กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--กรมการแพทย์
แพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในกิจกรรมเปิดบ้าน (Open House) สถาบันโรคทรวงอก ว่าปัจจุบันสถาบันโรคทรวงอกได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดไปมาก จากการผ่าตัดใหญ่ที่ใช้เวลาในการผ่าตัดนาน มาเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็กหรืออาจไม่มีแผลผ่าตัดเลย ดังเช่น การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจทางสายสวนหรือที่เรียกว่า TAVI (Transcatheter Aotic Valve Implantation) ตัวอย่างหนึ่งของการรักษาโดยใช้เครื่องมือในการรักษาใส่ผ่านไปทางหลอดเลือด เป็น การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะการตีบรุนแรงของลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่ ที่นำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่เรียกว่าลิ้นหัวใจเอออติก (aortic valve) ซึ่งไม่สามารถรับการรักษาโดยการผ่าตัดได้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น อายุมากหรือมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วยหลายโรค ทำให้สภาพร่างกายไม่สามารถทนต่อการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องดมยาสลบและการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมระหว่างผ่าตัดได้
นอกจากนี้สถาบันโรคทรวงอกยังมีการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยเครื่อง Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI เป็นวิธีใหม่อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีราคาแพง เป็นการตรวจวินิจฉัยที่ให้ความถูกต้องและแม่นยำสูง สามารถแปลงเป็นสัญญาณภาพบนจอภาพ ซึ่งจะให้ความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้ดี โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องได้รับรังสีเอ็กซ์ (x-ray) และสารทึบรังสีเหมือนการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สามารถสร้างภาพได้ทุกระนาบหรือทุกแนวโดยผู้ป่วยไม่ต้องเปลี่ยนท่า สามารถสร้างภาพสามมิติทำให้มองเห็นภาพของหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน ทำให้แพทย์ได้รับรู้ถึงรายละเอียดของหัวใจ ได้แก่ ลิ้นหัวใจทุกลิ้น เยื่อหุ้มหัวใจ ผนังกั้นห้อง กล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อรู้การบีบตัวว่าปกติหรือไม่ สามารถมองเห็นกล้ามเนื้อหัวใจในส่วนที่เป็นแผลเป็น(scar) หลังจากเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งจะช่วยแพทย์เลือกแนวทางการรักษาได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเห็นหลอดเลือดอื่นด้วย เช่น หลอดเลือดที่ไปปอด หลอดเลือดที่คอ หลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดไต เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องฉีดสี จึงช่วยลดโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนจากการฉีดสีลง มีประโยชน์มากสำหรับแพทย์ในการวินิจฉัยโรค เพื่อนำมาใช้ในการรักษาและติดตามผลการรักษา และมีประโยชน์อย่างมากในการตรวจผู้ป่วยเด็ก เนื่องจากไม่มีอันตรายจากรังสี ที่เกิดจากการใช้เอกซเรย์
ด้าน แพทย์หญิงสุวรรณี ตั้งวีระพรพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า ปัจจุบันโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมีอัตราการป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2555 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษากว่า 200 คน จากปี 2554 ที่มีประมาณ 100 คน ซึ่งเดิมอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด คิดเป็นร้อยละ 17 แต่จากการที่สถาบันโรคทรวงอกได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการตรวจวินิจฉัย ผู้ป่วยจึงเข้าถึงกระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงเหลือประมาณร้อยละ 9.8 นอกจากนี้ระบบการให้บริการช่องทางด่วนผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Fast Track MI) ซึ่งสถาบันฯดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 พบว่า ระบบ Fast Track MI สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้จากร้อยละ 6 เหลือเพียงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับในต่างประเทศพบว่าอัตราการตายอยู่ที่ร้อยละ 4 ทั้งนี้สถาบันโรคทรวงอก ได้สร้างเครือข่ายเพื่อรับส่งต่อผู้ป่วย โดยมีการอบรมให้แก่บุคลากรของโรงพยาบาลเครือข่าย โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน จ.นนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา ในเรื่องของการวินิจฉัย การรักษา การเคลื่อนย้าย การส่งต่อให้ดียิ่งขึ้น การให้การช่วยเหลือเบื้องต้น เพราะโรคนี้ยิ่งรักษาได้เร็วจะยิ่งลดอัตราการเสียชีวิตลงได้
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์ โทร. 0-2591-8254
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit