กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--มหาวิทยาลัยมหิดล
สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศเชิดชูเกียรติอาจารย์ผู้มีความสามารถในเชิงวิชาการ มีจริยธรรม และอุทิศตนในด้านต่างๆ เพื่อเข้ารับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๓ จำนวน ๕ ท่าน ซึ่งได้เข้ารับรางวัลในงาน “๔๒ ปี วันพระราชทานนาม ๑๒๓ ปี มหาวิทยาลัยมหิดล” ๒ มีนาคม ๒๕๕๔ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
รองศาสตราจารย์ ดร.คนึงนิจ พงศ์ถาวรกมล หัวหน้าสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่ (หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต) และประธานอนุกรรมการการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิต และ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สรีรวิทยา) จาก มหาวิทยาลัยมหิดลPh.D. (Nursing) จาก University of Rochester ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์ในการทำงานในระดับนโยบายของคณะพยาบาลศาสตร์ในตำแหน่งรองคณบดี และในระดับนานาชาติ ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่น คณะพยาบาลศาสตร์ และรางวัลศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชดีเด่น สาขาการศึกษาพยาบาล ประเภทอาจารย์พยาบาล มีความเชี่ยวชาญด้านการพยาบาลผู้ป่วยโรคเรื้อรังโดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง มีผลงานวิจัยตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องในวารสารระดับชาติและนานาชาติ ปัจจุบันมีโครงการวิจัยโรคมะเร็งร่วมกับต่างประเทศหลายเรื่อง ซึ่งมีส่วนในการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครการป้องกันโรคมะเร็งในชุมชนสำหรับบุคลากรทางสุขภาพ ผลจากโครงการทำให้เกิดกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครป้องกันโรคมะเร็งในชุมชนต้นแบบ ซึ่งดำเนินงานต่อโดยชุมชนเองและสามารถขยายเครือข่ายไปสู่ชุมชนใกล้เคียงหลายแห่งในปัจจุบัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร. ปรีชา มนทกานติกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Doctor of Pharmacy, Certified Pharmacy Practice Resident, Certified Pediatric Pharmacy Resident จาก University of Illinois at Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกา และหนังสืออนุมัติแสดงความรู้ความสามารถทางเภสัชกรรมสาขาเภสัชบำบัด สภาเภสัชกรรม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาวิชาการ สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) กรรมการสภาเภสัชกรรม และผู้เชี่ยวชาญในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติด้านการคัดเลือกยา สาขาโรคติดเชื้อและวัคซีน เป็นอาจารย์เภสัชกรที่ได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมวิชาชีพและวิชาชีพทางการแพทย์ในองค์ความรู้ทางยาต้านจุลชีพ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นักศึกษาเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง นอกจากนี้ได้มีการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพและการดำรงชีวิต เป็น role model ของเภสัชกรสำหรับนักศึกษาในเชิงบทบาทและหน้าที่ของวิชาชีพต่อผู้ป่วย และความใฝ่รู้ทางวิชาการ
ศาสตราจารย์ ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยมหิดล เคยได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นจากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย มหิดล รางวัลเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี สาขาความเป็นครู และอาจารย์ดีเด่น ฝ่ายปรีคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เคยดำรงตำแหน่งประธานหลักสูตรปริญญาโท สาขาจุลชีววิทยา และปริญญาเอก สาขาจุลชีววิทยาการแพทย์ ๔ วาระ และ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาไวรัสวิทยา เป็นเวลา ๑๑ ปี มีประสบการณ์ในการศึกษาวิจัยไวรัสก่อโรค โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ มีผลงานตีพิมพ์หลายสิบเรื่อง และได้รับรางวัลผลงานที่มีผู้อ้างอิงสูงสุดของมหาวิทยาลัยใน ปีพ.ศ.๒๕๕๓ ได้ใช้ความรู้ทางวิชาการในการวินิจฉัยโรคไข้หวัดนก และโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่รายแรกของประเทศ มีการพัฒนาเทคนิควิธีหลายอย่างขึ้นมาใช้ และได้อบรม หรือเผยแพร่เทคนิคเหล่านี้ให้แก่นักศึกษา อาจารย์ และนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันเพื่อก่อประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป
ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงรัตนพร พรกุล ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต แพทยศาสตรบัณฑิต และประกาศนียบัตรชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล มีความเชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยาทางกุมารเวชศาสตร์ ซึ่งรวมไปถึงอนุสาขาทางด้านโรคหัวใจเด็ก โรคปอดเด็ก และโรคระบบทางเดินอาหารของเด็ก มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารทั้งระดับชาติและนานาชาติ โดยได้ร่วมกับภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จัดทำคู่มือดูแลรักษาผู้ป่วยของสหสาขาวิชาทางด้านการดูแลผู้ป่วยเด็ก ทำให้ผู้ป่วยเด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นครูแพทย์ที่เป็นแบบอย่างในเรื่องความเสียสละ คิดถึงผู้ป่วยเป็นหลัก มีเมตตาธรรม ดูแลผู้ป่วยแบบ holistic ทุ่มเทเวลาให้กับผู้ป่วยทุกราย
รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ศุภชัย สุทธิมัณฑนกุล ผู้อำนวยการหลักสูตรการฝึกอบรมทันตแพทย์เฉพาะทาง สาขาวิทยาเอ็นโดดอนต์ และประธานอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้านการศึกษา ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต วิทยาศาสตร์การแพทย์ และประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับอนุมัติบัตรสาขาวิทยาเอ็นโดดอนต์จากทันตแพทยสภา เป็นผู้ริเริ่มการนำกล้องจุลทรรศน์มาใช้ร่วมในการรักษาคลองรากฟัน และเป็นนักวิจัยโครงการผลิตซีเมนต์ที่ใช้ในการรักษาคลองรากฟัน มีการดูแลเอาใจใส่นักศึกษาอย่างเคร่งครัด เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องการมีความรับผิดชอบ ความระมัดระวังในการทำงาน ความมีระเบียบในการทำงาน ตลอดจนการตรงต่อเวลา
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit