ดร. นพ.เวสารัช เวสสโกวิท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง และประธานฝ่านแพทย์และจริยธรรม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีมีประชาชนถูกแมงมุมกัดว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ทำให้สัตว์จำพวกแมลงมีพิษต่าง ๆ มักจะหลบซ่อนเข้ามาตามบ้านเรือน จึงควรทำความสะอาดและตรวจสอบที่นอนก่อนนอนเสมอ สำหรับแมงมุมพิษ ที่มีความอันตรายและควรระมัดระวัง จัดแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ แมงมุมแม่ม่ายดำ (black widow spider) และแมงมุมสันโดษสีน้ำตาล (brown recluse spider) แมงมุมแม่ม่ายดำ เป็นแมงมุมขนาดเล็ก พบได้ในหลายประเทศ แต่มีชุกชุมมากในทวีปอเมริกาใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปออสเตรเลีย ชื่อของแมงมุมชนิดนี้สื่อถึงพฤติกรรมที่แมงมุมตัวเมียมักจะกินแมงมุมตัวผู้หลังจากผสมพันธุ์ แมงมุมแม่ม่ายดำจะมีความยาวประมาณ ขนาดครึ่งถึงหนึ่งนิ้ว มีสีดำตัวกลม ที่ท้องจะมีลายเป็นรูปนาฬิกาทรายสีแดง ส่วนตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมียประมาณ 20 เท่าและมีสีน้ำตาล ไม่พบลักษณะนาฬิกาทรายที่ท้องของตัวผู้
ดร. นพ.เวสารัช กล่าวว่า แมงมุมแม่มายดำชอบอยู่ในที่อับแสง แห้ง ไม่มีลม เช่น ตามรั้ว หรือในกองใบไม้ ชอบออกหากินกลางคืนเฉพาะแมงมุมตัวเมียเท่านั้นที่สามารถกัดมนุษย์ได้ เนื่องจากตัวผู้ตัวเล็กและกรามไม่แข็งแรงพอ พิษของแมงมุมแม่ม่ายดำจะออกฤทธิ์กับระบบประสาท มีความรุนแรงกว่าพิษงูส่วนใหญ่ มักเริ่มแสดงอาการหลังถูกกัดประมาณ 20 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง บริเวณที่ถูกกัดอาจจะมีอาการแดงเพียงเล็กน้อย แต่อาการปวดเฉพาะที่จะตามมาด้วยตะคริวรุนแรงที่อาจเป็นทั่วตัว ปวดท้อง อ่อนแรง มือสั่น ปวดกล้ามเนื้อใหญ่ ๆ อย่างรุนแรง เช่น บริเวณหลังหรือไหล่ ถ้ามีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดคลื่นไส้ อาเจียน มึนศีรษะ เป็นลม เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก มีความดันโลหิตสูงขึ้น อาการรุนแรงมักพบในเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ อาการปวดบริเวณท้องอาจคล้ายคลึงกับอาการไส้ติ่งอักเสบ หรือการปวดจากนิ่วในถุงน้ำดีไปอุดตันทางเดินน้ำดี อาการปวดหน้าอกอาจคล้ายคลึงกับอาการหัวใจขาดเลือดได้ การรักษาหากมีอาการปวดเพียงเล็กน้อย อาจใช้การประคบน้ำอุ่นร่วมกับรับประทานยาแก้ปวด บริเวณผิวหนังที่ถูกกัดจะไม่มีเนื้อตาย หากมีอาการรุนแรง ควรไปตรวจที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เนื่องจากส่วนใหญ่จะได้รับการฉีดยาแก้ปวดที่เป็นอนุพันธ์ของมอร์ฟีน ปัจจุบันยังไม่มียาต้านฤทธิ์ของพิษแมงมุมแม่ม่ายดำในประเทศไทย
สำหรับ แมงมุมพิษชนิดที่ 2 เรียกว่า แมงมุมสันโดษสีน้ำตาล ซึ่งมีคนเรียกชื่อผิดว่า แมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลนั้น เป็นแมงมุมพิษที่พบได้ทางตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ มีขนาดเล็กประมาณ 6-20 มิลลิเมตร แต่อาจมีขนาดโตกว่านี้ได้ สีน้ำตาลอ่อน ลักษณะเด่นคือด้านหลังของแมงมุมตรงช่วงศีรษะถึงอก (cephalothorax) จะมีลายสีออกดำรูปคล้ายไวโอลิน แมงมุมชนิดนี้ชอบอยู่ในที่มืด แห้ง และสงบ เช่นเดียวกับแมงมุมแม่หม้ายดำ และจะออกจากที่อยู่อาศัยเพื่อล่าสัตว์อื่นในเวลากลางคืน
แมงมุมชนิดนี้มีพิษต่อระบบเลือด พิษ จะกระจายไปทั่วร่างกายในเวลาเป็นนาที ทำให้เกิดความผิดปกติในอวัยวะหลาย ๆ ส่วน โดยมีอาการแสดงทำให้เกิดเม็ดโลหิตแดงแตก เกร็ดเลือดต่ำ มีการแข็งตัวของเกร็ดเลือดกระจายทั่วร่างกาย (disseminated intravascular coagulation) อันตรายต่ออวัยวะภายในอื่น ๆ ที่อาจพบ ได้แก่ เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไข้ ผื่นแดง ปวดกล้ามเนื้อและข้อ อันตรายรุนแรงมักเกิดในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยผู้ที่ถูกกัดและเสียชีวิตมักเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เมื่อถูกกัดมักจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่มักเริ่มมีอาการปวดและคันบริเวณที่ถูกกัดหลัง 2 - 8 ชั่วโมง เกิดเป็นตุ่มน้ำพอง อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดตายได้ถึงร้อยละ 37 เกิดเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ได้ถึง 10 นิ้ว
สำหรับแนวทางการรักษาหากถูกแมงมุมสันโดษสีน้ำตาลกัด ให้ไปที่ห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาลทันที โดยนำแมงมุมดังกล่าวไปด้วย ห้ามทำการนวดหรือประคบร้อนที่บริเวณที่ถูกกัดโดยเด็ดขาดเนื่องจากจะทำให้พิษแมงมุมกระจาย ไม่มียาจำเพาะที่ใช้ในการรักษาพิษแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล แพทย์อาจพิจารณาฉีดวัคซีนกันบาดทะยัก รักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด แก้คันในรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อนทางโลหิตวิทยา แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาอื่น ๆ เช่น สเตียรอยด์ เป็นต้น หลังจากแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน ผู้ป่วยจะต้องไปติดตามอาการทุกวันอย่างน้อยเป็นเวลา 4 วันหลังถูกกัด เนื่องจากต้องติดตามอาการแผลเนื้อตายบริเวณที่ถูกกัดด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit