นายมาโนช บุญทองเล็ก อาจารย์ประจำวิชา และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า รายวิชานี้เป็นวิชาที่ต้องการให้นักศึกษาบริหารให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เกิดจาก "ความคิด" ที่นำมาบริหาร และเกิดจากความการตัดสินใจของตัวนักศึกษา โดยใช้หลักความคิดของนักศึกษา เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป็นการฝึกให้นักศึกษาได้ทำงานจริง รู้หลักการวางแผน การทำงานเป็นทีม ด้วยการใช้บริบทของมหาวิทยาลัยให้เป็นประโยชน์ ในการจัดการแสดง "สัทธามหานัมธารนทีประเพณีลอยกระทง" การแสดงวัฒนธรรมไทย ด้วยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ แสง สี เสียง นอกจากจะคิดเป็น ต้องทำเป็นด้วย
"แบงค์" นายอภิสิทธิ์ ต้นพิกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขานาฏศิลป์ไทยศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการจัดการแสดงในครั้งนี้ เล่าว่า ในการจัดงานในครั้งนี้ทางองค์การนักศึกษา ได้มอบหมายให้นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ดำเนินการจัดงาน โดยได้ผนวกเข้ากับรายวิชา"การบริหารการจัดการแสดง" ซึ่งตนเองและเพื่อนอีก 54 ชีวิตต้องเรียน จึงได้รับผิดชอบงานในครั้งนี้ทั้งหมด ซึ่งได้จัดแสดง "สัทธามหานัมธารนทีประเพณีลอยกระทง"ระยะเวลา 45 นาที เรื่องราวความเป็นมาของประเพณีลอยกระทงโบราณ นอกจากเรื่องราวบอกเล่าของนักแสดงกว่า 130 ชีวิต ภายในการแสดงยังมีการแสดงระบำโคมประทีปสุโขทัย ,มังคละ , ระบำสุโขทัย "การทำงานย่อมมีอุปสรรค แต่อุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้นจะเป็นการฝึกกระบวนความคิดและการทำงานของตนเอง
เช่นเดียวกับ "เบนซ์" นายวุฒิศักดิ์ จ้องสาระ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขานาฏศิลป์ไทยศึกษา รองผู้อำนวยการจัดการแสดง เล่าว่า เป็นการจัดการแสดงที่ใหญ่ที่สุด สำหรับตนเองเพราะว่า ได้ลงมือทำเอง สำหรับเวทีที่สร้างขึ้น ยาว 24 เมตร สูง 1 เมตร ลึก 7 เมตร 20 เซนติเมตร ประกอบด้วยฉากที่สร้างขึ้นเอง โดยมีเพื่อนจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และครุศาสตร์อุตสาหกรรม มาช่วยในการทำงานในครั้งนี้ โดยในการทำอุปกรณ์ประกอบฉาก พยายามหาวัสดุที่เหลือใช้ มาทำให้เกิดประโยชน์ เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ จะช่วยกันทำงานหลังเลิกเรียน ประมาณ 16.00 – 22.00 น. แต่ละคนจะมีหน้าที่ในการทำงาน จึงทำให้การทำงานง่ายขึ้น โอกาสที่ทางมหาวิทยาลัยมอบให้ ถือเป็นโอกาสที่ดี แสดงศักยภาพของนักศึกษามหาวิทยาลัยฯ ให้คนภายนอกได้เห็น ซึ่งประสบการณ์ในการทำงานครั้งนี้ เป็นสิ่งที่คุ้มค่ามาก
"ตั้ว" นายเดชฤทธิ์ แก้วพวง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขานาฏศิลป์ไทยศึกษา ฝ่ายเครื่องแต่งกาย เล่าว่า เป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่ามาก ซึ่งตนเองรับผิดชอบในเรื่องของเครื่องแต่งกาย ซึ่งเสื้อผ้าที่นำมาใช้ในการแสดงเป็นเสื้อผ้าชุดไทย สมัยสุโขทัย บางชุดต้องเช่า และจะพยายามนำชุดในคณะมาประยุกต์ หรือลงมือเย็บเอง ความรู้ในการจัดงานในครั้งนี้ ไม่สามารถหาได้ในห้องเรียน เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ผลสัมฤทธิ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เกิดจากความคิดของนักศึกษา ฝึกการทำงานร่วมกับคนอื่น นำความรู้ที่เรียนมาใช้ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์เช่นเดียวกับ สัทธามหานัมธารนทีประเพณีลอยกระทง "ราชมงคลลอยประทีป สู่สายนทีเมืองธัญญะ" ที่จะเกิดขึ้น
ประเพณีลอยกระทง ราชมงคลลอยประทีป สู่สายนทีเมืองธัญญะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 25 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งกิจกรรมในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ประกอบด้วย การประกวดหนูน้อยนพมาศ การแสดงชุด เซิ้งกะโป๋ และ วิลาวัณย์วารี กิจกรรมในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 การประกวดนางนพมาศ และการประกวดกระทง การแสดงชุดแผ่นดินของเรา,ระบำชนไก่ , ระบำปทุมรวงทอง (การแสดงพิธีเปิด) ปิดท้ายด้วยการแสดง แสง สี เสียง สัทธามหานัมธารนทีประเพณีลอยกระทง