อุบัติเหตุ คร่าชีวิตเด็กปีละ 1.8 แสนคน วิจัยหนุน กม.เบาะนิรภัยเด็ก

22 May 2015
อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของเด็กไทย รองจากการจมน้ำ ข้อมูลสำนักระบาดวิทยาโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บ 33 แห่ง พบเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี บาดเจ็บรุนแรงในสถานะผู้โดยสารถึงปีละ 4,000 ราย เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 524 ราย ส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุจากรถกระบะ รถยนต์ส่วนบุคคล เมื่อเกิดเหตุที่มีการชนอย่างแรงทำให้เด็กหลุดออกจากตัวรถ จากที่นั่งกระเด็นออกมานอกรถหรือเด็กหลุดจากการกอดของผู้ปกครองไปกระแทกกับส่วนต่างๆ ในรถ
อุบัติเหตุ คร่าชีวิตเด็กปีละ 1.8 แสนคน วิจัยหนุน กม.เบาะนิรภัยเด็ก

ขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการพบในแต่ละปีมีเด็กประมาณ 186,300 คนทั่วโลก ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน หรือในทุกๆ 4 นาทีจะมีเด็ก 1 คนที่เสียชีวิตบนท้องถนน

“นอกจากการเสียชีวิต บางรายมีอาการสาหัส จนถึงทุพพลภาพ เหตุการณ์เหล่านี้ยากจะประเมินค่า สร้างความโศกเศร้า และความสูญเสียทางเศรษฐกิจกับครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้ประสบเหตุ ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพและการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต” Dr. Liviu Vedrasco ผู้แทน WHO ประจำประเทศไทย แสดงความห่วงใย

รายงานของ WHO ชี้ว่า การใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์จะมีส่วนช่วยลดการเสียชีวิตของเด็กได้ถึง ร้อยละ 70 ปัจจุบัน 96 ประเทศทั่วโลกมีกฎหมายบังคับใช้เบาะนิรภัยฯ แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มที่มีรายได้สูง ส่วนกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก

สำหรับในประเทศไทยนั้น ประเมินกันว่ามีการใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กน้อยมาก อาจมีสาเหตุจากการไม่ตระหนักถึงปัญหา และราคานำเข้าเบาะนิรภัยสำหรับเด็กฯ ที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้จริงจัง ทาง WHO จึงมีการให้คะแนนประเทศไทยกับเรื่องดังกล่าวเป็นศูนย์ !!

จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว นำมาสู่ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก ศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและ รพ.ขอนแก่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) จับมือดำเนินโครงการส่งเสริมหนูน้อยปลอดภัยจากการใช้เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ พร้อมทำการศึกษาวิจัยพฤติกรรมและการส่งเสริมการใช้เบาะนิรภัยในรถยนต์ กรณีศึกษาของประเทศไทยขึ้น

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า สวรส. ได้ตระหนักถึงประเด็นปัญหาอุบัติเหตุจนทำให้มีการเสียชีวิตของเด็กที่โดยสารมาในรถยนต์ จากการประเมินเบื้องต้นพบว่าในประเทศไทยมีการใช้เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์น้อยมาก และไม่มีกฎหมายบังคับใช้ จึงสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยประเมินผลการใช้เบาะนิรภัย เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่รุนแรงจากอุบัติเหตุของเด็กที่โดยสารมากับรถยนต์ พร้อมกับสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายในการผลักดันทางกฎหมายการใช้เบาะนิรภัยฯ โดยมี นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย เป็นนักวิจัยหลัก

“การวิจัยได้ดำเนินการศึกษาในโรงพยาบาล 4 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมหนูน้อยปลอดภัยจากการใช้เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ ประกอบด้วย สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี รพ.ขอนแก่น รพ.ตรัง และ รพ.ลำปาง กลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กหลังคลอดที่ผู้ปกครองมาคลอดในโรงพยาบาล และเด็กในคลินิกสุขภาพเด็กดี ที่ผู้ปกครองใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และรถกระบะ รวม 120 คน ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินงานหนึ่งปีนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557”

ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวด้วยว่า การศึกษาครั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักของปัญหา พร้อมศึกษาปัจจัยที่สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการใช้เบาะนิรภัยฯ ในผู้ปกครอง รวมทั้งสังเคราะห์ข้อเสนอสำหรับผู้กำหนดนโยบายเพื่อผลักดันให้เกิดกฎหมายการมีเบาะนิรภัยฯ ต่อไป

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผอ.ศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก และนักวิจัย สวรส. เผยข้อค้นพบที่สำคัญจากการศึกษาจากโรงพยาบาลและผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการฯ เช่น พบว่าปัญหาที่เป็นข้อจำกัดกรเลือกใช้เบาะนิรภัยในประเทศไทย ผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นว่าราคาเบาะนิรภัยค่อนข้างสูง ผู้ปกครองที่มีฐานะทางการเงินต่ำ ไม่สามารถจะซื้อได้ จากนั้นเมื่อการศึกษามาถึงช่วงแรกของการใช้เบาะนิรภัย พบว่าเด็กจะงอแง ร้องไห้เกร็งบ้าง แต่ทั้งนี้ผู้ปกครองก็มีเทคนิคที่ทำให้บุตรหายจากการต่อต้าน เช่น เตรียมเด็กก่อนเดินทางให้พร้อม การให้ดื่มนมให้อิ่ม การฝึกให้ลูกซ้อมการนั่งเบาะ ก่อนติดตั้งบนรถ เป็นต้น

นักวิจัย สวรส. กล่าวต่อไปว่า จากศึกษาใน 4 โรงพยาบาล พบผู้ปกครองส่วนใหญ่ได้ใช้ประโยชน์จากคู่มือการใช้เบาะนิรภัยเป็นแนวทางในการปฏิบัติ มีประโยชน์และสามารถแนะนำผู้อื่นได้ด้วย ร้อยละ 40 ของผู้ปกครองได้มีการแนะนำบอกต่อคนอื่นให้ใช้เบาะนิรภัย เช่น บอกกับเพื่อนและญาติๆ ในกลุ่มหลังคลอด มีการโพสต์ข้อดีของการใช้เบาะนิรภัยผ่านทาง Social Media ต่างๆ ทั้งนี้ในกลุ่มทดลอง มีผู้ปกครองที่ใช้เบาะนิรภัยที่ขับรถแล้วเบรกกะทันหัน จำนวน 4 คน และรู้สึกตกใจกลัวลูกจะได้รับอันตราย แต่ปรากฏว่า เด็กนอนหลับไม่รู้สึกเลย

นพ.วิทยา กล่าวถึงข้อเสนอเชิงนโยบายที่ควรดำเนินการ คือ เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะต้องผลักดันให้เป็นกฎหมายสำหรับประเทศไทย เช่นเดียวกับนานาประเทศ ในระยะแรกกระทรวงสาธารณสุขควรเป็นผู้รับผิดชอบในการประกาศเป็นกฎกระทรวงสาธารณสุข และนำเสนอให้ผลักดันให้เป็นกฎหมายเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ กระทรวงสาธารณสุขควรเป็นหน่วยงานสำคัญในการสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในการใช้เบาะนิรภัย โดยสอดแทรกให้หญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ การจัดหาเบาะนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็ก จำหน่าย หรือเช่า หรือยืม ให้แก่แม่หลังคลอด และติดตามการใช้เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ ใน Well baby clinic ควรมีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ ถึงความสำคัญและความจำเป็นของการมีเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ ผ่านสื่อต่างๆ

“รัฐบาลควรให้การสนับสนุนในเรื่องของราคาเบาะนิรภัยให้ถูกลงโดยปรับ ลดภาษีนำเข้าและสนับสนุนให้ผลิตได้เองในประเทศ บริษัทที่ผลิตรถยนต์ และขายรถยนต์ ควรแถม เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ เป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่งสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ โดยห้างร้านที่จำหน่ายควรให้ความรู้ในการติดตั้งและการใช้ให้กับประชาชนอย่างถูกต้อง” นพ.วิทยา กล่าว

เด็ก ถือเป็นกลุ่มประชากรที่จะเจริญเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติ การผลักดันข้อเสนอสู่นโยบายระดับชาติในครั้งนี้ เป็นประเด็นที่แสดงถึงความจริงใจต่อการพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เสมือนในหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้กันไปแล้ว

นั่นก็เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียในอนาคต...

อุบัติเหตุ คร่าชีวิตเด็กปีละ 1.8 แสนคน วิจัยหนุน กม.เบาะนิรภัยเด็ก อุบัติเหตุ คร่าชีวิตเด็กปีละ 1.8 แสนคน วิจัยหนุน กม.เบาะนิรภัยเด็ก อุบัติเหตุ คร่าชีวิตเด็กปีละ 1.8 แสนคน วิจัยหนุน กม.เบาะนิรภัยเด็ก