มูลค่าธุรกิจ Foodservice ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีประมาณ 126,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าตลาดใกล้เคียงกับประเทศอิตาลี ทั้งที่มีประชากรแค่ 60 ล้านคน เมื่อเทียบกับประชากร 600 ล้านคนในอาเซียน ทำให้ตลาดอาเซียนมีความน่าสนใจไม่น้อย ซึ่งสังเกตได้จากการเข้ามารุกตลาดของ Global Players มากขึ้น เช่น McDonald's เข้าไปเปิดสาขาแรกที่นครโฮจิมินห์ซิตี้ในประเทศเวียดนาม หลังจาก Yum! Brands, Burger King และ Starbucks เข้าไปตั้งแต่ปี 2540 2554 และ 2555 ตามลำดับ นอกจากขนาดของประชากรแล้ว ยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ Foodservice อาทิ
- วิถีชีวิตและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จากสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น ประชากรย้ายเข้ามาในเมืองมากขึ้นเพื่อแสวงหาโอกาสให้มีรายได้ที่มากขึ้น ทำให้มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ในขณะที่ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ทำให้การทำอาหารเอง แล้วกินทั้งครอบครัวไม่คุ้มเหมือนสมัยก่อน ผู้บริโภคจึงยอมจ่ายเงินกินอาหารนอกบ้านที่อร่อยกว่าและสบายกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ร้านอาหารยังเป็นแหล่งในการพบปะสังสรรค์พร้อมกับพักผ่อนไปในตัว ทำให้ร้านอาหารในปัจจุบันมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของคนเมือง จากข้อมูลของ UN ระบุว่า Urbanization rate ของประเทศแถบนี้ยังค่อนข้างต่ำ (45% ในอาเซียน และ 34% ประเทศไทย) เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว (78%) ทำให้ชุมชนเมืองยังมีโอกาสเติบขึ้นอีกมาก โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา มีประชากรอาเซียนย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้นเกือบ 30 ล้านคน โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่มีประชากรย้ายเข้ามาอยู่ในตัวเมืองถึง 9 ล้านคน
- พฤติกรรมนิยมทานอาหารนอกบ้าน อ้างอิงข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ ประชากรอาเซียนนิยมในการใช้จ่ายกับร้านอาหารมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่นิยมในการใช้จ่ายกับร้านอาหารมากเป็นอันดับสองในโลก
- ประชากรยังอายุน้อยมาก โดยกว่าครึ่งของประชากรในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม มีอายุน้อยกว่า 30 ปี และ ฟิลิปปินส์มีประชากรที่มีอายุน้อยกว่า 14 ปี ถึง 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งโดยปกติแล้วประชากรที่อายุน้อยจะเปิดรับวัฒธรรมอาหารใหม่ๆ และเข้าถึงเทคโนโลยีได้ดีกว่า ทำให้ธุรกิจ Foodservice ต่างชาติสามารถใช้การตลาดสมัยใหม่ เช่น โซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้ดีกว่าในขณะที่ลูกค้าก็เปิดใจยอมรับมากกว่า
ถ้าแบ่งธุรกิจ Foodservice ออกเป็นธุรกิจที่มีแบรนด์กับไม่มีแบรนด์ ธุรกิจ Foodservice ที่มีแบรนด์ในอาเซียนมีสัดส่วนทางการตลาดอยู่ประมาณ17% โดยเมื่อเทียบกับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น พบว่า ธุรกิจ Foodservice ที่มีแบรนด์ครองตลาดในสัดส่วนถึง 53% 37% และ 47% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า ASEAN ยังมีโอกาสให้ธุรกิจ Foodservice ที่มีแบรนด์เข้าไปเจาะตลาดได้อีกมาก โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง McDonald's และ Yum! Brands ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 และ 2 ของมูลค่าธุรกิจ Foodservice ที่มีแบรนด์ทั่วโลกในขณะนี้
5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจ Foodservice ที่มีแบรนด์สามารถเติบโตได้ดีกว่าธุรกิจที่ไม่มีแบรนด์ โดยในอาเซียน กลุ่มมีแบรนด์สามารถเติบโตได้ 8.3% ต่อปี ขณะที่กลุ่มไม่มีแบรนด์สามารถเติบโตได้ 6.3% ต่อปี ประเทศที่เติบโตดีที่สุดคือประเทศเวียดนามที่กลุ่มมีแบรนด์เติบโตเฉลี่ยถึง 27.1% ต่อปี ขณะที่กลุ่มไม่มี แบรนด์สามารถเติบโตได้ 11.2% ต่อปี ธุรกิจ Foodservice ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในอาเซียน ขณะนี้คือ Yum! Brands โดยแย่งอันดับหนึ่งมาจาก McDonald's เจ้าของแชมป์เก่าในปี 2551 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า มีไม่กี่ที่ในโลกที่ McDonald's เป็นรอง Yum! Brands และมีไม่กี่ประเทศในโลกที่ McDonald's จะเป็นรองร้านฟาสต์ฟู้ดท้องถิ่นอย่างในประเทศฟิลิปปินส์ที่ Jollibee มียอดขายสูงกว่า McDonald's กว่าเท่าตัวและช่องว่างนี้ไม่ได้มีที่ท่าว่าจะลดลง
ตลาด Foodservice ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก รวมถึงช่องว่างในตลาดยังมีอยู่มาก มีผู้เล่นจำนวนมากโดยที่ไม่มีบริษัทไหนที่จะครอบงำธุรกิจได้เลย ความต้องการของผู้ซื้อหรือผู้บริโภคนั้นมีความหลากหลาย คนกินอาหารก็ต้องการอาหารที่มีรสชาติแตกต่างกันตลอดทั้งสัปดาห์ เดือน และปี ความสามารถที่จะสนองความต้องการทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ทำให้ตลาดถูกแชร์ออกไปมากเช่นกัน ธุรกิจ Chain Restaurant ที่มีแบรนด์ที่จึงได้เปรียบ Economy of scale ซึ่งจะเห็นได้ชัดในช่วงวิกฤติ โดยร้านที่มีแบรนด์แข็งแกร่งจะฝ่ามรสุมไปได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่มีแบรนด์ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงน้ำท่วมในประเทศไทย ร้านอาหารหลายเจ้าเจอพิษเศรษฐกิจกับภัยน้ำท่วมจนธุรกิจเสียหายหนักจนกลับมาได้ยาก หรือใช้เวลานานกว่าจะกลับมาได้ ซึ่งวิกฤติเหล่านี้ก็ได้สร้างโอกาสให้กลุ่มที่มีแบรนด์เข้ามาแย่งชิงตลาดของธุรกิจ Foodservice ที่ไม่มีแบรนด์ อย่างไรก็ดี บริษัทที่มีแบรนด์ระดับโลกหลายๆที่ ต้องปรับตัว เพราะ
- การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ตัวอย่างเช่น McDonald’s มีอัตราเติบโตของยอดขายของสาขาเดิมติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี จากการรุกตลาดทั้งจาก Global Brands เช่น Burger King, Wendy และ Local Brands เช่น Jollibee, Dico’s
- ความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งบริษัทต่างชาติต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ โดยการที่จะเป็น Global Brands ได้จะต้อง Think Global, Act Local ซึ่ง Yum! Brands ได้พยายามทำมาโดยตลอด เช่น ในประเทศไทยจะมีเมนูข้าวยำ ประเทศสิงคโปร์จะเป็นข้าวมันไก่ทอด
- พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ปัจจุบัน 81% ของร้านอาหารส่วนใหญ่ในโลกนี้จะอยู่ในรูปแบบร้านที่ตั้งขึ้นมาเดี่ยวๆ (Stand-alone) ขณะที่ร้านที่ตั้งอยู่ในห้างมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การไปห้างสรรพสินค้านั้นส่วนใหญ่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภคมากกว่าที่จะไปร้าน Stand-alone เช่น มีความหลากหลายของร้านให้ผู้บริโภคได้เลือกสรร ที่จอดรถที่สะดวกสะบาย นอกจากนั้น ร้านอาหารยังได้ประโยชน์จากการใช้เงินลงทุนที่ต่ำกว่าเพราะร้านพวกนี้ไม่ต้องซื้อที่ดินหรือลงทุนสร้างร้าน ทำให้การขยายตัวหรือเพิ่มยอดขายนั้น ใช้เงินลงทุนไม่มากนักเมื่อเทียบกับยอดขายหรือเทียบกับกำไรที่จะได้
ธุรกิจ Foodservice ท้องถิ่นหลายเจ้าเองก็พยายามพัฒนาตนเองให้แข่งขันกับ Global Players ได้และเมื่อพัฒนาตัวเองจนฐานที่มั่นแข็งแกร่งแล้ว ก็มองกลับไปยังต่างประเทศเพื่อที่จะแย่งชิงเค้กก้อนนี้ในต่างประเทศเช่นกัน Jollibee ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดของฟิลิปปินส์ที่ซื้อกิจการร้านอาหารมากมายทั้งในจีน เวียดนามพร้อมกับเข้าไปบุกตลาดอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดธุรกิจฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่หลายเจ้า โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะมีอัตราส่วนจำนวนร้านในต่างประเทศต่อร้านในประเทศอยู่ที่ 50:50 ภายในปี 2563 หลายบริษัทในประเทศไทยก็พยายามที่จะบุกตลาดต่างประเทศเช่นกัน เช่น MK สุกี้เข้าไปเปิดในญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ไก่ย่างห้าดาวเข้าไปบุกตลาดอินเดีย Minor Group ได้ขยายสาขาเข้าไปยัง จีน ตะวันออกกลาง แอฟริกา และ ออสตราเลเซีย เพื่อหวังแบ่งเค้กก้อนใหญ่ก้อนนี้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่าการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคนี้ และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ยังคงเข้มข้นและรุนแรง โดยผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในปรับกลยุทธให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เพื่อให้บริษัท พร้อมรุก กับโอกาสในตลาดที่จะยังคงเติบโตได้ดีในภูมิภาคนี้ ซึ่งตลาดนี้ยังอยู่ในวัยกระเตาะที่ยังเติบโตได้อีกมาก โดยพิจารณาได้จากหลายๆ ปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้น เช่น Urbanization rate อัตราส่วนของธุรกิจที่มีแบรนด์ พฤติกรรมชอบทานอาหารนอกบ้านของคนในภูมิภาคนี้ และ พร้อมรับ กับคู่แข่งที่เล็งเห็นโอกาสและพร้อมจะเข้ามาไขว่คว้าโอกาสในภูมิภาคนี้เช่นกัน