กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไฟเขียวร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ ปลายปีนี้ จำนวน ๔ วาระ ได้แก่ แนวทางการจัดการโฆษณาผิดกฎหมายของ ยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ , ระบบการจัดอาหารในโรงเรียน ,การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในธุรกิจสุราและยาสูบแผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน พร้อมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคีเครือข่ายเดือนต.ค.นี้ ก่อนผลักดันสู่นโยบายสาธารณะต่อไป
ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๖ รับราบความก้าวหน้าในการเตรียมความพร้อมจัด สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๕๖ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNCC) วันที่ ๑๘-๒๐ ธันวาคมนี้ ภายใต้แนวคิด "สานพลัง สร้างสุขภาวะชุมชน" โดย คจสช. มีมติเห็นชอบและให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาร่างเอกสารในการประชุมจำนวน ๔ วาระ จากทั้งหมด ๗ วาระ ประกอบด้วย ๑. การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต ๒. ระบบการจัดอาหารในโรงเรียน ๓.การกำกับดูแลสื่อในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสุราและยาสูบ และ ๔ แผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน
"ร่างเอกสารหลักทั้ง 4 วาระ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคจ.สช.แล้ว จะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจากทั่วประเทศอีกครั้ง ในวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ นี้ เพื่อสร้างการส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ รวมถึงผลักดันให้มติและยุทธศาสตร์ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้มีความสมบูรณ์แบบ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด"
และ คจ.สช.ยังเห็นชอบ การกำหนด (ร่าง) ระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๕๖ เพิ่มเติม จากประเด็นที่เกิดจากการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อ ระเบียบวาระทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่อง การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ และมอบหมายให้อนุกรรมการวิชาการ ดำเนินการต่อไปด้วย นอกจากนี้คจ.สช. ยังเห็นชอบรายชื่อกลุ่มเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๖ จำนวนทั้งสิ้น ๒๓๔ กลุ่มเครือข่าย ประกอบด้วย กลุ่มเครือข่ายพื้นที่ จำนวน ๗๗ กลุ่มเครือข่าย , กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม ชุมชน และเอกชน จำนวน ๖๕ กลุ่มเครือข่าย , กลุ่มเครือข่ายวิชาชีพ/วิชาการ จำนวน ๓๕ กลุ่มเครือข่าย และกลุ่มเครือข่ายภาคการเมือง/ราชการ/องค์กรของรัฐ จำนวน ๕๗ กลุ่มเครือข่าย โดยจะสนับสนุนกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานของแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิดการพัฒนากระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป โดยทั้ง ๒๓๔ กลุ่มเครือข่ายจะมีบทบาทสำคัญ ในการยกระดับความร่วมมือ เพื่อให้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินำไปสู่ภาคปฏิบัติต่อไป ซึ่งจะมีการเพิ่มช่องทางและแนวทางในการสื่อสารข้อมูลกับกลุ่มเครือข่ายให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
และในปีนี้ คจ. สช. ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การลงทะเบียนของประชาชนทั่วไป ๒๕๕๖ เพื่อเชิญชวนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมประชุมด้วย โดยสมัครลงทะเบียน ได้ทาง WWW.samatcha.org
ประสานงาน : สำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
เขมวดี ขนาบแก้ว (ปูน) ๐๒- ๘๓๒ -๙๑๔๓-นท-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit