“มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก” เสนอผลักดันแก้ไข พรบ.ประมวลกฏหมายอาญา เรื่องสื่อลามกอนาจารเด็ก และการคุ้มครองเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

25 Feb 2015
ย้ำควรเร่งแก้ไขฯ ก่อนไทยกลายเป็นศูนย์กลางซื้อ-ขาย สื่อลามกอนาจารเด็กระดับโลก!

มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก เดินหน้าเสนอผลักดันแก้ไขพระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยเรื่องสื่อลามกอนาจารในเด็ก รวมทั้งการคุ้มครองเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เน้นย้ำ ๖ ประเด็นเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็กในสังคมไทยที่ควรให้ ความสนใจในเรื่องดังกล่าว พร้อมชูประเทศไทยนำร่องแก้ไขฯ ป้องกันไม่ให้เป็นศูนย์กลางการค้า สื่อลามกอนาจรในเด็กในระดับโลก

ดร.จินตนันท์ ชญาตร์ ศุภมิตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ กรรมการมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก กล่าวว่า “ปัจจุบันการ ล่วงละเมิดในเด็กเป็นปัญหาหนึ่งในสังคมไทยที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากประเทศไทย กลายเป็นศูนย์กลางให้ขบวนการข้ามชาติได้มีการทำอนาจารในเด็ก ซ้ำร้ายกว่านั้น กล่าวคือ เด็กเหล่านั้นกลายเป็นเหยื่อที่ปรากฎอยู่ในสื่อลามกอนาจารที่ถูกเผยแพร่ต่อไปอีก ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทางมูลนิธิจึงเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนในการเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันแก้ไขพรบ.ประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยเรื่องสื่อลามกอนาจารเด็ก เนื่องด้วย กฎหมายไทย ไม่ได้มีการกำหนดแยกประเภทสื่อลามกเด็กออกจากของผู้ใหญ่??ซึ่งมี ความแตกต่างกันอย่างชัดเจนว่า? สื่อลามกอนาจารผู้ใหญ่สามารถมีไว้ในความครอบครองได้ ?หากไม่ได้ทำเพื่อการค้า เผยแพร่ต่างๆ ฯลฯ แต่ในทางกลับกันสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นการกระทำความผิดต่อเด็กโดยตรง และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา?ซึ่งกฎหมายอาญาในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา, กลุ่มประเทศอียู (EU) ฯลฯ ได้มีการแยกประเภทสื่อลามกอนาจารเด็กออกจากสื่อลามกอนาจารผู้ใหญ่ และมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่า?ประกอบกับการมีสื่อลามกอนาจารเด็กเพื่อการค้านั้น นับเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็กโดยตรง? ทั้งจากการกระทำอนาจารเด็กประการหนึ่ง เพื่อทำหรือผลิตสื่อลามกอนาจารเด็กอีกประการหนึ่ง?และเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอย่างชัดแจ้ง อีกทั้งการมีไว้ในความครอบครอง จึงมีลักษณะแตกต่างจากการครอบครองสื่อลามกผู้ใหญ่?นอกจากนี้แล้ว การทำหรือผลิต ให้เช่า ฯลฯ สื่อลามกอนาจารเด็กเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งจะก่อให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กเพิ่มขึ้น และเด็กยังเป็นผู้ที่ถูกชักจูงได้โดยง่าย จึงสมควรที่จะกำหนดให้เป็นความผิดและจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

