กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--โฟร์ พี แอดส์
จากกรณีเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบกลางทะเลจังหวัดระยอง เกิดรั่วไหลเมื่อช่วงปลายเดือน กรกฎาคม 56 ที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำมันดิบจำนวนกว่า 5 หมื่นลิตรไหลลงสู่ทะเลและเกิดคราบน้ำมันดิบถูกพัดและทะลักเข้ามายังชายหาดบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง จนต้องมีการประกาศให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทางทะเล ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้นอกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนแล้ว เรื่องของสุขภาพก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ประชาชนต่างรู้สึกกังวล โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยหรือผู้ที่ต้องปฏิบัติภารกิจอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว กรมควบคุมโรคโดยการมอบหมายของนายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงได้มีการติดตามและเฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวระหว่างลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยองว่า สถานการณ์น้ำมันรั่วในพื้นที่ดังกล่าวล่าสุดดีขึ้นมาก ไม่เหลือฟิล์มน้ำมันตามแนวชายฝั่งเกาะเสม็ดแล้ว เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี มั่นใจว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ในไม่ช้า ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้มาติดตามในเรื่องของผลกระทบต่อสุขภาพจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะเกรงว่าหากประชาชนหรือผู้ที่เก็บกู้คราบน้ำมันสูดดมเข้าไปจะมีอาการเจ็บป่วยขึ้น เนื่องจากสารเบนซีนที่ปนเปื้อนมากับคราบน้ำมันนั้น เป็นสารเคมีอันตรายชนิดหนึ่งในอุณหภูมิปกติทั่วไปสารนี้จะอยู่ในรูปของของเหลวมีคุณสมบัติชะล้างไขมัน และละลายสารเคมีอื่นๆได้ดี มีกลิ่นหอมฉุน ระเหยได้ง่าย ไวไฟและมีอันตรายต่อร่างกาย
ทั้งนี้จากการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงซึ่งจำแนกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ สัมผัสมาก ปานกลาง น้อย และอาจจะสัมผัส เพื่อเฝ้าระวังการสัมผัสสารเบนซีน โดยการส่งตรวจปัสสาวะที่ห้องปฏิบัติการ รพ.ระยองและศูนย์พัฒนาวิชาการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จ.ระยอง ผลการตรวจ ณ วันที่ 3 สิงหาคม 56 จากตัวอย่างปัสสาวะจำนวน 150 ตัวอย่างพบว่าทุกตัวอย่างมีค่าสารอนุพันธุ์ของเบนซีนในปัสสาวะไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนข้อมูลด้านการเจ็บป่วยของผู้ปฏิบัติงานบนเกาะเสม็ดตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 56 พบว่าขณะนี้มีผู้ป่วยรวม 301 ราย เจ็บป่วยด้วยอาการที่เกี่ยวข้องกับกับสารเบนซีน เช่น เป็นลม ปวดศรีษะ เวียนศรีษะ ไอ เจ็บคอ ผื่นคัน จำนวน 156 ราย และด้วยอาการอื่นๆ เช่น มีดบาด เมาเรือ ปวดเมื่อย อุบัติเหตุ อ่อนเพลียและอื่นๆรวม 145 ราย
สำหรับปัญหาด้านจิตใจที่รุนแรงนั้น ขณะนี้ยังไม่พบประชาชนหรือคนงานมีความเครียดสูง หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ มีประชาชนเพียงบางส่วนที่มีความวิตกกังวล นอนไม่หลับ ซึ่งมีทีม MCATT คอยพูดคุย ซักถามและให้คำปรึกษา และได้มีการประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้มีการติดตามและเฝ้าระวังด้านปัญหาสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง ส่วนการเฝ้าระวังคุณภาพอาหารและน้ำนั้นทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่6 ชลบุรีได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุข จ.ระยองเก็บตัวอย่างปลาสด และหอยสด จากบริเวณตลาดตำบลเพ และตำบลแกลง อ.เมือง จ.ระยอง โดยตรวจหาสารโพลีไซคลิค อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAHs) และโลหะหนัก (สารหนู ตะกั่ว ปรอทและแคดเมียม) รวมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำดื่มตามมาตรฐาน อย.โดยวางมาตรการระยะสั้นและระยะยาวตามระบบเฝ้าระวังอาหารปลอดภัย ส่วนผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ณ บริเวณอ่าวพร้าวโดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 ชลบุรี พบว่าทั้งค่า Benzene ค่า Toluene และค่า Xylene ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย
อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังได้ฝากแนะนำประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตนช่วงที่อยู่บริเวณอ่าวพร้าวว่า ต้องระมัดระวังอย่าสัมผัสคราบน้ำมัน เพราะในน้ำมันดิบจะมีการปนเปื้อนของโลหะหนักที่เป็นอันตรายโดยเฉพาะแคดเมียมและตะกั่ว ซึ่งจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนัง และจะมีอาการแสดงของพิษค่อนข้างเร็วและรุนแรง จนถึงขั้นมือสั่นและกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
สำหรับทหารเรือ อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเก็บกู้คราบน้ำมัน แนะนำให้ดูแลตนเอง หากมีการสัมผัสน้ำมัน ควรใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ใส่ถุงมือ สวมบู๊ท เสื้อผ้าที่รัดกุม มิดชิด และสวมหน้ากากอนามัย และยังฝากถึงจิตอาสาทั้งหลายว่า หากจะมาช่วยเหลือต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า และต้องฝึกอบรมในการเก็บกู้ด้วย เพื่อความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงการได้รับอันตรายระหว่างปฏิบัติงาน
ส่วนกลุ่มประชาชนที่ต้องระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ มี 4 กลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคหอบหืด โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากจะได้รับผลกระทบได้ง่ายและเร็วกว่ากลุ่มอื่น ขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณชายหาดที่มีคราบน้ำมัน ควรอยู่ห่างประมาณ 500 เมตรและอยู่เหนือลม
“อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขจะมีการเก็บปัสสาวะผู้ปฏิบัติงานและประชาชนในพื้นที่ส่งตรวจ เพื่อติดตามเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบคุณภาพอาหารและน้ำเพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนจากห่วงโซ่อาหาร รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพอากาศด้วย ส่วนในช่วงนี้ถ้าหากประชาชนในพื้นที่จะบริโภคอาหารทะเล เพื่อความปลอดภัยควรล้างให้สะอาดก่อนที่จะนำมาประกอบอาหาร และต้องปรุงให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง อย่านำปลาทะเลหรือสัตว์ทะเลที่ตายบริเวณอ่าวพร้าวมาบริโภคเด็ดขาด เพราะอาจจะได้รับอันตรายได้” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวทิ้งท้าย
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit