด็กๆอย่างไร จะส่งเสริม ให้กำลังใจอย่างไร ซึ่งในกระบวนการนั้นครูจะคอยประเมิน access ไม่ใช่ evaluate แล้วก็ feedback ครูต้องให้กำลังใจและเป็นแรงเสริม เพื่อให้เด็กรับรู้ เด็กจะได้ทักษะการเรียนรู้จากปฏิบัติไปตลอดชีวิต ครูจะเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ได้ตลอด หน้าที่ของครูไม่ใช่ว่าเปิดตำราแล้วสอน เริ่มต้นก็คือ วางแผน แล้วก็ทำให้บรรลุแผนนั้น...

สำหรับความเห็นเรื่องคุณสมบัติของครูที่ดีต้องเป็นอย่างไร ศ.นพ.วิจารณ์กล่าวว่า "อย่างแรก คือ รักเด็ก อย่างที่สอง คือ รู้วิธีที่จะไปส่งเสริมเขา ก็คือวีธีการเป็นครู แล้วก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ บางคนไม่ควรเป็นครู เพราะไม่รักเด็ก แต่บางคนรักเด็ก เมื่อเด็กเห็นก็จะวิ่งเข้าใส่ เดี๋ยวเดียวก็จะสนิทกัน เด็กจะมีความสุขแล้วก็ต้องต่อด้วยอันที่สอง คือ รู้ศาสตร์ว่าด้วยการเป็นครู ศาสตร์ที่ว่าด้วยการปฏิบัติ ต้องรู้ศาสตร์ในทฤษฎีและปฏิบัติ และก็ต้องเรียนเรื่อยๆไป เพราะการเรียนแบบนี้ไม่มีวันจบและก็เกิดความสุขจากการได้ทำแบบนั้น..."จากข้อคิดของศ.นพ.วิจารณ์ พานิช น่าจะเป็นของขวัญวันครูอีกชิ้นหนึ่งที่มีประโยชน์แก่วงการครูไม่มากก็น้อย

HTML::image(