กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ธนบรรณ จำกัด ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประวัติผลประกอบการทางการเงินที่ดี ความสามารถของคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ และฐานทุนที่แข็งแกร่ง ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการพัฒนาและการปรับปรุงระบบปฏิบัติงานและการจัดการความเสี่ยงให้ดีขึ้นผ่านการสนับสนุนของบริษัทแม่ คือ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อ รายย่อย จำกัด (มหาชน) ด้วย อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์และการมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตในระดับสูงถือเป็นปัจจัยลดทอนความแข็งแกร่งของอันดับเครดิต ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทธนบรรณจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดและผลประกอบการที่น่าพอใจเอาไว้ได้ ในขณะเดียวกัน บริษัทจะสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ พร้อมทั้งยังคงนโยบายธุรกิจแบบระมัดระวัง (Conservative) อย่างต่อเนื่องแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นโดยที่การสนับสนุนจากธนาคารแม่ก็คาดว่าจะยังคงมีอยู่เช่นเดิม
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทธนบรรณก่อตั้งในปี 2521 โดยความร่วมมือของกลุ่มผู้ประกอบการจาก 3 ตระกูล เมื่อพิจารณาจากยอดสินเชื่อคงค้าง บริษัทมียอดคงค้างมากเป็นอันดับ 7 ในจำนวนผู้ประกอบการ 9 รายใหญ่ในฐานข้อมูลของ ทริสเรทติ้ง แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่บริษัททำธุรกิจ บริษัทมีจำนวนบัญชีสินเชื่อใหม่มากเป็นอันดับ 3 ทั้งนี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สินเชื่อคงค้างของบริษัทอยู่ที่ 500-700 ล้านบาท โดยขึ้นอยู่กับภาวะการแข่งขันในแต่ละปี สถานะทางการตลาดของบริษัทค่อนข้างด้อยกว่าคู่แข่งรายใหญ่ในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ผลงานความสามารถในการรักษาระดับสินเชื่อและผลประกอบการด้านการเงินที่ดีเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าโครงสร้างธุรกิจของบริษัทอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ แม้ว่าธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง แต่ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งของธุรกิจช่วยให้บริษัทสามารถดำรงอยู่ได้แม้มีการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ที่เข้าสู่ตลาดในช่วงปี 2548-2549 ด้วยนโยบายทางธุรกิจแบบระมัดระวัง จากผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัทจึงประสบความสำเร็จในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงแต่ก็ให้ผลตอบแทนในระดับสูงเช่นกัน
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในปลายปี 2552 ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อยได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทธนบรรณจากผู้ถือหุ้นเดิม โดยคาดว่าผลประกอบการที่โดดเด่นของบริษัทจะช่วยส่งเสริมผลประกอบการโดยรวมของธนาคารได้ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น ผนวกกับการสนับสนุนจากธนาคารแม่ บริษัทได้ทำการปรับปรุงระบบปฏิบัติงานพร้อมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อและระบบการจัดเก็บหนี้ รวมถึงเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ระบบและนโยบายการจัดการความเสี่ยง
หลังจากเป็นสมาชิกในเครือธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย สินเชื่อคงค้างของบริษัทธนบรรณก็เพิ่มขึ้นจาก 592 ล้านบาทในปี 2552 เป็น 666 ล้านบาทในปี 2553 และเป็น 984 ล้านบาทในปี 2554 ลักษณะของธุรกิจสินเชื่อยานยนต์นั้น สินเชื่อใหม่ส่วนใหญ่มักมาจากการส่งผ่านโดยตัวแทนจำหน่าย แม้ว่าบริษัทจะมีตัวแทนจำหน่ายเกือบ 100 รายในเครือข่ายทางการตลาด แต่กว่า 70% ของสินเชื่อใหม่ยังคงมาจากตัวแทนจำหน่าย 10 รายใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของธุรกิจในแง่ของตัวแทนจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและมีมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปีกับตัวแทนจำหน่ายช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวลงได้ นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการที่ดีและรวดเร็วแก่ตัวแทนจำหน่ายในขณะที่ยังคงดำรงนโยบายเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อแบบระมัดระวัง อีกทั้งยังพยายามกระจายฐานตัวแทนจำหน่ายโดยการขยายพื้นที่ทางการตลาดและเพิ่มจำนวนตัวแทนจำหน่ายให้กว้างขวางและมากขึ้นด้วย
คุณภาพสินเชื่อของบริษัทธนบรรณปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากมีสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 3 เดือน) ต่อเงินให้สินเชื่อรวมปรับตัวดีขึ้นโดยลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 10.5% ในปี 2551 เป็น 1.6% ในปี 2554 การปรับตัวที่ดีขึ้นของคุณภาพสินเชื่อสะท้อนถึงนโยบายการจัดการความเสี่ยงของบริษัทที่เข้มแข็งขึ้นจากการเน้นลูกค้าที่มีคุณภาพเครดิตสูงขึ้น
ในปี 2552 เนื่องจากบริษัทธนบรรณเน้นลูกค้าที่มีคุณภาพเครดิตดีขึ้นในภาวะการแข่งขันที่รุนแรง จึงทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลง บริษัทเรียกเก็บเงินดาวน์ที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยกับอัตราดอกเบี้ยที่เสนอให้แก่ลูกค้าในระดับที่ลดลง ผลตอบแทนด้านอัตราดอกเบี้ยรับจึงลดลงจากเกือบ 40% ในปี 2551 เป็นประมาณ 30% ในปี 2552 ส่งผลให้กำไรสุทธิปรับลดลงเป็น 45 ล้านบาทในปี 2552 จากระดับ 70-80 ล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยลดลงเป็น 6.5% ในปี 2552 จาก 11% ในปี 2551 ผลประกอบการของบริษัทในปี 2553 และ 2554 ยังมีภาระจากการมีค่าใช้จ่ายพิเศษจากสัญญาการให้คำปรึกษา โดยสัญญาดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อให้การเปลี่ยนถ่ายธุรกิจจากผู้ถือหุ้นเก่ามาเป็นธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อยเป็นไปด้วยความราบรื่น บริษัทมีกำไรสุทธิในปี 2553 อยู่ที่ 40 ล้านบาทและปรับเพิ่มเป็น 53 ล้านบาทในปี 2554 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2555 นี้
บริษัทธนบรรณมีความยืดหยุ่นทางการเงินเพิ่มขึ้นมากหลังจากมีสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย อย่างไรก็ตาม บริษัทจัดอยู่ในกลุ่ม Full Consolidation ตามเกณฑ์การกำกับดูแลแบบรวมกลุ่มของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจำกัดเงินทุนที่บริษัทจะได้รับจากธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อยไว้ที่ไม่เกิน 11% ของฐานทุนของธนาคาร โดยฐานทุนของธนาคารยังมีขนาดเล็กและไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านเงินทุนที่ให้แก่บริษัทตามแผนธุรกิจที่วางไว้ บริษัทจึงจำเป็นต้องกระจายแหล่งเงินทุนของตนเอง แม้จะมีการคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต แต่บริษัทก็มีฐานทุนที่แข็งแกร่งจากอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมที่ระดับ 56.7% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งเพียงพอต่อการขยายฐานสินเชี่อ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะดำรงฐานทุนเอาไว้ให้มากกว่าธุรกิจการให้บริการสินเชื่อประเภทอื่น ๆ โดยฐานทุนที่มีมากกว่าปกติจะใช้รองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตในระดับที่สูงกว่าเนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัท ธนบรรณ จำกัด (TNB)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่) -กภ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit