นางประภัสสร โพธิ์ศรีทอง นักวิชาการอิสระศึกษาวิจัยด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมไทย ผู้รณรงค์ให้หอสมุดแห่งชาติ มีการพัฒนาระบบการให้บริการออนไลน์เอกสารโบราณของหอสมุดแห่งชาติ เพื่อลดปัญหาการเสื่อมสภาพของเอกสารต้นฉบับ และการเข้าถึงข้อมูลการเรียนรู้ที่เปิดกว้างเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ ผ่าน www.change.org/online-library กล่าวว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคมนี้ เวลา 15.00 น. ทางทีมรณรงค์จะมีการยื่นรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนการรณรงค์กว่า 10,000 รายชื่อ และความเห็นผู้ลงชื่อสนับสนุน ต่อนายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมข้อเสนอในการพัฒนาการให้บริการเอกสารโบราณทั้งในส่วนหอสมุดแห่งชาติ รวมถึงหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่มีผู้ร่วมรณรงค์เสนอมาด้วย
นางประภัสสร กล่าวว่า ในฐานะที่ทำงานด้านการวิจัยทางประวัติศาสตร์ ทำให้ต้องไปใช้บริการแผนกเอกสารโบราณของหอสมุดแห่งชาติอยู่บ่อยครั้ง และได้พบปัญหาการให้บริการที่สั่งสมมายาวนาน ซึ่งเพื่อนนักวิชาการและนักศึกษาในสถานศึกษาต่างๆ ก็พูดให้ฟังถึงความไม่ประทับใจในการใช้บริการ โดยปัญหาใหญ่ที่พบ เช่น การนำเอกสารโบราณต้นฉบับอายุเก่ากว่าร้อยปีที่มีเพียงฉบับเดียวออกมาให้บริการโดยไม่ทำหลักการสากลว่าด้วยการให้บริการเอกสารโบราณ เอกสารจึงเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพได้
“โดยเฉพาะสมุดไทยดำที่เขียนด้วยดินสอขาวที่มีลักษณะเป็นผงฝุ่น ซึ่งหากถูกสัมผัส ข้อความก็จะเลอะเลือนได้ง่าย ทำให้ข้อความที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สูญหายไป รวมถึง ระบบการสืบค้นเอกสารล้าสมัยไม่ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการเช่นห้องสมุดที่ดีทั่วไป ผู้รับบริการต้องมานั่งเปิดสมุดบัญชีรายการเอกสารที่หอสมุดแห่งชาติทั้งวัน แล้วต้องจดบันทึกด้วยมือเท่านั้น เพราะไม่มีระบบออนไลน์ที่เข้าถึงได้ ทำให้เสียทั้งเงินและเวลาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่ต้องมาใช้บริการจากต่างจังหวัด”
ดังนั้น ดิฉันจึงขอเรียกร้องให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานของหอสมุดแห่งชาติ ช่วยพัฒนาระบบการให้บริการออนไลน์ เอกสารโบราณของหอสมุดแห่งชาติ โดยกำหนดระเบียบการเข้าถึงเอกสารต้นฉบับให้ชัดเจนและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดทันที และเร่งจัดทำระบบการสืบค้นเอกสาร โดยนำสมุดบัญชีรายการเอกสารทั้งหมดไปทำเป็นเอกสารอิเลคทรอนิคส์ เช่น สแกนเป็นไฟล์ PDF แล้วให้บริการผ่านเว็บไซต์เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
“การตัดสินใจเริ่มการรณรงค์ของดิฉันในครั้งนี้ ก็เพื่อให้เอกสารโบราณซึ่งเป็นมรดกของชาติได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม และเพื่อให้คนไทยทุกคนทุกระดับได้รับโอกาสและความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อเรียนรู้เรื่องราวของชาติ ของท้องถิ่นตัวเองแม้จะอยู่ในจังหวัดที่ห่างไกลก็ตาม หากมีการจัดระบบให้เข้าถึงเอกสารโบราณออนไลน์ได้ ก็จะช่วยทลายกำแพงที่กักขังข้อมูลอันมีคุณค่าทางวิชาการลง ช่วยให้มีการค้นคว้าอย่างกว้างขวาง จึงอยากให้ผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบดำเนินตามข้อเรียกร้องโดยเร็ว” นางประภัสสร กล่าว
ขณะที่ผู้ลงชื่อได้มีการสนับสนุนการรณรงค์เรื่องนี้จำนวนมาก อาทิ สมหมาย ตามประวัติ ขอนแก่น ระบุว่า เนื่องจากเอกสารโบราณเป็นเอกสารต้นฉบับที่มีความสำคัญยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดีของชาติ ซึ่งสมควรนำมาเผยแพร่ให้คนในชาติได้รับรู้และเรียนรู้ซึ่งหอสมุดแห่งชาติสมควรให้มีการให้บริการทางออนไลน์เพื่อเป็นการรักษาต้นฉบับให้อยู่คงทนและเพื่อให้ความรู้ด้านนี้ได้มีการศึกษากันอย่างสะดวกและกว้างขวางยิ่งขึ้น
ขณะที่ นิศาชล จำนงศรี นครราชสีมา ระบุว่า บริการออนไลน์จะช่วยให้การเข้าถึงเอกสารโบราณทำได้ง่ายขึ้นและกว้างขวางขึ้น ทำให้เอกสารโบราณกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของชาติให้ยังคงอยู่กับสังคมไทยต่อไปอย่างยั่งยืน
กรกิจ ดิษฐาน กรุงเทพฯ กล่าวว่า เอกสารโบราณเสื่อมสลายง่าย ควรทำระบบดิจิตัลไว้ ไม่เพียงให้คนไทยเท่าถึงมรดกของชาติเท่านั้น แต่ยังให้ชาวโลกได้ช่วยกันรักษาช่วยกันชื่นชมมรดกเหล่านั้นและที่สำคัญเป็นการประกาศให้ชาวโลกได้รู้ว่าเมืองไทยเรารมีมรดกทางวิชาการมากมาย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit