ผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้ยัน EMS ไม่ใช่โรคระบาด ไม่น่าจะทำให้อุตฯกุ้งไทยมีปัญหา กรมประมงอย่าเน้นแค่โรงเพาะลูกกุ้ง ให้ผู้เลี้ยงคลีนนิ่งระบบ อย่าให้หมักหมมด้วย

09 Jan 2013

กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--กรมประมง

เป็นที่ทราบกันว่า ขณะนี้ ก.เกษตรฯ โดยกรมประมง ได้พยายามแก้ปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (ซึ่งปัจจุบันยังหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้) ให้กับอุตสาหกรรมกุ้งไทย โดยเริ่มต้นรณรงค์ขอความร่วมมือจากโรงเพาะฟักลูกกุ้งทั่วประเทศ ให้ทำความสะอาดระบบการผลิต1 เดือนซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีนั้น

นายสมชาย ฤกษ์โภคี ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า โรคอีเอ็มเอส หรือโรคตายด่วนในกุ้ง เห็นว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากการจัดการเลี้ยง เพราะเป็นที่น่าสังเกตว่า แหล่งที่เกิดโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม มาเลเซีย จีน และภาคตะวันออกของไทย ล้วนมีความคล้ายคลึงกัน คือเป็นแหล่งอุตสาหกรรมฯ ที่มีการหมักหมม ปนเปื้อน ฯลฯ หาใช่เป็นเพราะลูกกุ้งไม่ เพราะถึงวันนี้พื้นที่เลี้ยงกุ้งของสุราษฎร์ฯ ก็ยังไม่เกิดการระบาดของโรคนี้ มีพบที่ฟาร์มแถวคลองไชยา ประมาณ10บ่อเท่านั้น แต่หลังจากที่ชมรมฯ สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทยได้จัดสัมมนาผู้เลี้ยงกุ้งด่วนเพื่อป้องกันการเกิดโรคมีการวางแผนจัดการเลี้ยงกุ้งอย่างดี และเข้มแข็ง ถึงวันนี้ไม่ปรากฎว่ามีการเกิดโรคนี้ขี้น... ที่สำคัญหากเป็นเพราะลูกกุ้งจริง ภาคใต้คงไม่รอด รวมถึงพื้นที่อื่นๆ คงไม่รอดจากการเป็นโรคนี้กันแล้ว แต่ขณะนี้ที่สุราษฎร์ฯเอง แถวพื้นที่เลี้ยงภาคใต้ฝั่งอันดามันเอง ตอนนี้ยังไม่มีโรคนี้ปรากฎ

“ปี 2556 นี้อยากฝากถึงพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ให้ช่วยกันประคับประคอง เลี้ยงให้รอดให้ปลอดภัยกันถึงสิ้นปีนะครับ ขอบคุณกรมประมงที่พยายามช่วย ให้มีการคลี่นนิ่งระบบโรงเพาะฟักลูกกุ้ง แต่อยากให้ผู้เลี้ยงกุ้งมีการคลิ่นนิ่งระบบเลี้ยงด้วย อย่าให้มีการหมักหมม โดยเฉพาะพื้นบ่อต้องสะอาด ให้มีการจัดการเลี้ยงที่ดี มีระบบป้องกันโรคไบโอซีเคียวที่เข้มแข็ง...เชื่อว่าหากมีการปรับปรุงระบบการผลิต การเลี้ยง การจัดการ ด้วยความรับผิดชอบแล้ว ของแฮชเชอรรี่ และบ่อเลี้ยง แม้ภาพรวมของอุตฯอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ระยะยาวคือความมั่นคงยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้งไทยครับ”

