BRR ตอกย้ำความแข็งแกร่งธุรกิจน้ำตาลทรายและพลังงานทดแทน ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เร่งเพิ่มกำลังผลิตเตรียมรับอ้อย 3 ล้านตัน พร้อมเดินหน้าลุยโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 3 คาด COD ได้ต้นปี 59

26 May 2015
‘บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์’ หรือ BRR เดินเกมรุกธุรกิจน้ำตาลทรายและพลังงานทดแทน เพิ่มกำลังการหีบอ้อยจาก 17,000 ตันต่อวัน เป็น 22,000 ตันต่อวัน หวังรองรับอ้อย 3 ล้านตัน พร้อมเดินหน้าลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงาน ชีวมวลแห่งที่ 3 ซึ่งดำเนินงานภายใต้บริษัท บุรีรัมย์ เพาเวอร์พลัส จำกัด คาดแล้วเสร็จและพร้อมขายไฟฟ้าได้ต้นปี 59

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ และนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เปิดเผยว่า แผนดำเนินงานของกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ในช่วงฤดูการผลิตปี 2558/59 ถึง 2559/60 นั้น นอกเหนือจาก การส่งเสริมด้านการบริหารจัดการอ้อยตามปรัชญา “น้ำตาลสร้างในไร่” แล้ว ยังเสริมความเข้มแข็งทางธุรกิจของกลุ่มด้วยการลงทุน 500 ล้านบาท ขยายกำลังการผลิตจาก 17,000 ตันอ้อยต่อวันในปัจจุบัน เป็น 22,000 ตันอ้อยต่อวัน เตรียมรองรับปริมาณอ้อย 3 ล้านตัน และเสริมความแข็งแกร่งด้านพลังงานทดแทนด้วยการลงทุนอีก 600 ล้านบาทสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 3

ในฤดูการผลิตปี 2557/58 BRR หีบอ้อยรวม 1.95 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้ 230,000 ตัน ส่วนในฤดูการผลิตปี 2558/59 – 2559/60 คาดว่าปริมาณอ้อยจะเพิ่มเป็น 2.5 ล้านตัน และ 3 ล้านตัน ตามลำดับ ทั้งนี้ การเพิ่มของปริมาณอ้อยเป็นผลมาจากการส่งเสริมและพัฒนาด้านอ้อยทั้งเรื่องการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่เหมาะสม การบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และการส่งเสริมการปลูกอ้อยตามนโยบายเปลี่ยนนาข้าวเป็นอ้อย

ปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้น จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจน้ำตาลทรายและธุรกิจพลังงานทดแทน ที่ปัจจุบัน บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 2 แห่ง ที่ได้จำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวม 16 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบดังกล่าว ยังสามารถรองรับแผนงานการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 3 ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม โดยมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 9.9 เมกะวัตต์ สามารถขายไฟฟ้าได้ 8 เมกะวัตต์ ภายใต้รูปแบบ FiT ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มจำหน่ายไฟได้ภายในต้นปี 2559

“เรามีเป้าหมายสร้างฐานความแข็งแกร่งด้านผลผลิตอ้อยและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย เพื่อผลักดันรายได้และนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตมาสร้างความมั่นคงให้แก่ธุรกิจพลังงานทดแทนซึ่งจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานรวมเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นายอนันต์ กล่าว