ทั้งนี้ ศริณทิพย์ เสนอเรื่องการบริหารสำนักงานให้มีธรรมาภิบาล การทำงานแบบมีส่วนร่วม ร่วมกับ (participate) ผู้ประกอบกิจการวิทยุชุมชน และองค์กรตัวแทน ประเมินผลและสรุปการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อออกแบบกระบวนการ และขั้นตอนการออกใบอนุญาตใหม่สำหรับวิทยุชุมชน (และวิทยุประเภทอื่น) ให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง และตอบสนองความต้องการของทั้งองค์กรกำกับดูแลและผู้ประกอบกิจการ ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลผู้ประกอบการวิทยุชุมชนต่อสาธารณะผ่านเว็บไซต์แบบสหราชอาณาจักร ไม่อาจถือว่าเป็นการเปิดเผยความลับของผู้ประกอบกิจการ ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการวิทยุชุมชนนั้น สามารถพิสูจน์ตนเองว่าทำเพื่อชุมชนจนเป็นที่ประจักษ์ และได้รับใบอนุญาตให้มีสถานีวิทยุเพื่อชุมชนแล้ว องค์กรกำกับดูแล ควรเปิดเผย “การมีอยู่” ของกลุ่มคน และสถานีเหล่านี้ต่อสาธารณะ เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้สังคมวงกว้างรับรู้และใช้เป็นแบบอย่างต่อไป นอกจากนี้ กสทช. ควรมุ่งเน้นสู่การสร้างนโยบายบนฐานของข้อมูล การรวบรวมข้อมูลโดยตรงจากแบบคำขอรับใบอนุญาต และประมวลผลอย่างมีระบบ ในประเด็นกลุ่มผู้ฟังที่ครอบคลุมหรือเป็นเป้าหมายของสถานี ความโดดเด่นของเนื้อหารายการที่ให้บริการ การมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อชุมชน วิธีการระดมทุน เป็นต้นเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายและการกำกับดูแลวิทยุชุมชนต่อไป การทำงานที่โปร่งใส-ตรวจสอบได้ การเปิดเผยข้อมูลและเปิดรับฟังความคิดเห็น ไม่ควรเป็นไปเพียงเพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นไปเพื่อช่วยให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เช่น การเปิดเผยรายละเอียดของวิทยุชุมชนที่ได้รับใบอนุญาต จะทำให้วิทยุชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง“ร่วมตรวจสอบ” เพื่อให้กลไกกำกับดูแลกันเอง ร่วมกันเป็นจริง
“ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนด้านงบประมาณ รัฐ หรือองค์กรกำกับดูแล (กสทช.) จำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเฉพาะ “สำหรับสนับสนุนวิทยุชุมชน” โดยอาจตั้งเป็นกองทุนวิทยุชุมชน และมีคณะกรรมการบริหารกองทุน บริหารจัดการแบบในสหราชอาณาจักร หรือสนับสนุนงบประมาณไปยังองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนวิทยุชุมชนแบบในออสเตรเลีย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเสริมศักยภาพในด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ควรกำหนดความช่วยเหลือให้ไม่นำมาซึ่งภาวะพึ่งพิงเกินสมควร เพราะสถานีวิทยุชุมชนควรอยู่ได้ด้วยการอุดหนุนของชุมชน” ศริณทิพย์กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit