อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวและย้ำว่า โรคทางจิตเวชทุกโรค รักษาได้ เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ยิ่งเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ ยิ่งดี เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยต้องกินยา หรือฉีดยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ อย่างไร ก็ตาม ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้ตามปกติ ทั้งนี้ เรื่องที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ปัญหาการขาดยา หรือการลดยา รวมถึงการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการทางจิตขั้นรุนแรง ญาติจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบว่า ผู้ป่วยนอนไม่หลับ หงุดหงิด มีความคิดแปลกๆ ก้าวร้าว วิตกกังวล หวาดกลัว ฉุนเฉียวง่าย ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ หรือโทร.ปรึกษา สายด่วน 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
การดูแลรักษาคนไข้ทางจิตที่ดี คือ ต้อง 3 ประสาน ได้แก่ โรงพยาบาล ครอบครัวและชุมชน โดย ครอบครัวและชุมชนต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย ให้การยอมรับ และให้โอกาสกับพวกเขา ทั้งนี้ อาจมองว่า ในช่วงที่ผ่านมา มักเห็นภาพการก่อคดีของผู้ป่วยจิตเวชอยู่บ่อยครั้ง ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลง รู้สึกหวาดกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งต้องบอกว่า ปัญหาการกระทำผิดรุนแรงที่เกิดจากการเจ็บป่วยทางจิตหรือผู้ป่วยนิติจิตเวชนั้น เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการกระทำความผิดจากบุคคลที่สภาพจิตปกติ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยจิตเวชทั่วไปหรือผู้ป่วยนิติจิตเวช โรคจิตเภท ยังคงเป็นโรคทางจิตที่พบมากที่สุด ดังนั้น การมีโอกาสเข้าถึงบริการด้านการรักษาอย่างต่อเนี่อง ตลอดจน การดูแลเอาใจใส่จากบุคคลในครอบครัว ย่อมส่งผลให้อาการป่วยทางจิต ดีขึ้น การเปิดบ้านหลังคาแดง และพิพิธภัณฑ์จิตเวชแห่งแรกของประเทศไทยครั้งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการให้สังคมภายนอกได้เห็นถึงศักยภาพของผู้ป่วย ที่พร้อมกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมเหมือนกับบุคคลทั่วไป สามารถอยู่ในชุมชนและสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี พึ่งพาตนเองได้ และเป็นภาระต่อผู้อื่นน้อยที่สุด ตลอดจนมุ่งหวังใช้เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในด้านจิตเวชศาสตร์มากขึ้น เพื่อช่วยเปิดมุมมองเกี่ยวกับผู้ป่วยและเห็นถึงความสามารถและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน นพ.สินเงิน สุขสมปอง ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคจิตเภท (Schizophrenia) มีสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ ความผิดปกติของสมอง ความเครียด หรือการใช้สารเสพติด โดยกลุ่มผู้ป่วย จะมีอาการรุนแรงค่อนข้างมากในแง่ของการรับรู้ตัวเอง และรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบข้าง ความคิดผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง เช่น มีอาการหลงผิด คิดว่าคนอื่นจะมาทำร้าย ระแวงว่าตนจะถูกวางยาพิษ คิดว่าตนส่งกระแสจิตได้ เป็นผู้วิเศษมีอิทธิฤทธิ์เหนือคนธรรมดา ฯลฯ มีอาการประสาทหลอน เช่น หูแว่ว ได้ยินเสียงคนมาสั่งให้ทำโน่นทำนี่ ได้ยินคน มาพูดคุยกับตน มาเตือน หรือมาตำหนิในเรื่องต่างๆ ทั้งๆ ที่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น รวมทั้ง เห็นภาพหลอน นอกจากนี้ อาจมีอาการวิตกกังวล สับสน เก็บตัว ซึม แยกตัวจากสังคม บางครั้ง นั่งนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวไม่พูดจาใดๆ เป็นชั่วโมงๆ หรืออาจเคลื่อนไหวช้า ทำอะไรช้าๆ มีพฤติกรรมแปลกๆ อยู่ตลอดเวลา หรือ ไม่ดูแลตัวเอง ไม่สนใจเรื่องการแต่งกาย ไม่มีความคิดริเริ่ม เฉื่อยชาลง ไม่ทำงาน นั่งเฉยๆ ได้ทั้งวัน ผลการเรียนหรือการทำงานตกต่ำ พูดน้อย ใช้เวลานานกว่าจะตอบ พูดจาไม่รู้เรื่อง เนื้อความไม่ปะติดปะต่อกัน ไร้อารมณ์ มักมีสีหน้าเฉยเมย ไม่มีอาการยินดียินร้าย สีหน้าอารมณ์เฉยเมย ชีวิตไม่มีจุดหมาย ไม่มีสัมพันธภาพกับใคร ไม่พูด ไม่มีอาการยินดียินร้าย ฯลฯ
ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวต่อว่า ทั่วโลก จะพบโรคจิตเภทในประชากร ประมาณ ร้อยละ 1 แม้ว่าความชุกของโรคจะค่อนข้างต่ำแต่การเจ็บป่วยเรื้อรังส่งผลให้เกิดภาวะทุพพลภาพในระยะยาว และมักพบในวัยทำงานมากสุดทั้งเพศชายและหญิง ปัจจุบัน สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยามีผู้ป่วยนอกจิตเวชเข้ารับบริการรักษามากกว่า 1 แสนรายต่อปี ล่าสุด มีจำนวน 111,761 ราย มีผู้ป่วยในจิตเวช จำนวน 4,182 ราย ป่วยเป็นโรคจิตเภทมากที่สุดซึ่งมีมากกว่า ร้อยละ 50 ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน พบในผู้ป่วยนอก จำนวน 58,422 ราย (ร้อยละ 52.27) และพบในผู้ป่วยใน จำนวน 2,247 ราย (ร้อยละ 53.73) ทั้งนี้ การรักษาผู้ป่วยมี 3 วิธีหลัก ได้แก่ 1.การใช้ยา 2.การรักษาโดยใช้จิตบำบัด ซึ่งเป็นการพูดคุยให้กลุ่มผู้ป่วยได้วิเคราะห์กลับมาดูตัวเขาเอง และ 3.การบำบัดทางสังคมสิ่งแวดล้อม โดยจัดกิจกรรมกลุ่มให้ผู้ป่วยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน นำไปสู่การมีพฤติกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมทั้งฝึกทักษะทางสังคม เช่น รู้จักการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น รู้วิธีการสื่อสารที่ดีเพื่อไม่ให้มีการขัดแย้งเกิดขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยทางจิตจะได้รับการรักษาทั้ง 3 วิธี ควบคู่กันไป และเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยจะต้องกินยา หรือฉีดยาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งยาจะช่วยควบคุมอาการและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลับเข้าสู่สังคมได้ ดูแลตนเองและทำงานได้
หากมีผู้ป่วยจิตเภทอยู่ในบ้าน ต้องพยายามทำความเข้าใจ อดทน ไม่รังเกียจ ให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธผู้ป่วย ไม่ควรขัดแย้งหรือโต้เถียงกับผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางจิต แต่ควรแสดงความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับจากอาการทางจิตเหล่านั้น รวมทั้ง คอยอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ ช่วยดูแล ประคองให้กลับสู่โลกของความเป็นจริง ที่สำคัญ ต้องให้การดูแลเรื่องการกินยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรเพิ่ม หยุด หรือลดยาเอง ดูแลสุขภาพอนามัย พาไปพบแพทย์ตามนัด หากพบผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ดูสับสน วุ่นวาย ดื้อ ไม่ยอมกินยา ไม่ยอมมาพบแพทย์ ควรรีบปรึกษาแพทย์ ตลอดจน หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วย เช่น พูดพร่ำ พูดเพ้อเจ้อ พูดคนเดียว เอะอะ อาละวาด หงุดหงิด ฉุนเฉียว หัวเราะ หรือยิ้มคนเดียว เหม่อลอย หลงผิด ประสาทหลอน หวาดกลัว ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้จักช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ซักผ้า ช่วยทำงานบ้านอย่างง่ายๆ รดน้ำต้นไม้ ถูบ้าน ล้างชาม หรือให้ประกอบอาชีพเดิมที่เคยทำอยู่ตามความสามารถของผู้ป่วย เช่น ค้าขาย ทำสวน หรือประกอบบอาชีพใหม่ใกล้บ้านตามความสนใจและตามความถนัด ตลอดจนจัดหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำ โดยเฉพาะในเวลากลางวัน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยคิดมากและ ฟุ้งซ่าน ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit