กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--Francom Asia
บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด (“สำนักงาน”) ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ขอเรียนว่า การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (“ดีเอสไอ”) ได้มีความเห็นสั่งฟ้องผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ (“ผู้บริหาร”) ในคดีเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทฯ ในหลักทรัพย์ของบริษัทยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) (“UMS”) ไปยังพนักงานอัยการ สำนักคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุดนั้น เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการปรกติของกฎหมาย โดยขณะนี้ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว โดยมีประเด็นที่ขอความเป็นธรรมหลายประการ อาทิเช่น การรับคดีนี้ไว้เป็นคดีพิเศษของดีเอสไอ โดยไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานก.ล.ต.ก่อนดังเช่นคดีอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันในอดีต, การสั่งฟ้องคดีนี้ของดีเอสไอโดยละเว้นการสอบสวนพยานบุคคลบางรายที่มีความสำคัญในคดี, การละเว้นของดีเอสไอที่ไม่พิจารณาพยานหลักฐานสำคัญจำนวนมากที่ผู้บริหารได้มอบให้ดีเอสไอเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง และความน่าสงสัยในวัตถุประสงค์อันแท้จริงในการแจ้งความของผู้ถือหุ้นรายย่อยในคดีนี้ เป็นต้น ขณะนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ในระหว่างการพิจารณาเอกสารหลักฐานที่ได้รับจากดีเอสไอ และจะได้มีความเห็นต่อไปว่าควรมีคำสั่งฟ้องผู้บริหารตามความเห็นของดีเอสไอหรือไม่
เนื่องจากบริษัทฯ เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจอย่างโปร่งใส สำนักงานเชื่อมั่นว่า บริษัทฯ จะให้ความร่วมมือกับสำนักงานอัยการสูงสุดอย่างเต็มที่หากสำนักงานอัยการสูงสุดต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมประการใดเกี่ยวกับข้อกล่าวหา
นอกจากนี้ สำนักงานขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับการที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวในหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 19 และ 20 เมษายน 2555 โดยระบุถึงคดีข้างต้นในแต่ละประเด็นดังต่อไปนี้
- คณะกรรมการบริษัทฯ ได้ใช้ความระมัดระวังรอบคอบ และเป็นไปตามปกติทางธุรกิจการค้าของบริษัทฯ แล้วในการตัดสินใจลงทุนใน UMS
- ข้อกล่าวหาที่ว่าบริษัทฯ ตัดสินใจซื้อหลักทรัพย์ของ UMS โดยไม่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ นั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากการตัดสินใจของบริษัทฯ ในการลงทุนในหลักทรัพย์ของ UMS นั้น มีการศึกษาและตรวจสอบสถานะกิจการของ UMS แล้วเป็นอย่างดี ด้วยกระบวนการภายในของบริษัทฯที่ถูกต้องและโปร่งใส ซึ่งประกอบไปด้วยที่ปรึกษาทั้งด้านการเงินและกฎหมายซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการลงทุน โดยได้ทำการศึกษาตรวจสอบสถานะกิจการของ UMS จนเป็นที่เรียบร้อยอย่างดีแล้ว จึงนำเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติในที่สุด ส่วนกรณีการให้บริษัทอะธีนซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทฯ เข้าทำรายการซื้อขายหลักทรัพย์ฯ ใน UMS แทนนั้น สำนักงานได้ให้คำแนะนำและคำยืนยันว่า เป็นการดำเนินการที่ชอบภายในกรอบของกฎหมาย ต่อมาภายหลังจากนั้น บริษัท แอล เอส ฮอไรซัน จำกัดซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษากฎหมายอิสระอีกแห่งหนึ่ง ยังได้ทำความเห็นยืนยันตามความเห็นข้างต้นของสำนักงานว่าการดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไปในรายการที่มีลักษณะเช่นนี้
- การที่บริษัทฯ ลงทุนใน UMS และในบริษัทอื่นรวมถึงเมอร์เมด ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎ ระเบียบและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ (“สำนักงาน ก.ล.ต.”)
- การที่ต่อมาภายหลังจากการลงทุน ราคาหุ้นของ UMS หรือของบริษัทอื่น ๆ มีความผันผวน รวมถึงการได้ผลขาดทุนหรือผลกำไรนั้นเป็นกลไกตามปกติของหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
- ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่ามีการบิดเบือนข้อมูลผลประกอบการที่นำเสนอต่อคณะกรรมการนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากข้อมูลที่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการนั้นได้ผ่านการพิจารณาตรวจสอบเป็นการภายในและโดยที่ปรึกษาซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และเป็นข้อมูลเดียวกับที่ได้แสดงต่อดีเอสไอเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้บริหาร
- บริษัทฯ ไม่ทราบว่าสื่อมวลชนรับทราบข้อมูลในการสอบสวนของดีเอสไอได้อย่างไร ข้อมูลในเนื้อข่าวตามสื่อต่างๆที่ออกมานั้น ปรากฏชัดว่าบางส่วนเป็นข้อมูลที่ได้ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนในชั้นการสอบสวน ซึ่งไม่อาจนำมาเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกให้เป็นการเสียรูปคดีของฝ่ายที่ถูกกล่าวหาได้ นอกจากนี้ ข้อมูลที่สื่อมวลชนได้รับไว้ดังกล่าวนั้น ยังปรากฏว่ามีการบิดเบือนไปจากความจริงอีกด้วย
- สำหรับเรื่องการลงทุนในบริษัทเมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) หรือเรื่องของการที่ผู้ถือหุ้นเดิมของ UMS ถูก สำนักงานก.ล.ต. ดำเนินการกล่าวโทษและปรับเกี่ยวกับการขายหุ้นก่อนการแถลงผลประกอบการที่ลดลงนั้น ไม่ได้เป็นข้อกล่าวหาที่ดีเอสไอมีความเห็นสั่งฟ้องผู้บริหาร การนำเสนอข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อหาแห่งคดีของดีเอสไอตามที่ปรากฏ รังแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมแก่ผู้บริหาร
- ข่าวเกี่ยวกับกรณีการใช้ข้อมูลภายในเพื่อขายหลักทรัพย์ UMS ของผู้ถือหุ้นเดิมนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่บริษัทฯ เข้าซื้อหลักทรัพย์ใน UMS แต่อย่างใด เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหน้าที่บริษัทฯ จะเข้าเจรจาซื้อหุ้น UMS เป็นเวลานานพอสมควร การยกกรณีการใช้ข้อมูลภายในข้างต้นเข้ามาพัวพันกับข้อกล่าวหาที่ได้แจ้งไว้ต่อดีเอสไอก็ดี หรือในสื่อหนังสือพิมพ์นี้ก็ดี ล้วนแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงและก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมแก่ผู้บริหารทั้งสิ้น
บริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือกับดีเอสไออย่างเต็มที่ ในการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อข้อกล่าวหาของผู้ถือหุ้น ตลอดจนได้จัดหาและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อมอบไว้ให้แก่ดีเอสไอ ตามที่ถูกร้องขอ เพื่อประกอบการสอบสวนคดี พยานหลักฐานเหล่านี้ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่าการลงทุนในหลักทรัพย์ของ UMS นั้นบริษัทฯ ได้ใช้ความระมัดระวังรอบคอบตามสมควรและเป็นการดำเนินการซึ่งเป็นปกติธุรกิจของบริษัทฯ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้มีการสื่อสารและชี้แจงข้อมูลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้รับทราบอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา
สำนักงานเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า หากพิจารณาจากพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่บริษัทฯ มี จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อกล่าวหาที่มีต่อผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ นั้นไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด
หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมประการใด ขอได้โปรดติดต่อ
บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด
คุณกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์
[email protected]
หมายเลขโทรศัพท์ +66 2636 2000 ต่อ 3775 หรือ 3776
-กผ-