“อุ้ม ดูด บีบ เก็บ” นมแม่อาหารสวรรค์จากแม่สู่ลูก
กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--ไอแอมพีอาร์
การสร้างความรู้และความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้กับว่าที่คุณพ่อ-คุณแม่มือใหม่ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เด็กไทยได้มีโอกาสกินนมแม่มากยิ่งขึ้น เพราะนมแม่ถือเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาการทั้งด้าน ร่างกาย สมอง จิตใจ และอารมณ์
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงได้จัดกิจกรรม “สายใยรักนมแม่ Cafe' ” ขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้ “โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว” โดยล่าสุดได้ร่วมกับ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 ในหัวข้อ “นมแม่ : อุ้ม ดูด บีบ เก็บ อาหารสวรรค์จากแม่สู่ลูก” โดยได้รับเกียรติจาก แพทย์หญิงศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล หัวหน้ากุมารแพทย์จาก รพ.เซนต์หลุยส์ และ นางมีนะ สพสมัย ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมแนะนำ “เทคนิคการอุ้ม ดูด บีบ เก็บ”และ “การให้น้ำนมแม่อย่างมีประสิทธิภาพ”
พญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล เผยว่านมแม่นั้นมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพราะมีการค้นพบภาพวาดบนผนังถ้ำโบราณ เป็นภาพของแม่ที่มีเต้านมและลูกที่กำลังดูดนม แสดงให้เห็นว่านมแม่เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต และน้ำนมแม่มีเอกลักษณ์ที่ทำให้สมองมีการพัฒนาได้อย่างเหมาะสมมนุษย์จึงอยู่รอดได้มาจนถึงปัจจุบัน
“น้ำนมแม่มีสารช่วยการเจริญเติบโตและการแตกแขนงของเส้นใยสมอง ซึ่งในนมวัวไม่มี นอกจากนี้การอุ้มลูกดูดนมแม่ยังช่วยกระตุ้นระบบประสาททุกส่วนตั้งแต่ประสาทสัมผัสที่ผิวหนังของลูกสายตา น้ำเสียง และรอยยิ้มของแม่ที่ส่งผ่านไปยังลูกจะช่วยกระตุ้นระบบการมองเห็นและระบบการได้ยิน เมื่อไรก็ตามที่เราได้อุ้มลูกขึ้นมาดูดนมแม่เท่ากับช่วยการสร้างเซลล์และเพิ่มเส้นใยประสาทในสมองทุกครั้ง” พญ.ศิริพัฒนา กล่าว
มีการวิจัยพบว่าเด็กที่กินนมวัวหรือนมผสมมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากกว่า เพราะ การได้รับโปรตีนนมวัวอาจเป็นปัจจัยส่งเสริมให้มีการทำลายเบต้าเซลล์ของตับอ่อน เด็กที่กินนมแม่จะมีภาวะน้ำหนักเกินเมื่อก้าวสู่วัยรุ่นน้อยลงถึง 22 เปอร์เซ็นต์ และนมแม่ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
“เด็กที่กินนมแม่เมื่อถึงวัยที่กินอาหารเสริมได้ จะสามารถกินอาหารได้หลากหลายมากกว่า เพราะในน้ำนมแม่จะมีกลิ่นของอาหารต่างๆ ที่แตกต่างกันไปตามอาหารที่แม่รับประทาน ลูกมีความคุ้นเคยกับกลิ่นของอาหารที่ออกมากับนมแม่ จึงยอมรับอาหารที่มีรสชาติและกลิ่นต่างๆได้ง่าย” พญ.ศิริพัฒนา ระบุ
โดยในงานได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมกิจกรรมซักถามข้อสงสัย เพื่อสร้างความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในประเด็นต่างๆ อาทิ เด็กกินนมแม่แล้วท้องเสีย กินนมแม่แล้วไม่ยอมถ่าย คุณค่าของนมแม่จะลดลงไปเมื่อเด็กโตขึ้นฯลฯ ซึ่งทาง นางมีนะ สพสมัย ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ ได้ให้ความรู้และคำแนะนำอย่างน่าสนใจว่า
