สบร. ร่วมกับปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่ จัดโปรแกรมการบรรยายพร้อมเปิดตัวโครงการ “การพัฒนากระบวนการสร้างอุปนิสัยฯ"

15 Dec 2015
สบร. ร่วมกับปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่ จัดโปรแกรมการบรรยายพร้อมเปิดตัวโครงการ "การพัฒนากระบวนการสร้างอุปนิสัย ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมองให้ผู้เรียน โดยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและครู"

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. ร่วมกับ สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย และโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ จัดโปรแกรมการบรรยายและเปิดโครงการ "การพัฒนากระบวนการสร้างอุปนิสัย ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมองให้ผู้เรียน โดยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและครู" ณ ห้องประชุม สถาบันแฮรีส โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อต่อยอดการจัดการเรียนการสอนตามหลักการพัฒนาสมองในรูปแบบ BBL ให้กับผู้ปกครองของนักเรียนได้เกิดความเข้าใจและตระหนักมากขึ้น พร้อมกิจกรรมการบรรยายหัวข้อ "ครอบครัวสร้าง โรงเรียนสาน อุปนิสัยวัยอนุบาล" โดย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร เลขาธิการสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ที่ได้รับการตอบรับดีเกินคาด

ดร.อภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการ สำนักงานโครงการและจัดการความรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMDกล่าวว่า สบร.ได้ดำเนินงานพัฒนาสมองเพื่อการเรียนรู้ตามหลักพัฒนาการสมอง (Brain –based Learning หรือ BBL) โดยนำหลักการมาจากการศึกษาในต่างประเทศมาปรับใช้ในบริบทของไทย ผ่านงานวิจัยพัฒนาและปฏิบัติการในโรงเรียนนำร่อง 12 แห่ง ซึ่งได้ทดสอบแนวทางการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา การบริหารจัดการ การจัดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ฯลฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สบร.ได้ให้การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนรูปแบบดังกล่าวกับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 12 โรงเรียนนำร่อง จนปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้สามารถพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสอนตามหลัก BBL มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งดำเนินการงานด้านวิจัยควบคู่ จนประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ผู้ปกครองในวงกว้าง

"การสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ จึงมุ่งหวังที่จะสร้างอุปนิสัยหรือบุคลิกลักษณะที่พึงประสงค์ให้กับเด็ก เพื่อได้เติบโตเป็นคนดี มีรากฐานในตัวเอง เป็นผู้ที่มีทักษะ มีอุปนิสัยที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้หรือการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 เพราะอุปนิสัยที่ดีสะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สามารถเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีในวันข้างหน้าและใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ โดยเชิญพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วม เนื่องจากสถาบันครอบครัวเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมาก ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนรู้โดยใช้หลักการทำงานของสมอง เพื่อครอบครัวได้เกิดความตระหนักและเข้าใจ สามารถนำความรู้กลับไปประยุกต์ต่อยอดกับเด็กที่บ้านสอดคล้องกับแนวทางการสอนของโรงเรียนต่อไป ปัจจุบันทางโรงเรียนฯ ยังเร่งสร้างงานวิจัยเพื่อสกัด 5 อุปนิสัยโดดเด่นที่จะเอื้อในการเรียนรู้ในหลักการพัฒนาสมองให้กับเด็กออกมา โดยระดมความคิดเห็นจากครูผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์ประเมินผลและจัดทำเป็นคู่มือสำหรับเป็นแนวทางการพัฒนาเด็กให้กับครูและผู้ปกครองต่อไป และพร้อมขยายผลออกไปสู่โรงเรียนเครือข่ายต่างๆ มากมายทั่วประเทศ สำหรับกิจกรรมนี้ เราคาดหวังว่าจะนำไปสู่การพัฒนาให้เยาวชนได้รับการพัฒนาสมองอย่างถูกต้องและมีศักยภาพมากขึ้น เด็กไม่เกิดความสับสนในการเรียนรู้ และสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันทั้งในโรงเรียนและครอบครัว ตลอดจนผู้ปกครองยังมองเห็นแนวทางความสำเร็จของโครงการที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย"

นอกจากนี้ ภายในงาน ได้มีการบรรยายหัวข้อ "ครอบครัวสร้าง โรงเรียนสาน อุปนิสัยวัยอนุบาล" โดย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร เลขาธิการสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ที่ชี้ให้ผู้ปกครองได้เห็นถึงความสำคัญในบทบาทของตนเอง ว่าเป็นบุคคลสำคัญในเรื่องการพัฒนาสมองของเด็กเพื่อการเรียนรู้อย่างมาก ด้วยการทำให้พ่อแม่ได้เห็นเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น และกระตุ้นให้แต่ละครอบครัวได้เกิดกระบวนการการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อช่วยกันหาทางออกและคลี่คลายปัญหาที่ต่างประสบอยู่ในการเลี้ยงดูบุตร ตลอดจนเห็นความสำคัญของสร้างเรียนรู้ที่ต้องผ่านการกระทำซ้ำ ๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ปกครองที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างมาก