จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าในเรื่องของทางปฏิบัติเป็นเรื่องของ ครม. ของกระทรวงพลังงานที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องของการดำเนินการต่อไปให้ถูกต้อง เพียงพอและไม่ให้ประสบปัญหาในเรื่องของวิกฤตด้านพลังงานในอนาคต สอดคล้องกับการออกมาระบุแก่สื่อมวลชนก่อนหน้านั้นว่าการเตรียมพลังงานสำรองถือเป็นเรื่องดี เพราะหากไม่สามารถใช้พลังงาน ทั้งไฟฟ้าและก๊าซ ที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้ ก็ยังมีพลังงานในประเทศสำรองไว้ใช้ การได้มาของพลังงานสำรองจากการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ก็จะสอดคล้องกับสัมปทานที่รัฐบาลเคยดำเนินการมาในอดีต ที่ขณะนี้ก็ทยอยที่จะหมดสัมปทานแล้วนั้น
ทั้งนี้จากการอภิปรายและให้ความเห็นเพิ่มเติมของนายวิบูลย์ คูหิรัญ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน และอดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคระบุว่ามีความกังวลใจว่าก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยจะมีเพียงพอถึง 10 ปีหรือไม่ เพราะตอนนี้ ปตท. ก็ได้ตั้งโรงงานแปรรูปก๊าซ LNG ซึ่งแพงกว่าก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในปัจจุบันเกือบ 2 เท่า ซึ่งอาจจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นในอนาคต แม้จะหนีไปใช้พลังงานทดแทนอย่างโซลาร์เซลล์ก็ยังจะไม่เพียงพอ เพราะจะต้องมีกำลังสำรองไว้ซึ่งหากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยิ่งอาจจะถูกประชาชนต่อต้านได้
ดังนั้นจึงคิดว่าควรมีการประมูลรอบที่ 21 นี้ เพียงแต่ว่าควรใช้ระบบอะไรในการประมูล ซึ่งมีการพูดอยู่ 2 ระบบในขณะนี้คือ 1.แบบสัมปทานที่ใช้กันอยู่ เพียงแต่ครั้งนี้มีการปรับปรุงสัญญาให้เป็นแบบ “ระบบไทยแลนด์ทรีพลัส” (Thailand (III) Plus) ซึ่งจะให้ผลประโยชน์แก่รัฐมากกว่าเดิม และ 2. การใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract - PSC) และประเทศยังเป็นเจ้าของทรัพยากร ซึ่งจะต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลผลประโยชน์ แต่แนวทางนี้มีปัญหาก็คือจะต้องเร่งออกกฎหมายที่จะใช้กับระบบ PSC ทั้งนี้ในการที่จะหาบุคคลากรที่มีความรู้ในการเข้าไปดูแลข้อมูลและผลประโยชน์นั้น ควร Recruit คนที่มีความรู้และประสบการณ์เข้ามาทำหน้าที่ เช่นจาก ปตท. หรือ ปตท.สผ. แต่อาจจะมีอุปสรรคเนื่องจากค่าตอบแทนให้แก่บุคคลากรที่มีประสบการณ์เหล่านี้ของภาคเอกชนนั้นสูงกว่าภาครัฐกว่า 10 เท่า
จึงขอเสนอว่าเพื่อให้ทันต่อความต้องการด้านพลังงานของประเทศ ก็ควรให้มีการประมูลแบบ Thailand (III) Plus หรือการสัมปทานโดยมีเงื่อนไขเข้าไปด้วยว่าจะต้องให้คณะทำงานที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเข้าไปดูแลข้อมูลและผลประโยชน์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดด้วย รวมทั้งมีการจ้างที่ปรึกษาภายนอกเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและให้คำแนะนำแก่คณะทำงาน โดยเมื่อได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และมีประสบการณ์ควบคู่กับการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม แล้วในอนาคตก็จะสามารถใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตได้ รวมทั้งในโอกาสที่รัฐบาลไทยมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลกัมพูชาอย่างในขณะนี้นั้น ก็ควรเร่งให้มีการเปิดโต๊ะเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ด้านปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงในบริเวณนั้นด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit