1. หนี้ของรัฐบาล
1.1 หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลงสุทธิ 4,254.62 ล้านบาท เนื่องจาก
1.1.1 หนี้ต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 75.37 ล้านบาท โดยผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทลดลง 1,070.64 ล้านบาท ในขณะที่การเบิกจ่ายและชำระคืนเงินกู้สกุลเงินต่างๆ ทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นสุทธิ 1,146.01 ล้านบาท
1.1.2 หนี้ในประเทศ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 4,329.98 ล้านบาท โดยมีรายการสำคัญเกิดจาก
- เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้ลดลง 5,248.20 ล้านบาท เนื่องจาก
การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยการออกพันธบัตรรัฐบาล 9,970 ล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้น 27,000 ล้านบาท
การทำธุรกรรมแลกพันธบัตร (Bond Switching) โดยกระทรวงการคลังดำเนินการแลกพันธบัตรที่ออกภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 รุ่น LB155A จำนวน 76,235.20 ล้านบาท กับพันธบัตรรัฐบาลที่เป็น Benchmark 4 รุ่น จำนวน 71,017 ล้านบาท ซึ่งจากการทำธุรกรรมครั้งนี้ทำให้ยอดหนี้คงค้างของพันธบัตรรัฐบาลลดลง 5,218.20 ล้านบาท
การชำระคืนหนี้ภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 จำนวน 37,000 ล้านบาท
- การเบิกจ่ายเงินให้กู้ต่อ เพิ่มขึ้น 133.22 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย วงเงิน 37.82 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
การรถไฟแห่งประเทศไทย วงเงิน 95.40 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย 8 สายทาง จำนวน 82.30 ล้านบาท และโครงการรถไฟสายสีแดง จำนวน 13.10 ล้านบาท
- การชำระต้นเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน จำนวน 175 ล้านบาท
- การเบิกจ่ายเงินกู้ 960 ล้านบาท จากสัญญาเงินกู้วงเงิน 2,040 ล้านบาท ที่ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2557 ซึ่งเป็นการกู้เงินบาททดแทนเงินกู้จากธนาคารโลกเพื่อใช้ในโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL)
1.2 หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 27.91 ล้านบาท เกิดจากการชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระยะที่สองฯ (FIDF 3) โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่ได้รับจากการโอนสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์
1.3 หนี้เงินกู้ล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า
2. หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน
2.1 หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน
2.1.1 หนี้ต่างประเทศ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 2,505.65 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทลดลง 2,053.89 ล้านบาท ประกอบกับการเบิกจ่ายและชำระคืนหนี้สกุลเงินต่างๆ ทำให้ยอดหนี้คงค้างในสกุลเงินบาทลดลง 451.76 ล้านบาท
2.1.2 หนี้ในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง จำนวน 587.70 ล้านบาท เนื่องจาก
- การเคหะแห่งชาติไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนด 1,000 ล้านบาท
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนด 1,000 ล้านบาท
- การรถไฟแห่งประเทศไทยออกพันธบัตร 700 ล้านบาท
- รัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายจากแหล่งเงินกู้ จำนวน 712.30 ล้านบาท
2.2 หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน
2.2.1 หนี้ต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 1,120.62 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทลดลง 422.74 ล้านบาท ประกอบกับการเบิกจ่ายเงินและชำระคืนหนี้สกุลเงินต่างๆ ทำให้ยอดหนี้คงค้างในสกุลเงินบาทลดลง 697.88 ล้านบาท
2.2.2 หนี้ในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 1,578.80 ล้านบาท เนื่องจาก
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไถ่ถอนพันธบัตร 90 ล้านบาท
- รัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ น้อยกว่าชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 1,488.80 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายเงินกู้ 237.27 ล้านบาท และชำระคืนต้นเงินกู้ 1,726.07 ล้านบาท
3. หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน)
3.1 หนี้ต่างประเทศ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 38.71 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 3.81 ล้านบาท ประกอบกับการเบิกจ่ายเงินและชำระคืนหนี้สกุลเงินต่างๆ ทำให้ยอดหนี้คงค้างในสกุลเงินบาทลดลง 42.52 ล้านบาท
3.2 หนี้ในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 2,610 ล้านบาท เนื่องจาก
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรออกพันธบัตร 50,000 ล้านบาท และชำระคืนต้นเงินตามสัญญาเงินกู้ 51,010 ล้านบาท
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนด 1,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากพิจารณาในรูปเงินบาท หนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) หลังทำการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน จำแนกเป็นสกุลเงินต่างๆ
4. หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ
หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง จำนวน 1,490.40 ล้านบาท เนื่องจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเบิกจ่ายจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ มากกว่าชำระคืนต้นเงินกู้ โดยเป็นการเบิกจ่ายเงินกู้ 0.82 ล้านบาท และชำระคืนต้นเงินกู้ 1,491.22 ล้านบาท
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 มีจำนวน 5,626,390.17 ล้านบาท ซึ่งหากแบ่งประเภทหนี้สาธารณะคงค้างเป็นหนี้ต่างประเทศ-หนี้ในประเทศ และหนี้ระยะยาว-หนี้ระยะสั้น มีรายละเอียด ดังนี้
หนี้ต่างประเทศและหนี้ในประเทศ หนี้สาธารณะคงค้าง จำนวน 5,626,390.17 ล้านบาท แบ่งออกเป็น หนี้ต่างประเทศ 354,972.09 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.31 และหนี้ในประเทศ 5,271,418.08 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.69 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
หนี้ระยะยาวและหนี้ระยะสั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- หนี้ระยะยาวและหนี้ระยะสั้น (แบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน) หนี้สาธารณะคงค้าง จำนวน 5,626,390.17 ล้านบาท แบ่งออกเป็น หนี้ระยะยาว 5,488,783.11 ล้านบาท หรือร้อยละ 97.55 และหนี้ระยะสั้น 137,607.06 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.45 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
- หนี้ระยะยาวและหนี้ระยะสั้น (แบ่งตามอายุคงเหลือ) หนี้สาธารณะคงค้าง จำนวน 5,626,390.17 ล้านบาท แบ่งออกเป็น หนี้ระยะยาว 5,006,972.20 ล้านบาท หรือร้อยละ 88.99 และหนี้ระยะสั้น 619,417.97 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.01 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โทร. 0 2265 8050 ต่อ 5512,5522