“เด็กที่กินนมแม่บางคนอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าลูกท้องเสียจึงหันไปกินนมผสมแทน ความจริงแล้วเด็กที่กินนมแม่มักจะถ่ายเหลวเป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นก้อนแข็งแบบนมผสม ในเด็กบางคนอาจไม่ถ่ายทุกวัน และอาจเว้นไปได้หลายๆ วัน เพราะสามารถเอาสารอาหารในนมแม่ไปใช้ทั้งหมดโดยไม่เหลือเป็นกากทิ้งไว้ ประเด็นคำถามคุณค่านมแม่นั้นไม่มีการเจือจาง แต่ลักษณะของน้ำนมจะต่างกันไปในแต่ละวัย โดยในช่วง 3 เดือนแรกภูมิคุ้มกันที่สามารถนำไปใช้ได้ทันทีในนมแม่ช่วยปกป้องลูกจากการเจ็บป่วยในช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันลูกกำลังพัฒนา เด็กมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับนมแม่เพื่อช่วยพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันให้สมบูรณ์ พอหลังจาก 6 เดือนนมแม่มีภูมิคุ้มกันมากขึ้นช่วยส่งต่อภูมิคุ้มกันจากแม่สู่ลูกในเวลาที่ลูกสัมผัสกับสิ่งใหม่ๆมากขึ้นเพื่อให้เด็กสามารถออกไปสัมผัสกับสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก ซึ่งพบว่าเด็กที่กินนมแม่จะไม่ค่อยป่วยหรือเมื่อป่วยก็จะหายเร็วกว่าเด็กที่กินนมผสม” นางมีนะกล่าว
นอกจากนี้ทางวิทยากรยังร่วมให้ความมั่นใจว่า “เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับสัญชาติญาณในการกินนมแม่” ทั้งเด็กที่คลอดตามปกติ หรือเด็กที่ผ่าตัดคลอด เพียงเราต้องช่วยเหลือเล็กน้อยให้กินนมแม่ได้ ดังนั้นพ่อและแม่ทุกคนจึงต้อง “เชื่อมั่นในตนเอง” และ “เชื่อมั่นในตัวลูก” เพราะการรับสารอาหารจากสายสะดือและการกินนมจากเต้าหลังคลอด เป็นการถ่ายทอดความสัมพันธ์ที่ช่วยให้แม่และลูกมีความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างต่อเนื่อง
“แม่หลังคลอดจะมีอุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นเสมือนเครื่องสร้างความอบอุ่น การเอาตัวของลูกมาวางที่อกแม่ ผิวสัมผัสของทั้งสองคนที่แนบจะชิดกันจะช่วยกระตุ้นการทำงานของทุกระบบในร่างกาย ความอบอุ่นและเสียงเต้นของหัวใจของแม่ที่ลูกคุ้นเคยจะทำให้ลูกไม่หนาวสั่น กลิ่นและผิวสัมผัสจากตัวแม่จะกระตุ้นความอยากกินนมแม่ ดังนั้นการให้เด็กได้รับน้ำนมแม่ทันทีหลังคลอด จึงเป็นเสมือนการเปิดสวิทซ์การทำงานของร่างกายและเปิดสวิทซ์สมองลูก” หัวหน้ากุมารแพทย์ กล่าว
โดยปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และให้นมแม่ควบคู่กับอาหารเสริมไปจนถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้นอยู่ที่การปรับเปลี่ยน “ทัศนคติและความรู้” เรื่องของนมแม่ในตัวของ พ่อ แม่ และครอบครัวให้ถูกต้อง รวมไปถึงต้องมีเทคนิค “การอุ้ม” และ “การให้นม”ลูกอย่างถูกต้อง รวมไปถึงวิธีการ “บีบ-เก็บ น้ำนม”สำหรับแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน
“การอุ้มที่ดีที่สุดจะเป็นท่าไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นท่าที่สบายที่สุดสำหรับแม่ ส่วนท่าอุ้มที่เหมาะสมนั้นจะต้องไม่เกร็ง เป็นการอุ้มแบบประคอง คือเมื่ออุ้มแล้วลูกจะต้องตะแคงเข้าหาหัวนมได้พอดี ส่วนการให้นมควรให้เมื่อลูกต้องการโดยไม่จำกัดจำนวนครั้งหรือชั่วโมง เพราะเด็กไม่สนใจเวลา ไม่รู้ว่านมมีเท่าไหร่ เขาจะรู้แต่เพียงว่าเขาอยากอยู่ใกล้กับแม่ อยากดูดนมแม่ ใช้การสังเกตพฤติกรรมของลูก เพราะเด็กแต่ละคนจะมีความสามารถในการดูดนมช้าหรือเร็วไม่เท่ากัน จึงต้องดูความต้องการของลูกเป็นสำคัญ ในหนึ่งวันเด็กต้องกินนมอย่างน้อย 8 ครั้ง และดูว่าปัสสาวะใสก็เป็นอันใช้ได้ นอนพักได้ไม่งอแง แต่ถ้าปัสสาวะมีสีชาเข้มก็แสดงว่าลูกต้องการน้ำนมเพิ่มมากขึ้น” นางมีนะ ระบุ
ส่วนในเรื่องของการบีบและเก็บน้ำนมนั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้กันในแม่ที่ต้องไปทำงาน แม่จึงต้องหาเวลาอย่างน้อยประมาณทุกๆ 3 ชั่วโมง เพื่อบีบเก็บน้ำนมเก็บไว้ ส่วนเวลาที่แม่อยู่กับลูกก็ให้ลูกกินนมจากคุณแม่ตามปกติ โดยการบีบเก็บน้ำนมต้องใช้วิธีการเดียวกันกับการดูดของลูก จึงจะสามารถบีบเก็บน้ำนมได้มากที่สุด โดยใช้เพียงนิ้วโป้งกับนิ้วชี้เท่านั้น วิธีการคือ กดเข้าหาตัว บีบ ปล่อย และคลาย โดยสามารถขยับมุมการบีบไปรอบๆ เต้านมได้
น.ส.ศิลัมพา เรืองวีรยุทธ คุณแม่ของ “น้องเรียว”ด.ช.ธณินท์พงศ์ ไทยวุฒินุกุล วัย 2 ขวบที่ได้นมแม่ตั้งแต่แรกคลอดจนถึงปัจจุบันได้มาร่วมให้ความรู้ภายในงานกล่าวว่า ช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นช่วงวิกฤติของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือ 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด ถ้าให้นมไม่ถูกวิธี หัวนมเจ็บหรือแตก ส่วนใหญ่ก็มักจะถอดใจกันในตอนนี้
“แม่มือใหม่มักจะอุ้มลูกไม่ถนัด กลัวตก พอแม่เกร็งลูกก็จะเกร็งตามทำให้กินนมไม่ได้ ทำให้ต้องมาฝึกเรื่องของท่าอุ้มและวิธีการให้นมที่ถูกต้อง ท่าที่ให้นมมีหลายท่าเลือกที่เราถนัดและรู้สึกสบายที่สุด การฝึกให้น้ำนม จะช่วยให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่”คุณแม่น้องเรียวกล่าว
“การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ การฝึกฝนบ่อยๆ จะช่วยได้ ที่สำคัญพ่อและแม่จะต้องเตรียมตัวที่จะเหนื่อยก่อน ความสุขถึงจะตามมา และบางครั้งการร้องไห้ของเด็กไม่ ได้หมายถึงความเจ็บปวด แต่หมายถึงความต้องการนมแม่และ ความอบอุ่นจากแม่ ดังนั้นจึงไม่ต้องเครียด ทำใจให้สบาย ให้ลูกได้ใกล้ชิดกับแม่มากที่สุด ขอให้เชื่อมั่นในตนเองและเชื่อมั่นในตัวลูก ก็จะทำให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ประสบความสำเร็จ” พญ.ศิริพัฒนา กล่าวสรุป
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เข้ารับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณ “มุมนมแม่ต้นแบบในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. ๒๕๕๖” จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงมีพระดำริให้ “โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” เป็นหนึ่งใน “โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว” โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายการจัดสวัสดิการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อันได้แก่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
การสร้างความรู้และความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้กับว่าที่คุณพ่อ-คุณแม่มือใหม่ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เด็กไทยได้มีโอกาสกินนมแม่มากยิ่งขึ้น เพราะนมแม่ถือเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาการทั้งด้าน ร่างกาย สมอง จิตใจ และอารมณ์...
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จไปทรงเยี่ยมและทอดพระเนตรการดำเนินงานมุมนมแม่ในสถานประกอบการ ภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ณ บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ โดยมี นาย...
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประทานพระวโรกาสให้ แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย นำคณะผู้จัดทำหนังสือ “เรียนรู้นมแม่จากภาพ” ในชื่อภาษาอังกฤษ The Breastfeeding Atlas...
พลโท ฐิตะฐาน สุขศรี ผู้ว่าราชการพื้นที่ควบคุมในพระองค์ ๙๐๔ เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวเปิดตัว “คลังข้อมูลดิจิทัล ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย” ที่ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน...
ในโอกาส สัปดาห์นมแม่โลก ( 1-7 สค) มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมสนับสนุน “โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว” จับมือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และภาคีเครือข่าย ร่วมกันพัฒนา “คลังข้อมูลนมแม่ดิจิทัล...