ดร.จินตนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “โดยทางมูลนิธิ ได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ ๖ ประเด็นหลัก ดังนี้ ๑.ทางมูลนิธิฯ เล็งเห็นว่าการมีกฎหมายที่ชัดเจนดังกล่าว จะเป็นการตัดปัญหาที่ต้นเหตุ เนื่องด้วยการแยกสื่อลามกเด็ก ออกจากผู้ใหญ่นั้น จะสามารถเอาผิดกับกลุ่มผู้มีความผิดปกติทางจิตที่ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก (Pedophile) ได้ เนื่องจากที่ผ่านมา มีช่องโหว่ในเรื่องของกฎหมายที่ทำให้กลุ่มเหล่านี้ใช้เป็นข้อแก้ต่างในชั้นศาลได้ ๒. การมีสื่ออนาจารเด็ก สามารถใช้เป็นเครื่องมือชักจูง ยั่วยุ และหลอกลวงกลุ่มเด็กให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศต่อไปได้ ๓. กลุ่มผู้มีความผิดปกติทางจิตที่ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก (Pedophile) นั้น จะสามารถบ่งชี้ได้ชัดเจน เนื่องจากมีการเก็บภาพต่างๆ ไว้เป็นคอลเลกชั่น โดยมีทั้งเก็บไว้ดูเองและขายสู่ตลาด โดยอาศัยช่องทางออนไลน์ ๔. การจับกุมกลุ่มผู้มีความผิดปกติทางจิตที่ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก (Pedophile) นั้น ทำได้ยาก เนื่องจากการจับกุมจะไม่ได้สามารถจับกุมได้ขณะที่มีการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก แต่จะจับกุมได้จากหลักฐานที่มีอยู่ นำมาซึ่งการปฎิเสธข้อกล่าวหาว่ามีเพียงเก็บไว้ดูเท่านั้น ๕. การมีไว้ซึ่งสื่อลามกเด็ก (Child Sexual Abuse Material) นั้น อาจนำมาซึ่งการก่อให้เกิดพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ที่มีไว้ในครอบครอง คือกลุ่มผู้ป่วยทางจิตที่ไม่ปกติ เป็นต้นเหตุนำมาซึ่งปัญหาในสังคมที่ตามมาอย่างไม่จบสิ้น และ ๖. เด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่จะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาในสังคมต่อไป ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของร่างกายที่มีบาดแผลจากการถูกกระทำ รวมถึงสภาพจิตใจ ที่มีการวิจัยมาแล้วว่า เด็กผู้ชายมีโอกาสที่จะไปกระทำการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กเมื่อตนเองโตขึ้น หรือเด็กผู้หญิงก็จะมีความเสี่ยงสูงในการจะค้าประเวณี หรืออาจรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย โดยสถิติจาก INHOPE จากปี ๒๐๑๓ แสดงให้เห็นว่า กลุ่มเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มากที่สุด จะอยู่ในช่วงอายุไม่เกิน ๑๒ ปี สูงถึงร้อยละ ๗๑ รองลงมากลุ่มอายุมากกว่า ๑๒ ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ ๑๙ และกลุ่มเด็กแรกเกิด คิดเป็นร้อยละ ๑๐”

ด้าน สุริยน ศรีอรทัยกุล กรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก กล่าวว่า “สำหรับประเทศไทยนั้น หลายๆ ท่าน อาจจะยังไม่ทราบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฏหมาย โดยที่หลักคิดพื้นฐานในเรื่องนี้สลับขั้วกัน โดยประเทศไทยไม่ได้พิจารณาจาก?ตัววัตถุ?แต่พิจารณาจาก?พฤติกรรมที่กระทำต่อวัตถุนั้น?นั่นหมายถึงหากมีพฤติกรรมที่เป็นการครองครองไว้ ไม่ได้มีการเอาไปเผยแพร่ ส่งต่อ ขาย หรือทำด้วยประการใด ๆ ไปยังบุคคลอื่นต่อ ไม่ว่าภาพนั้นจะเป็นภาพลามกอนาจารของผู้ใหญ่หรือ ภาพลามกอนาจารเด็ก ก็ถือว่าเป็นการกระทำอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความผิดแต่อย่างใด ซึ่งโดยส่วนตัว คิดว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะมีช่องโหว่ในเรื่องของกฎหมายให้ผู้ที่กระทำผิดสามารถลอยนวลในสังคมต่อไปได้ โดยผู้ที่ต้องการแสดงพลังสนับสนุน สามารถเข้าไปร่วมลงชื่อสนับสนุนการแก้กฎหมายได้ที่ www.change.org/childabuse ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

โดยกรณีดังกล่าว เรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เรื่องสื่อลามกเด็ก ได้รับบรรจุวาระการพิจารณาเข้าเป็นเรื่องด่วน ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันพฤหัสที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ โดยมีการนำเสนอให้แก้ไขและเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย (ฉบับที่……..) พ.ศ………… โดย นางสาวจินตนันท์ ชญาตร์ ศุภมิตร และคณะเป็นผู้เสนอ ให้เพิ่มนิยามสื่อลามกเด็กและการครอบครองเป็นความผิดทางกฎหมาย มีบทลงโทษ

ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงพลังสนับสนุน ขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมแชร์ เชิญ รณรงค์ ขอร้อง ให้มีผู้สนับสนุน เพื่อให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงมติสนับสนุนการเสนอแก้กฎหมายเรื่องสื่อลามกเด็ก ให้สำเร็จลุล่วงให้ได้ เพื่อเด็กไทยทั่วประเทศ โดยสามารถเข้าไปร่วมแสดงพลังได้ที่ www.change.org/childabuse