จากผลการศึกษาของบริษัท เฮย์กรุ๊ป พบว่า บริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำจะใช้วิธีการที่มีระเบียบแบบแผน เพื่อช่วยผู้นำในการพัฒนาและเติบโตขึ้นภายในองค์กร โดยร้อยละ 80 ของบริษัทที่ติด 20 อันดับแรก มีการกำหนดทางเดินสายอาชีพที่ชัดเจนให้แก่พนักงาน ขณะที่องค์กรอื่นๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพียงร้อยละ 48 เท่านั้น โดยบริษัทที่ติด 20 อันดับแรกเหล่านี้จะมีการพัฒนาด้านการเติบโตในสายอาชีพให้แก่บุคลากรที่มีศักยภาพสูงที่ล้ำหน้ากว่าองค์กรอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรมีบุคลากรที่ใช่และมีทักษะที่เหมาะสม สามารถมาทดแทนตำแหน่งที่สำคัญในอนาคตได้
รูธ มัลลอย กรรมการผู้จัดการฝ่าย Leadership and Talent ของบริษัท เฮย์กรุ๊ป และหนึ่งในผู้นำในการสำรวจบริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำ กล่าวว่า “ผลการศึกษาในปีนี้ชี้ให้เห็นว่า บรรดาองค์กรชั้นนำต่างๆ ของโลก ต่างมุ่งพัฒนาผู้นำที่จะสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรม รวมถึงสามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรของพวกเขาให้ดีขึ้นได้ องค์กรเหล่านี้มีการกำหนดทางเดินสายอาชีพในรูปแบบใหม่ๆ และมีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการอบรมบุคลากรที่มีศักยภาพสูง ให้พร้อมรับกับความท้าทายทางธุรกิจ อีกทั้งยังมีการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรประสบความสำเร็จ ท่ามกลางโลกธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในปัจจุบัน”
บริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำ ไม่เพียงแต่กำหนดเส้นทางสู่ความเป็นผู้นำที่ชัดเจนและมีความหลากหลายให้กับพนักงานเท่านั้น แต่บริษัทเหล่านี้ยังมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาผู้นำที่มีความหลากหลาย โดยพบว่าบริษัทที่ติด 20 อันดับแรก มีการอบรมพิเศษด้านการพัฒนาความเป็นผู้นำสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะถึงร้อยละ 50 ขณะที่บริษัททั่วไปมีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการอบรมพนักงานในหลายกลุ่มงานถึงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับองค์กรอื่นๆ ที่มีเพียงร้อยละ 11 ในขณะเดียวกัน ก็มีการอบรมพนักงานในทุกระดับชั้น (ร้อยละ 83 เมื่อเทียบกับองค์กรอื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 57) จะเห็นได้ว่าผู้นำระดับสูงในบริษัท 20 อันดับแรก จะมีความหลากหลายมากกว่าบริษัททั่วไป คิดเป็นร้อยละ 68 (เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 53) โดยความหลากหลายของผู้นำระดับสูง จะสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของพนักงานด้วย
ธันวา จุลชาต Country Manager แผนก Productized Services บริษัท เฮย์กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า “เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลทั่วโลกพบว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความโดดเด่นในเรื่องความเสมอภาคทางด้านความเป็นผู้นำระหว่างชายและหญิงมากที่สุด จะเห็นได้ว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้นำหญิงที่มีความสามารถ ได้รับการยอมรับให้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในองค์กรชั้นนำต่างๆ มากมาย ในขณะเดียวกัน ส่วนที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาก็คือ การจัดการบุคลากรที่มีศักยภาพ (Talent Management) จากข้อมูลพบว่า องค์กรที่มีจำนวนบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพียงพอกับตำแหน่งผู้นำในทุกระดับมีเพียงร้อยละ 41 และองค์กรที่สามารถระบุได้ว่าบุคลากรในองค์กรคนใดมีศักยภาพเพียงพอกับการดำรงตำแหน่งผู้นำในอนาคต มีเพียงร้อยละ 53 เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงในบางองค์กรยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากร โดยเฉพาะตำแหน่งผู้นำในอนาคตเท่าที่ควร ส่งผลให้ต้องสูญเสียพนักงานที่มีศักยภาพไปอย่างน่าเสียดาย นับเป็นปัญหาที่องค์กรต่างๆ จำต้องให้ความสำคัญ มีการวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบ และจัดการแก้ไขอย่างจริงจัง ก่อนที่จะสายเกินไป”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit