ทีม Magnetic Train มีสมาชิกกลุ่ม 5 คน ได้แก่ นายชนาธิป เอนกสิทธิกิจ, นายสรวิชญ์ เสริมเจริญกิจ, นายเจตนิพิฐ เรื่องนิติวิทย์, นายธนภัทร ณัฏฐาโรจน์ และนายเมธัส อัญชลีกรณีย์ ร่วมกันคิดค้นโครงงาน โดยนำแนวคิดจากประเทศเยอรมนีมาประยุกต์ ซึ่งรถไฟพลังงานแม่เหล็ก มีข้อดีคือ ไม่เป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีแรงเสียดทาน ช่วยลดภาวะขาดแคลนพลังงาน ลดการใช้พลังงานถ่านหินและลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย
นายธนาธิป เสริมเจริญกิจ นักเรียนชั้น Year 12 A หนึ่งในสมาชิกทีม Magnetic Train โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา เปิดเผยว่า โครงงานรถไฟพลังงานแม่เหล็ก มีแนวคิดที่ต้องการช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและลดพลังงานถ่านหิน ได้นำแนวคิด รถไฟพลังงานแม่เหล็กของประเทศเยอรมนีมาปรับใช้ โดยมีข้อแตกต่างจากต้นแบบคือ วัสดุแม่เหล็กที่นำมาใช้ เป็นแม่เหล็กถาวร ไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน วัสดุที่ใช้หาซื้อได้แถวคลองถม ราคาตัวละ 8 บาท 500 ตัว นำมาทำเป็นต้นแบบ คิดว่าโครงงานนี้ สามารถที่จะลงทุนทำในประเทศไทยได้ สำหรับทฤษฎีการทำงานของแม่เหล็ก คือ เมื่อขั้วแม่เหล็กเหมือนกันจะผลักกัน ขั้วต่างกันจะดึงดูดกัน ซึ่งหลักการใช้ขั้วเดียวกันนี้ เมื่อนำแม่เหล็กถาวรมาติดที่ใต้ราง และใต้รถไฟ ทำให้แรงแม่เหล็กผลักกัน ส่วนมอเตอร์ที่ใส่ลงไปนั้นมีพัดลม ช่วยทำให้รถไฟพลังแม่เหล็กเคลื่อนที่โดยไม่มี แรงเสียดทาน
อาจารย์ปราณี เนตรไธสงค์ หัวหน้าหมวดวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา เปิดเผยว่า งานสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์ 2557 จัดโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์มีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนมีความสนใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้น และรู้จักนำวิทยาศาสตร์ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมนักเรียนให้มีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้ และสนุกกับการเรียนรู้ ส่งเสริมให้นักเรียนได้นำเสนอผลงานตนเอง และกล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะการเรียนรู้ของนักเรียนไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว นักเรียนควรแสวงหาความรู้และประสบการณ์จริงจากภายนอกห้องเรียนควบคู่ไปด้วย
ผลการจัดงานในปีนี้ ค่อนข้างพอใจโครงงานของนักเรียน เพราะเด็กได้มีส่วนร่วมทุกคน จากจุดแรกเราให้เด็กเลือกด้วยตัวเขาเองว่า จะเลือกด้านไหน อย่างมัธยมศึกษาตอนต้นปีนี้ ห้องที่เคยได้คะแนนวิทยาศาสตร์รั้งท้าย กลับทำโครงงานได้ดี ทำการทดลองได้ครบกระบวนการ โครงงานในช่วงแรกๆจะเน้นที่ปริมาณโครงงาน เพราะต้องการให้เด็กได้ทำโครงงานทุกคน เมื่อเด็กได้ทำโครงงานก็จะผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เด็กก็จะได้แนวความคิดที่กว้างขึ้น โครงงานจึงมีการพัฒนาในเชิงคุณภาพมากขึ้นไปด้วย
“ครูวิทยาศาสตร์มีบทบาทในการพัฒนาสังคมมาก ควรส่งเสริมภาควิชาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่มีบทบาทในการผลิตครู ซึ่งปัจจุบันผลิตครูวิทยาศาสตร์ได้น้อย เพราะมีคนเรียนไม่มาก จากเป็นเพราะค่านิยมของคนไทยที่คิดว่าอาชีพครูมีผลตอบแทนน้อย ดังนั้นเด็กเก่งที่สุด จึงไม่เลือกเรียนศึกษาศาสตร์ ครูที่มาสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนจึงมักมาจากสาขาอาชีพอื่น ปัจจุบันเด็กที่เก่งมักถูกสนับสนุนให้ไปเรียนแพทย์ เรียนวิศวะ ต่างกับรัฐบาลสิงคโปร์ที่มีการสนับสนุนคัดคนเก่งที่สุดให้ไปเรียนครู เพื่อให้มีบุคลากรมาถ่ายทอดวิชาความรู้นั้นต่อไป ซึ่งครูที่สิงคโปร์จะได้ผลตอบแทนสูงมาก ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องช่วยกันผลิตครูที่มีความสามารถ เพื่อที่จะช่วยสอนเด็กเก่งให้มีจำนวนมากยิ่งขึ้น” อาจารย์ปราณี กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit