กรุงเทพ--24 ม.ค.--อพท.
นายประเสริฐ กมลวัทนนิศา รักษาการผู้จัดการพื้นที่พิเศษเลย และคณะเจ้าหน้าที่ สพพ.๕ เดินทางไปปฏิบัติราชการพื้นที่พิเศษเลย ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ เพื่อร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเลย หน่วยงานระดับจังหวัด และร่วมต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรับฟังบรรยายสรุปความต้องการของพื้นที่เรื่องโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง และได้เข้าร่วมการประชุมเวทีประชาคม ณ ที่ว่าการอำเภอท่าลี่ ผลการประชุมสรุปได้ดังนี้ โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๔ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุมกับส่วนราชการและภาคเอกชน คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอภูกระดึง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง คณะกรรมการจังหวัดเลย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาจังหวัดเลย หอการค้าจังหวัดเลย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเลย สมาคมพ่อค้าจังหวัดเลย สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดเลย หอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ณ ห้องประชุมสำนักงานอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ที่ประชุมได้พิจารณาและแสดงความคิดเห็นสนับสนุนให้มีการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง และขอให้จังหวัดขับเคลื่อนผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ สำนักงานพื้นที่พิเศษเลย ได้จัดทำ รายงานผลการประชาพิจารณ์โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ซึ่งเป็นผลที่ได้จากการจัดเวทีประชาคม ณ ที่ว่าการอำเภอภูกระดึง เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย โดยประธานคณะกรรมการรณรงค์สร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ได้ดำเนินการ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตอำเภอภูกระดึง ในพื้นที่ ๔ ตำบล ๕๔ หมู่บ้าน จำนวน ๙,๒๘๘ คน มีประชาชนเห็นด้วยในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจำนวน ๙,๒๒๙ คน และไม่เห็นด้วยในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจำนวน ๕๙ คน เสนอต่อจังหวัด โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ดังนี้ ๑) เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ จึงเห็นควรมีการศึกษาถึงความเหมาะสมในด้านสภาพแวดล้อมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเพิ่มเติม ๒) ควรมีการศึกษาถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังจากโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงแล้วเสร็จ ๓) ควรมีการศึกษาถึงข้อกำหนดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ๔) ควรมีการศึกษาถึงรูปแบบการลงทุน และการประเมินขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ๕) ควรมีการจัดทำแผนบริหารจัดการที่คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการสร้างรายได้ของประชาชนเป็นหลักเพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืน ๖) ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่รับทราบถึงที่มาและความสำคัญ รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องในโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้พิจารณาถึงความเหมาะสม ความต้องการของชุมชน ท้องถิ่น ภาคเอกชน และเสนอความเห็นเรื่องการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาขับเคลื่อนผลักดันโครงการให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมใน ๓ แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ ๑ ดำเนินการโดยรัฐ แนวทางที่ ๒ ดำเนินการโดยภาคเอกชนที่มีความสนใจ แนวทางที่ ๓ ดำเนินการร่วมกัน โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความเห็นถึงโครงการว่าการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงว่าต้องมาจากความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ และที่สำคัญมีการศึกษาถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงแล้ว และในวันเดียวกันได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อสำรวจพื้นที่และสภาพภูมิประเทศบนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงต่อไป
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
กส
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit