ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล กลุ่มบริษัทลอจิสติกส์และขนส่งพัสดุชั้นนำของโลก ส่งกำลังทีมรับมือภัยพิบัติ (Disaster Response Team) หรือดีอาร์ทีไปยังกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 7.8 แมกนิจูดที่คร่าชีวิตผู้คนนับพัน และมีผู้บาดเจ็บสาหัสอีกมากมาย หน่วยงานการช่วยเหลือนานาชาติกำลังเร่งเดินทาง เพื่อมอบสิ่งของยังชีพที่จำเป็น อาทิ อุปกรณ์ทางเทคนิค น้ำและอาหาร ทั้งนี้ ทีมรับมือภัยพิบัติจากดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล จะให้การสนับสนุนด้านลอจิสติกส์ โดยอำนวยความสะดวกในการลำเลียงส่งมอบสิ่งของยังชีพที่มาจากการอนุเคราะห์ขององค์กรต่าง ๆ ทั้งจากในและนอกประเทศไปยังผู้ที่ได้รับความเสียหาย ณ สนามบินนานาชาติ ตรีภูวัน ในกรุงกาฐมาณฑุ
แฟรงค์ แอพเพล ประธานคณะกรรมการฝ่ายบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล กล่าวว่า "ระดับความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ นับเป็นการเสียหายครั้งใหญ่ ส่งผลให้ส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ท่าอากาศยานและเส้นทางจราจรเป็นอัมพาต ซึ่งทำให้การสนับสนุนด้านลอจิสติกส์ติดขัด ส่งผลให้อาสาสมัครต้องทำงานที่แข่งกับเวลาเพื่อเข้าช่วยชีวิตผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคาร และส่งสิ่งของยังชีพ ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรค น้ำและอาหารให้แก่ผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุด โดยทีมรับมือภัยพิบัติของดีเอชแอล ล้วนเป็นอาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญด้านลอจิสติกส์ ได้ช่วยประสานงานการบรรเทาทุกข์ที่สนามบิน เพื่อส่งสิ่งของที่จำเป็นให้แก่ผู้ประสบภัยให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 มร. เกกาน มูคเฮีย ผู้จัดการ ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส เนปาล ได้ประสานงานกับทางทีมรับมือภัยพิบัติ ซึ่งประกอบด้วยอาสาสมัครที่ล้วนเป็นพนักงานของดีเอชแอลจากประเทศต่าง ๆ อาทิ บาห์เรน เบลเยี่ยม ดูไบ อินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่ถูกส่งตัวไปยังกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ร่วมกับสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs: UNOCHA) เพื่อระดมกำลังเข้าช่วยบรรเทาทุกข์และเยียวยาผู้เดือดร้อนในประเทศเนปาล
คริส วีคส์ ผู้อำนวยการด้านมนุษยธรรมสัมพันธ์ ดีเอชแอล กล่าวว่า "ความเสียหายของสนามบินกลายเป็นอุปสรรคต่อการแจกจ่ายสิ่งของฉุกเฉินและของยังชีพทั้งหลาย ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านลอจิสติกส์จะสามารถเข้าช่วยกู้สถานการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยการรับมือกับสิ่งของต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามา เพื่อช่วยเหลือผู้คนจำนวนมากได้ทันท่วงที เราจึงได้จัดมาตรการ "เตรียมพร้อมให้กับท่าอากาศยานเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ (Get Airports Ready for Disaster หรือ GARD)" โดยประสานงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นของประเทศเนปาล และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program: UNDP)
มาตรการ GARD เริ่มดำเนินงานเมื่อปี 2553 ในท่าอากาศยาน 5 แห่ง เช่น ทีไอเอ (กาฐมาณฑุ) เนปาลคุณช์ พิรัตนคร ไซมาร่า และโพคารา
GoHelp คือการให้บริการด้านลอจิสติกส์เพื่อบรรเทาสาธารณภัยของบริษัทในเครือของดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล ซึ่งได้ดำเนินงานในส่วนของมาตรการ GARD และรับมือกับภัยธรรมชาติโดยการทำงานของทีมรับมือภัยพิบัติ และจากการประสานงานกับสหประชาชาตินับตั้งแต่ปี 2548 บริษัทในเครือของดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอลมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับสหประชาชาติทางด้านลอจิสติกส์ ด้วยเครือข่ายที่กว้างไกลทั่วโลก และพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญ
สำหรับมาตรการ GARD เป็นความร่วมมือกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำตามท่าอากาศยานตามประเทศต่าง ๆ เช่น อัลมาเนีย บังคลาเทศ สาธารณรัฐ โดมินิกัน เอล ซัลวาดอร์ อินโดนีเซีย จอร์แดน เลบานอน เนปาล ปานามา เปรู ฟิลิปปินส์ ตุรกี และศรีลังกา และจากการร่วมงานกับสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาตินั้น บริษัทในเครือของดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอลได้จัดตั้งเครือข่ายทีมรับมือภัยพิบัติของดีเอชแอล เพื่อสนับสนุนท่าอากาศยานที่เกิดภัยพิบัติ เครือข่ายทีมรับมือภัยพิบัติจากดีเอชแอลได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีกว่า 400 คน โดยสามารถไปถึงยังจุดช่วยเหลือได้ภายในเวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2548 ทีมรับมือภัยพิบัติทั้งหลายได้มีการรวมตัวกันไปแล้วกว่า 30 ครั้งทั่วโลก โดยมีการรวมตัวกันครั้งล่าสุดเพื่อไปยังเมืองวานูอาตู ตามมาด้วยพื้นที่ที่ประสบภัยจากพายุไซโคลนแพมเมื่อเดือนมีนาคม 2558