กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย - ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ คนทำงานบ้านจากหลายจังหวัด เช่น ขอนแก่นปัตตานี เชียงราย และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพกว่า ๓๐ คน เข้าพบ คปก. โดยนางสุนี ไชยรส ศ.ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ นายไพโรจน์ พลเพชร และดร.โชคชัย สุทธาเวศ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๕ ขอให้เร่งรัดกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งกำหนดว่าต้องจัดตั้งคณะกรรมการมากำกับภายใน ๑๒๐ วัน รวมทั้ง ออกกฎ ระเบียบอีกหลายฉบับ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ แต่ไม่มีการดำเนินการใด โดยพ.ร.บ.ประกาศเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ มีผลบังคับใช้หลังจากนั้น ๑๘๐ วัน คือในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔
ทั้งนี้ความล่าช้าดังกล่าวส่งผลให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายรับรองและคุ้มครอง เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ ความปลอดภัยในการทำงาน และสุขภาพของแรงงานนอกระบบ ฯลฯ ทำให้แรงงานนอกระบบไม่สามารถใช้สิทธิ สูญเสียโอกาสและประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากสิทธิที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองแม้พระราชบัญญัติที่มีผลบังคับใช้มากว่าหนึ่งปีแล้ว
นอกจาก แรงงานทำงานบ้านที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ยกเว้นไม่คุ้มครอง ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิในกฎหมายประกันสังคม ทั้งที่มีอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๘๙ ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานทำงานบ้าน และข้อเสนอแนะฉบับที่ ๒๐๑ คนทำงานบ้านยังถูกโกงค่าแรง ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนายจ้าง บางส่วนปกป้องสิทธิตนเองได้ยากลำบากเพราะกลัวถูกเลิกจ้าง บางรายสะท้อนว่าเมื่อถึงยามอายุมาก ไม่มีใครดูแล ต้องอาศัยพี่น้อง และรับจ้างทำงานเล็กๆน้อยๆ
อย่างไรก็ตามหลังจากรับฟังแล้วคณะกรรมการฯ จะเชิญผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงการบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน สาเหตุของความล่าช้าในการออกกฎกระทรวงต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้รับงานไปทำที่บ้านและคนทำงานบ้านตามกฎหมาย ต้นเดือนพฤษภาคมนี้
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net