สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) แถลงผลการดำเนินงานรอบ 3 ไตรมาส (ต.ค. 2557 – มิ.ย. 2558) เดินหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ภายหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 หนุนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยางล้อของไทยเป็น Product Champion ให้เป็นอันดับ1 ของอาเซียน ขณะเดียวกันเร่งการออกใบอนุญาต กวดขันคุมเข้มสินค้า ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย และสรุปประเด็นการแก้ไขพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511
นายหทัย อู่ไทย เลขาธิการ สมอ. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 2/2557เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2557 มีมติเห็นชอบในหลักการ ในการจัดตั้งศูนย์ทดสอบกลางเพื่อการทดสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางล้อ ตามมาตรฐานของ UNECE โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้และความคุ้มค่าของการจัดตั้งศูนย์ทดสอบกลางฯ ให้ชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นความสอดคล้องกับโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนและสนามทดสอบยานยนต์ ทั้งพื้นที่ตั้งโครงการ รูปแบบการลงทุน กลไกการบริหารจัดการ รวมทั้งการจัดการยางพาราและผลิตภัณฑ์ทั้งระบบ เพื่อสร้างความได้เปรียบ ไม่ประสบปัญหาและข้อจำกัดต่อการแข่งขันเพื่อการส่งออก เนื่องจากปริมาณการผลิตยานยนต์ของไทยจัดเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 9 ของโลก
นายหทัย อู่ไทย เลขาธิการ สมอ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน เป็นอันดับ4 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 7 ของโลก และยังเป็น Product Championผลิตภัณฑ์หนึ่งของประเทศ โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 ให้ดำเนินการลงทุน ในระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ.2558 – พ.ศ.2562) ด้วยงบประมาณ 4,536 ล้านบาท ใช้พื้นที่ 1,200 ไร่ ที่ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในประเทศ และลดค่าใช้จ่ายในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบในต่างประเทศ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนในต่างประเทศ ตลอดจนสร้างเสถียรภาพให้เกษตรกรผู้ผลิตยาง เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในกลุ่มอาเซียน ในการเป็นผู้นำด้านการทดสอบ และรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนยางล้อ และเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และยางล้อแห่งแรกของอาเซียน ตามมาตรฐานสากล ช่วยลดการพึ่งพาการส่งออกยางพาราแปรรูปขั้นต้น ทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพมากขึ้น เกษตรกรชาวสวนยางกว่า 6 ล้านคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการใช้วัตถุดิบจากเดิม 12 % (530,000ตัน/ปี) เป็น 25% (1ล้านตัน/ปี) โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีความสะดวกทางการค้า ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย เนื่องจากไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบและรับรองที่ต่างประเทศกว่า 120 ล้านบาทนายหทัย กล่าวย้ำว่า นอกจากนี้ สมอ.ยังได้เร่งดำเนินการโครงการอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง ดังนี้
การแก้ไขพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 โดยมีสาระสำคัญที่แก้ไขเพิ่มเติม 3 ประเด็น ได้แก่
· การออกใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาต การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต/การเลิกแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน และการกำหนดเวลาสำหรับชำระค่าใช้จ่ายในการทดสอบผลิตภัณฑ์ แต่เดิมเป็นอำนาจของ กมอ. และรัฐมนตรี แก้ไขเป็นอำนาจของเลขาธิการ สมอ.
· การกำหนด แก้ไข ยกเลิกมาตรฐาน สามารถอ้างอิงมาตรฐานต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องมีการแปลเป็นภาษาไทย
· กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต
การปรับลดขั้นตอนการออกใบอนุญาต
หลังจากมีการปรับโครงสร้างการทำงาน สมอ. และลดระยะเวลาการออกใบอนุญาตทำให้ในช่วงแปดเดือนที่ผ่านมา (ต.ค. 2557 – พ.ค. 2558) มียอดการออกใบอนุญาต (มอก.) เป็นจำนวน 4,238 ฉบับ ซึ่งสูงขึ้นกว่าในช่วงเลาเดียวกันของปีที่ผ่านมากว่า 5.42 % โดยผลิตภัณฑ์ที่มีผู้ประกอบการยื่นขอ 3 อันดับแรก ได้แก่ บริภัณฑ์ส่องสว่าง เหล็ก และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มีแนวโน้มการขอใบอนุญาตสูงขึ้นกว่าปี 2557 ถึง 12.96% ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของใช้ ของที่ระลึก ผ้า เครื่องแต่งกาย
มาตรการคุมเข้มสินค้าไม่ได้มาตรฐาน สมอ. ได้จัดดำเนินงาน 4 เรื่องหลัก ดังนี้
1.มาตรการเข้มงวดผู้นำเข้ามาตรฐานบังคับ โดยห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ก่อนได้รับอนุญาต มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา
2. การประสานความร่วมมือกำกับดูแลสินค้าชายแดน โดยร่วมกับกรมศุลกากร ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว อุบลราชธานีและมุกดาหาร สกัดกั้นสินค้ามาตรฐานบังคับที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าประเทศ
3. การกำหนดมาตรฐาน แก้ไข ปรับปรุงมาตรฐานบังคับ เพื่อให้ทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบันและเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
4. ดำเนินงานตามกฎหมาย ได้แก่ 1.การยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน 8 กลุ่ม ผลิตภัณฑ์ ดังนี้ เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้าและอีเล็กทรอนิกส์ เครื่องกล(เครื่องปรับอากาศ และท่อไอเสีย) ปิโตรเคมีและโพลีเมอร์ (ท่อสำหรับน้ำดื่ม) โภคภัณฑ์ (หัวนมยางสำหรับขวดนม ไฟแช็กก๊าซ ของเล่น) เครื่องมือแพทย์ ยาง เคมี (สี ทินเนอร์) รวมมูลค่า 98,873,540 บาท อยู่ระหว่างดำเนินคดี 9 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้าและอีเล็กทรอนิกส์ โภคภัณฑ์ ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง ยาง ปิโตรเคมีและโพลีเมอร์ เคมี และเครื่องมือแพทย์ รวมมูลค่า 3,473,072 บาท
นอกจากนี้ สมอ. ยังเข้มงวดกับผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับที่เกี่ยวข้องกับมอเตอร์ไซค์แต่งซิ่งของวัยรุ่น (เด็กแว้น) และขอความร่วมมือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศตรวจร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในรถจักรยานยนต์ ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ และหมวกกันน็อก เพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้งขอความร่วมมือร้านตกแต่งรถจักรยานยนต์มิให้ดัดแปลงผลิตภัณฑ์ต่างไปจากมาตรฐานเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการควบคุมดูแลเด็กแว้นเลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้ายว่า สมอ. มีความพร้อมในการดำเนินงานด้านการตรวจควบคุมสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับ เพื่อดูแลคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาดนั้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการคืนความสุขให้กับประชาชน และเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีนี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit