กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--สปริง คอร์ปอเรชั่น
สปริงนิวส์ เชิญกูรูวงการธุรกิจการตลาด และกลุ่มธุรกิจมีเดีย ร่วมเสวนาครั้งใหญ่เพื่อรับมือ AEC นายกสมาคมมีเดียฯ ชี้ AEC ส่งผลดีต่อกลุ่มโลคอลแบรนด์ เชื่อกลุ่มขาย content มีอนาคตสดใส
นายศุทธิชัย บุนนาค ประธานกรรมการบริษัท สปริง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจในฐานะผู้จัดงานเสวนา Transform Media and Advertising Business in AEC เปิดเผยถึงการจัดเสวนาครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาทั้งภาครัฐ และเอกชนมีการจัดงานสัมมนาในหลากหลายประเภทธุรกิจเพื่อให้ความรู้ และให้ภาคธุรกิจเตรียมพร้อมกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเชียนบ่อยครั้ง แต่ยังไม่มีการพูดถึงธุรกิจทางด้าน Media และ Advertising ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความสำคัญ และเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจประเภทต่างๆ มากมาย ดังนั้น สปริงนิวส์ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มธุรกิจ Media และ Advertising จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญ และเพื่อกระตุ้นให้กลุ่มธุรกิจนี้มีความตื่นตัว และเตรียมพร้อมในการดำเนินธุรกิจเพื่อสามารถแข่งขันกับนานาประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 นี้
งานเสวนา Transform Media and Advertising Business in AEC ครั้งนี้ จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับวงการนี้เข้ามาร่วมพูดคุย และแนะนำถึงวิธีการปรับตัวของธุรกิจประเภทต่างๆ ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย วรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT), วิทวัส ชัยปานี ที่ปรึกษาสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย (AAT), สรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล นักการตลาด และ กฤตธี มโนสีหกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด
ในส่วนของธุรกิจมีเดียเอเยนซี่นั้น นางวรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ไม่ได้ส่งผลต่อการแข่งขันหรือการเติบโตของมีเดียเอเยนซี่ที่เป็นกลุ่มบริษัทข้ามชาติมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมา มีเดียเอเยนซี่เหล่านี้ได้มีการเปิดสำนักงานในแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่จะมีผลดีกับกลุ่มโลคอลเอเยนซี่ที่มีแผนจะขยายตัวออกสู่ภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตามผลดีที่คาดว่าจะเกิดกับมีเดียเอเยนซี่โดยรวมก็ต่อเมื่อกลุ่มลูกค้าโลคอลแบรนด์มีแผนจะขยายตลาดออกสู่กลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งจะส่งผลต่อบิลลิ่งในการโฆษณาของแต่รายที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย
นางวรรณี ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมในด้านกลุ่มผู้ผลิตโฆษณาหรือ Advertising Agency ว่าอาจจะได้รับผลดีในแง่การเป็น Hub เพื่อผลิตภาพยนตร์โฆษณาใช้ในภูมิภาคนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีเทคโนโลยีซึ่งเอื้อต่อการผลิตภาพยนตร์โฆษณาเป็นทุนอยู่แล้ว ประกอบกับการมีวัตถุดิบ เช่น ดารา และนักร้อง ซึ่งเป็นที่รู้จักในประเทศละแวกข้างเคียง นอกจากนี้ในกลุ่มบริษัทผู้ผลิต Content เช่น เกมโชว์, ละคร หรือ ข่าว ก็มีโอกาสที่จะเติบโตเช่นกัน เนื่องจากในปัจจุบันกลุ่มเพื่อนบ้านโดยรอบของไทย อาทิ พม่า, ลาว, เขมร และเวียดนาม นิยมเสพสื่อที่มาจากประเทศไทยอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะขยายตลาดอย่างจริงจังหรือการขาย Content ไปยังกลุ่มเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งในเรื่องของดารา และนักร้องที่เป็นที่รู้จักในกลุ่มประเทศเหล่านี้อยู่แล้ว
ขณะเดียวกันประเทศไทยจะมีข้อเสียเปรียบหลายๆ ประเทศในกลุ่มอาเซียนก็คือ เรื่องของระบบการสื่อสาร และระบบอินเตอร์เนต ซึ่งปัจจุบันในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนด้วยกันได้ก้าวเข้าสู่ระบบ 3G และกำลังจะมุ่งสู่ 4G แล้ว ในขณะที่ไทยยังถือว่าล้าหลังอยู่มาก ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไทยไม่สามารถพัฒนา Content หรือการขาย Content ที่อยู่บนเวปไซต์เพื่อแข่งขันกับกลุ่มในอาเซียนได้ ทั้งนี้ AEC หรือ Asean Economics Community คือ การรวมตัวของชาติในอาเซียน 10 ประเทศ โดยมี ไทย, พม่า, ลาว, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา และ บรูไน เพื่อที่จะให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งจะมีรูปแบบคล้ายๆ กลุ่ม Euro Zone นั่นเอง การรวมตัวกันครั้งนี้จะทำให้มีผลประโยชน์, อำนาจต่อรองต่างๆ กับคู่ค้าได้มากขึ้น และการนำเข้าส่งออกของชาติในอาเซียนก็จะเสรี
ทั้งนี้ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และมีผลจริงๆ จังๆ ในวันที่ 1 มกราคม 2558 ณ วันนั้นกลุ่มนักธุรกิจทั่วไปคาดว่าจะทำให้ภูมิภาคนี้เปลี่ยนไปอย่างมาก เนื่องจากการเป็นตลาด และฐานการผลิตเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง นอกจากนี้ยังเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกันอีกด้วย -กภ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit