กลุ่มธุรกิจโคคา- โคลา ในประเทศไทย ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีด้วยการออกกำลังกายและบริโภคอย่างสมดุลเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน เชิญ ผศ.ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล จากภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลบรรยายหัวข้อ “การส่งเสริมแนวคิดการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดีและมีความสุขผ่านการบริโภคที่สมดุล” ให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่และนักกำหนดอาหารในงานการประชุมวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2558 เมื่อวันก่อน ณ โรงแรมเบอร์เคลีย์
ผศ.ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “การมีสุขภาพดีหมายความว่า เราต้องมีสุขภาวะที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจอารมณ์ สังคม สิ่งแวดล้อมและสติปัญญา ส่วนการมีความสุขนั้นต้องรู้จักคำว่าพอเพียงและเพียงพอ ถ้าพอเพียงแต่ไม่เพียงพอ ความสุขก็จะไม่เกิด มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า คนที่มีสุขภาวะไม่ดีจะมีความสุขน้อยแล้ะมีความพึงพอใจในการใช้ชีวิตน้อยกว่าคนที่มีสุขภาวะที่ดี และคนมีความสุขจะมีอายุยืนกว่าคนที่ไม่มีความสุข เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการบริโภคถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถทำให้เรามีความสุขได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเราทานมากเกินไป น้อยเกินไป หรืออดอาหารต่างเป็นผลเสียต่อร่างกาย จิตใจ และอารมณ์อีกเช่นกัน ดังนั้น การบริโภคที่สามารถทำให้เรามีความสุขและสุขภาวะที่ดีได้นั่นก็คือ “การบริโภคอย่างสมดุล” นั่นเอง
การบริโภคที่สมดุลคืออะไร การบริโภคที่สมดุลคือ ความสมดุลระหว่างพลังงานจากอาหารที่เราบริโภคกับพลังงานที่เราใช้ไปในกิจกรรมทางกายในแต่ละวัน โดยเน้นความสมดุลในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มตามความต้องการพลังงานของร่างกาย มากกว่าการเน้นไปที่อาหารหรือมื้ออาหารใดอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตที่ดีต่อสุขภาพในการดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาพดี การให้ความสำคัญกับความหลากหลาย ความพอประมาณ และความได้สัดส่วนของอาหาร มากกว่าการมุ่งเน้นไปที่อาหารหรือสารอาหารบางประเภทจะช่วยให้ผู้บริโภคสับสนยุ่งยากน้อยลง
ผศ.ดร.ฉัตรภากล่าวต่อไปว่า “ถึงแม้จะมีหลากหลายปัจจัยที่ส่งเสริมให้เรามีสุขภาวะที่ดีและนำมาซึ่งความสุข แต่ เราก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า การบริโภคสมดุลนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการมีสุขภาวะที่ดีและสร้างความสุขได้ ซึ่งการปฎิบัติตนในชีวิตประจำวันสามารถทำได้อย่างง่ายๆ ก็คือ ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะและควบคู่ไปกับกิจกรรมทางกายที่พอเพียงเพราะหากสองส่วนนี้ไม่สมดุลก็จะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของน้ำหนักตัวเรา อาทิ หากเราได้รับพลังงานจากอาหารมากกว่าที่ร่างกายต้องการใช้ ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินได้ ซึ่งภาวะน้ำหนักเกินนี้จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ ได้ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็งที่บางอวัยวะ เป็นต้น”
การบริโภคสมดุลนั้นเป็นแนวคิดที่นำไปปฏิบัติได้ไม่ยากเลย เพียงแต่คิดอยู่เสมอว่าเราต้องรับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะและออกกำลังกายหรือใช้ชีวิตอย่างแอ็คทีฟในทุกๆ วัน ซึ่งหากลองปฎิบัติดูจะทำให้คุณกลายเป็นคนที่มีสุขภาวะที่ดี ห่างไกลโรคและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตลอดไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit