GL ทุ่ม 1,500 ล้านบาทเทคโอเวอร์ธนบรรณรุกตลาดเช่าซื้อเต็มที่

18 Jun 2014
บมจ.กรุ๊ปลีส หนึ่งในผู้นำผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ รุกใหญ่ธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และสินเชื่อเพื่อรายย่อย ทุ่มเงิน 1,500 ล้านบาท ซื้อกิจการทั้งหมดของบริษัทธนบรรณจากธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ในเครือไทยประกันชีวิต ขยายฐานสินเชื่อเช่าซื้อครั้งใหญ่ ดันยอดรวมเพิ่มกว่า 30% ทะลุ 6,200 ล้านบาท

นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL หนึ่งในผู้นำผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เปิดเผยว่า การซื้อกิจการของธนบรรณครั้งนี้ นับเป็นก้าวย่างทางยุทธศาสตร์ซึ่งมีนัยสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสนับสนุนธุรกิจของ GL ให้ขยายตัวต่อเนื่องในอนาคตระยะยาว โดยผู้บริหารของ GL และผู้บริหารของธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทธนบรรณ ได้ลงนามข้อตกลงสัญญาการซื้อขายกิจการ ซึ่งจัดขึ้นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเช้าวันนี้ (18 มิ.ย. 2557)

ทั้งนี้ การซื้อกิจการธนบรรณในครั้งนี้ ถือเป็นจังหวะเวลาที่มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของ GL กำลังปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก หลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนในหลายด้านเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ซึ่งเอื้อประโยชน์โดยตรงต่อลูกค้าของ GL และในขณะเดียวกัน ธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของ GL ในประเทศกัมพูชา ก็รุดหน้าขยายตัวในอัตราก้าวกระโดด ซึ่งปัจจัยทั้ง 2 ด้านนี้ จะช่วยเกื้อหนุนให้ผลประกอบการของบริษัทฯ ในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมาก

สำหรับข้อตกลงซื้อกิจการของธนบรรณในครั้งนี้ GL จะรับโอนยอดสินเชื่อทั้งหมดของธนบรรณเป็นมูลค่ารวม 1,500 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และอีกส่วนเป็นสินเชื่อเพื่อรายย่อย โดยหากนำสินเชื่อของธนบรรณมารวมเข้ากับพอร์ตสินเชื่อของ GL เอง ที่ปัจจุบันมียอดอยู่ประมาณ 4,700 ล้านบาท จะทำให้ยอดสินเชื่อรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นกว่า 30% หรือเป็นยอดรวม 6,200 ล้านบาท

นายมิทซึจิ กล่าวชี้แจงว่า การซื้อขายกิจการธนบรรณครั้งนี้ นับเป็น Win-Win สำหรับทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อยสามารถขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ในขณะที่ GL เอง ไม่เพียงแต่สามารถขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แล้ว ยังสามารถใช้ฐานข้อมูลและเครือข่ายลูกค้าของธนบรรณในการขยายตลาดเข้าสู่ธุรกิจรถจักรยานยนต์แลกเงินสด และสินเชื่อรถจักรยานยนต์มือสอง ที่มีมาร์จินการทำกำไรสูงกว่าธุรกิจเช่าซื้อ

“สำหรับ GL เอง การซื้อกิจการครั้งนี้ ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจเชิงรุก โดยปกติแล้ว เราต้องลงทุนเป็นอย่างมากในการสร้างพอร์ตสินเชื่อที่มีขนาดใหญ่เท่ากับธนบรรณ แต่ในกรณีนี้ เราควบรวมพอร์ตสินเชื่อของธนบรรณมูลค่า 1,500 ล้านบาท โดยไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่าย” นายมิทซึจิ กล่าวชี้แจง

นายมิทซึจิ อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลประโยชน์ที่เด่นชัดอีกส่วนหนึ่งสำหรับ GL คือโอกาสการขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยในต่างจังหวัด โดยอาศัยฐานข้อมูลและเครือข่ายลูกค้าของธนบรรณ เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจที่มองว่า ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยในประเทศไทยมีศักยภาพขยายตัวได้อย่างมหาศาล แถมยังมีมาร์จินการทำกำไรที่สูงกว่า

GL ได้รายงานตัวเลขกำไรสุทธิในไตรมาส 1/57 ที่ผ่านมา ที่ลดต่ำลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากจำเป็นต้องตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญในเกณฑ์สูงมาก อันเป็นผลจากการผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้าภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง แต่บริษัทฯ มั่นใจว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ ต่อจากนี้ไปจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสภาพตลาดได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของ GL โดยตรง หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เนื่องจากขณะ คสช. ได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ทั้งนี้ จากสภาพตลาดโดยรวมที่ดีขึ้น จะส่งผลโดยตรงต่อผลประกอบการของบริษัทฯ แถมยังมีปัจจัยสนับสนุนพิเศษจากการซื้อกิจการธนบรรณที่ช่วยขยายฐานสินเชื่อให้โตขึ้นอย่างมากอีกด้วย

ทั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย ตกลงที่จะปฏิบัติกับพนักงานทั้งหมดกว่า 400 คนของธนบรรณเป็นอย่างดี โดย GL จะยินดีต้อนรับพนักงานเหล่านี้เข้าสู่ GL ทั้งหมด

ในขณะเดียวกัน ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ได้ปรับนโยบายเป็นธนาคารเฉพาะทางให้ความสำคัญไปที่ธุรกิจรายย่อยของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 นับตั้งแต่นั้นมูลค่าสินเชื่อในส่วนของธุรกิจขนาดเล็กได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ทางธนาคารยังได้ขยายกำลังคน และสาขาออกไปทั่วประเทศเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ โดยธนาคารถือหุ้น 99.99% ในธนบรรณ ซึ่งจะขายหุ้นทั้งหมดให้กับกรุ๊ปลีสจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ธนาคารสามารถมุ่งเป้าหมายไปที่ธุรกิจหลัก

นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ธุรกรรมครั้งนี้เป็นการนำผู้นำของผู้ให้บริหารสินเชื่อรถจักรยานยนต์ชั้นนำสองแห่งมารวมกัน ซึ่งก่อให้เกิดผู้นำที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นสำหรับอนาคตของธุรกิจ เราเชื่อว่านี่เป็นโอกาสอันดีต่อลูกค้า ผู้แทนจำหน่าย และพนักงานในการเติบโตไปข้างหน้าภายใต้การบริหารของ GL ที่จะนำพาธุรกิจนี้ไปข้างหน้า

นายวิญญูกล่าวอีกว่าธนบรรณมีมูลค่าคิดเป็นประมาณ 5% ของสินทรัพย์ของธนาคาร จึงมีผลกระทบต่องบดุลของธนาคารน้อยมาก ผู้ถือหุ้นของธนาคารได้พิจารณาแล้วว่านี่เป็นโอกาสอันดีให้ทางธนาคารได้มุ่งเป้าหมายไปที่ธุรกิจรายย่อย

ทั้งนี้ธนบรรณอยู่ในธุรกิจนี้มานานกว่า 30 ปี มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับผู้แทนจำหน่าย และมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ด้วยขนาดของสินเชื่อในปัจจุบันกว่า 1,500 ล้านบาท ส่วนสินทรัพย์ของธนาคารปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 27,000 ล้านบาท