ด้าน นายธีรยุทธ ถนอมเกียรติ ปธ.ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า“การเกิดโรคกุ้งตายด่วน แถวภาคตะวันออกนั้น หลายคนอาจมองว่าเป็นเพราะลูกกุ้ง ... แต่ทางฝั่งอันดามัน ที่เลี้ยงกุ้งแถวภูเก็ต กระบี่ พังงา หรืออื่นๆ ก็ยังไม่เกิดโรคนี้ มีบางพื้นที่มีโรคตัวแดงดวงขาวบ้าง ซึ่งก็เป็นโรคตามฤดูกาล เกิดในช่วงหน้าหนาว หรืออากาศเย็นเท่านั้น การเกิดโรคตายด่วนนั้น เป็นเพราะความเสื่อมโทรมของพื้นที่เลี้ยงมากกว่า ที่เลี้ยงกันมานาน เกิดการหมักหมม ปล่อยกุ้งแน่น มีการเร่งรอบ ปล่อยลูกกุ้งที่ยังไม่พร้อม ตัวยังเล็กอยู่มาก ไม่แข็งแรง ฯลฯอยากให้ผู้เลี้ยงทุกท่านให้ความสำคัญกับทุกปัจจัย ทำหรือเตรียมทุกขั้นตอนให้ดี บ่อต้องสะอาด น้ำต้องสะอาด เพราะฉะนั้นต้องเตรียมบ่อ เตรียมน้ำให้ดี ต้องมีระบบไบโอซีเคียวที่ดีและรัดกุม ป้องกันโรคอย่างเต็มที่ ดูแลประคบประหงมให้ดีทุกขั้นตอน ไม่ปล่อยลูกกุ้งแน่น ใช้ลูกกุ้งที่ต้องแข็งแรงมากๆ ไม่ปล่อยพีเล็กจนเกินไป ... กรณีที่กรมประมง หรือภาครัฐลงมาช่วยจัดการเคลียร์ระบบโรงเพาะฟักลูกกุ้ง หรือแฮชเชอรี่ต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องเคลียร์ระบบเลี้ยงไม่ให้หมักหมมด้วย เชื่อว่าการเกิดโรคตายด่วนไม่น่าจะเป็นปัญหาร้ายแรงของอุตสาหกรรม เพราะจัดการได้ อยู่ที่การจัดการที่ดี อยู่ที่ EMS เหมือนกัน แต่เป็น Excellent Management System หรือการที่ผู้เลี้ยงต้องมีระบบการจัดการเลี้ยงที่เป็นเลิศครับ” นายธีรยุทธ กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ นายจักรกฤช เผ่าสวัสดิ์ ผู้จัดการฟาร์มสหกรณ์สุราษฎร์ธานี จำกัด หรือโค-อ๊อป(CO-OP) ได้เล่าให้ฟังถึงความสำเร็จของการเลี้ยงกุ้งฟาร์มโค-อ๊อป ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.กาญจนดิษฐ์ บนพื้นที่ 165ไร่ จำนวน 35 บ่อ ว่า

“ฟาร์มสหกรณ์ฯ เริ่มเลี้ยงกุ้งมาตั้งแต่ปี 2548กุ้งที่เลี้ยงคือกุ้งขาวแวนนาไม จวบจนปัจจุบันรวม 17รุ่น ก็เลี้ยงได้ผลดีมาตลอด ได้ผลผลิตเฉลี่ย 2.5 ตัน/ไร่/รุ่น ประสบปัญหาเกิดโรคตัวแดงฯบ้าง ช่วงปลายปี แต่ก็สามารถจัดการได้ ทุกอย่าง ที่สำคัญตั้งแต่ลูกกุ้ง อาหาร แนวทางการเลี้ยง วิชาการและเทคโนโลยี และอื่นๆ ก็ใช้ของซีพี ทั้งหมด ถึงวันนี้ก็ยังเลี้ยงได้ดี โรคอีเอ็มเอสก็ไม่ปรากฎ เพราะนโยบายของฟาร์มคือการจัดการต้องเนี๊ยบที่สุดในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการเตรียมบ่อ การเตรียมน้ำ กำจัดพาหะ การทำความสะอาดพื้นบ่อ เลี้ยงกุ้งในแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมฯลฯ ...ผมว่าเรื่องโรคต่างๆ ป้องกันได้หากผู้เลี้ยงทุกคนใส่ใจลงรายละเอียดให้มากที่สุด ให้ดีที่สุด ซึ่งจะทำให้เลี้ยงกุ้งได้” -นท-