นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) (LIT) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2557 บริษัทมีรายได้รวม 128.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น23.42 ล้านบาท หรือ22 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม104.65 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ47.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น15.71 ล้านบาท หรือ49 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทมีการขยายฐานลูกค้าภาคเอกชนมากขึ้น และมีการเพิ่มวงเงินปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่ง ซึ่งถือเป็นสินเชื่อกลางน้ำให้กับลูกค้าวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) มากขึ้น ซึ่งช่วยผลักดันให้อัตรากำไรขั้นต้นขยับตัวเพิ่มขึ้น
“แม้ภาพรวมเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาจะชะลอตัวจากปัญหาการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก แต่รายได้และกำไรของเรายังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเราได้มีการขยายฐานลูกค้ากลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่ง สามารถเพิ่มวงเงินในการปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายใหม่มากขึ้น ตลอดจนการเข้ารุกในสินเชื่อกลางน้ำประเภทเทรดและโปรเจคไฟแนนซ์ที่ให้ผลตอบแทน และมีมาร์จินค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับสินเชื่อเช่าซื้อที่มาร์จินค่อนข้างต่ำ”นายสมพลกล่าว
นายสมพล กล่าวว่า ทีผ่านมาบริษัทจะให้วงเงินสินเชื่อแฟคตอริ่งเอสเอ็มอีรายใหม่อยู่ในระดับวงเงินประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น แต่ในปีนี้มีแผนเพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 200 ล้านบาท เพราะความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้มีสูง เนื่องจากสถาบันการเงินยังไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มนี้มากนัก เนื่องจากยังไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ลูกค้าหันมาพึ่งสินเชื่อกับบริษัทมากขึ้น โดยล่าสุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ต้องถือว่าผลงานเข้าเป้าตามที่วางไว้โดยได้เพิ่มวงเงินให้สินเชื่อแฟคตอริ่งลูกค้าเอสเอ็มอีรายใหม่ถึง 245 ล้านบาท ทีเดียว“ในปีนี้เราเตรียมขยายฐานรุกลูกหนี้เอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อแฟคตอริ่ง โดยตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อรวมแตะที่ระดับ 1,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้และกำไรเติบโต 30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน”นาย สมพล กล่าว
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท กล่าวถึงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2558 นอกเหนือจากการขยายตลาดลูกค้าเอสเอ็มอีแล้ว บริษัทยังมีแผนขยายผลิตภัณฑ์การเงินจากเดิมที่ให้น้ำหนักกับการปล่อยสินเชื่อลิสซิ่ง หรือสินเชื่อไฮ-เพอร์เชส ซึ่งถือเป็นโปรดักท์ปลายน้ำ ซึ่งมีมาร์จินต่ำ โดยหันมาเพิ่มน้ำหนักใน สินเชื่อแฟคตอริ่ง หรือการรับซื้อลูกหนี้ทางการค้ามากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะรุกในหนี้ภาคเอกชนมากกว่าจากเดิม ในเวลาเดียวกันก็จะปรับสัดส่วนสินเชื่อประเภทเทรดและโปรเจคไฟแนนซ์ให้มากขึ้น เพราะมาร์จินสูงกว่า อย่างไรก็ตาม ด้วยประสบการณ์การทำธุรกิจที่มีมากว่า 7-8 ปี ทำให้การบริหารความเสี่ยงและการคัดกรองลูกค้ามีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ให้ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยปัจจุบันมีเอ็นพีแอลเพียง 2% เมื่อเทียบกับสินเชื่อรวม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit