ปิดฉากโครงการประกวดแผนธุรกิจซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ จัดโดยซิป้า และจุฬาฯ อย่างงดงาม

24 Dec 2010

กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--เวเบอร์ แซนวิค

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า (SIPA) ในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานโครงการประกวดแผนธุรกิจซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ นวัตกรรมวาณิชย์ รุ่นที่ 3 ประจำปี 2553 เพื่อค้นหาความเป็นสุดยอดนักวางแผนธุรกิจซอฟต์แวร์กับการต่อยอดไอเดียเพื่อพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 700,000 บาท

อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ประกอบกับความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่สามารถเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ ซึ่งประเทศไทยมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถเขียนซอฟต์แวร์ที่ดี และมีคุณภาพเป็นจำนวนมากแต่ยังขาดความรู้และเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจที่นำเสนอซอฟต์แวร์เข้าสู่ตลาดเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการนี้จึงเป็นประโยชน์ในการพัฒนานักธุรกิจซอฟต์แวร์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ดร. ธนัย ชรินทร์สาร ประธานโครงการประกวดแผนธุรกิจซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2553 หรือ “นวัตกรรมวาณิชย์ รุ่นที่ 3” เปิดเผยว่า “โครงการประกวดแผนธุรกิจซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ นวัตกรรมวาณิชย์ จัดขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนานักธุรกิจซอฟต์แวร์และเฟ้นหาแผนธุรกิจดีเด่นสำหรับซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ในตลาด โครงการนี้ทำให้ผมทราบถึงความสนใจและความกระตือรือร้นของคนไทยทั้งจากภาคธุรกิจ และภาคการศึกษาที่มีต่อธุรกิจซอฟต์แวร์ โดยมีผู้สมัครมากกว่า 500 คน เข้าร่วมการฝึกอบรมกว่า 300 คน และมีแผนธุรกิจซอฟต์แวร์ที่เกิดขึ้นกว่า 100 แผน”

สำหรับผลการตอบรับจากผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ดร. ธนัย ชรินทร์สาร กล่าวต่ออีกว่า “ผลการตอบรับนั้นดีขึ้นจากปีก่อนๆมาก เนื่องจากโครงการประกวดแผนธุรกิจซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ นวัตกรรมวาณิชย์ เป็นชื่อที่ติดตลาดแล้ว และเรามาถูกทางแล้วที่คอยส่งเสริมการแข่งขันซอฟต์แวร์ และผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจมาก ทั้งในส่วนผู้สมัครไปจนถึงทีมที่เข้ารอบและคุณภาพของผลงานการนำเสนอแผนธุรกิจของทีมต่างๆ นับว่าเป็นผลงานที่น่าประทับใจมากและมีหลายไอเดียที่สามารถนำไปต่อยอดใช้ได้จริง ถึงแม้ว่าในปีนี้ เราจะเริ่มโครงการล่าช้ากว่าปีก่อน เพียงระยะเวลา 4 เดือน ผู้เข้าแข่งขันสามารถพัฒนาความคิดเป็นแผนธุรกิจที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง”

“สำหรับในปีหน้า ผู้ที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการฯ ผมแนะนำให้เตรียมตัวเริ่มตั้งแต่วันนี้ ลองหาไอเดียตั้งแต่ตอนนี้ และเริ่มมองหาโอกาสทางธุรกิจซอฟต์แวร์ ลองไปพูดคุยกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่แท้จริง เตรียมทีม ว่าจะมีใครบ้างในทีม จากนั้นเข้ามาร่วมโครงการ เพื่อรับการอบรมการเขียนแผนธุรกิจร่วมกัน และร่วมแข่งขันในปีหน้า”

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยมีบุคลากรที่มีคุณภาพสูงไม่เป็นรองประเทศใดในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม บุคลากรเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำงานให้กับบริษัทจากต่างประเทศ มีเพียงส่วนน้อยที่จะก้าวออกมาเป็นผู้ประกอบการและประสบความสำเร็จจนสร้างชื่อได้ อุปสรรคสำคัญ คือ บุคลากรเหล่านี้ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดตั้งธุรกิจ การตลาด การเงิน และการบริหารจัดการ โดยเฉพาะในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตค่อนข้างจำกัด ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทจากต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไทยสูญเสียโอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศและยังคงมีรายจ่ายด้านไอทีเพื่อจัดหาหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์จากต่างประเทศมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นจำนวนหลายพันล้านบาทต่อปี ถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องเร่งสร้างมืออาชีพด้านนี้อย่างจริงจัง

ภายในงานประกาศผล และมอบรางวัลโครงการประกวดแผนธุรกิจซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ นวัตกรรมวาณิชย์ รุ่นที่ 3 ประจำปี 2553 นางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล รองผู้อำนวยการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า “ในตัวแทนของผู้ดำเนินโครงการและคณะกรรมการการแข่งขัน และซิป้า ขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะการแข่งขันประกวดแผนธุรกิจซอฟต์แวร์และได้รับรางวัล และขอเป็นกำลังใจให้กับผู้เข้าร่วมโครงการที่ส่งแผนธุรกิจซอฟต์แวร์เข้าประกวด อันแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจในการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะการเขียนแผนธุรกิจซอฟต์แวร์อย่างจริงจัง รวมทั้งมีการนำความรู้ที่ได้รับมาใช้ประโยชน์โดยการจัดทำแผนธุรกิจซอฟต์แวร์เข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ ซึ่งนอกจากผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจในธุรกิจซอฟต์แวร์แล้ว ยังเป็นโอกาสในการนำเสนอแนวความคิดและผลิตภัณฑ์ด้านซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจและเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่สามารถจะพัฒนามาใช้ในการดำเนินธุรกิจได้จริง รวมทั้งสร้างเสริมความสัมพันธ์และเครือข่ายอันดีระหว่างกัน”

นายปริญญา กระจ่างมล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของซิป้า กล่าวว่า “โครงการประกวดแผนธุรกิจซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการคัดสรรผลิตภัณฑ์ดีเด่นแห่งชาติ 2553 หรือ เทสก้า 2010 (TESCA 2010) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ในประเทศไทย ทั้งนี้ ซิป้าคาดหวังว่าการประกวดดังกล่าวจะช่วยสร้างนักธุรกิจซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ที่ไม่เพียงมีทักษะทางเทคนิคเท่านั้น แต่ยังมีความรู้ความสามารถด้านบริหารจัดการด้วย ซึ่งเป็นคุณสมบัติจำเป็นมากสำหรับนักพัฒนาในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ นอกจากนี้การประกวดยังช่วยส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ด้านการบริหารธุรกิจในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มากขึ้น ยกระดับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยสู่ตลาดโลกโดยอาศัยเครือข่ายนักบริหารธุรกิจซอฟต์แวร์มืออาชีพ และกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถาบันการศึกษา พัฒนาหลักสูตรการบริหารธุรกิจซอฟต์แวร์และผลิตบุคลากรด้านนี้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต”

จากภาพ – (ทีมซ้าย) ทีม G3F จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศประเภท Embedded & Robotic Software หรือซอฟต์แวร์สำหรับควบคุมอุปกรณ์ต่างๆและระบบหุ่นยนต์ (ทีมขวา) ทีม Sell Excited จากมหาวิทยาลัยมหิดล คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ คว้ารางวัลชนะเลิศประเภท Enterprise Software (ซอฟต์แวร์เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ) ได้รับเงินรางวัลชนะเลิศทีมละ 100,000 บาท โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ดร. ธนัย ชรินทร์สาร (ที่ 2 จากขวา) ประธานโครงการประกวดแผนธุรกิจซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2553 นางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล (ที่ 4 จากซ้าย) รองผู้อำนวยการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ และนายปริญญา กระจ่างมล (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ

จากภาพ – คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากโครงการประกวดแผนธุรกิจซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2553 ร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับสุดยอดนักวางแผนธุรกิจจำนวน 10 ทีม ที่ได้รับรางวัลจากโครงการดังกล่าว ใน 4 ประเภทย่อย คือ 1. Enterprise Software หรือซอฟต์แวร์เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ 2. Embedded & Robotic Software หรือซอฟต์แวร์สำหรับควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ และระบบหุ่นยนต์ 3. Game and Animation หรือซอฟต์แวร์ประเภทเกมและอนิเมชั่น 4. e-Learning Software หรือซอฟต์แวร์เพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษา รวมเงินรางวัลกว่า 700,000 บาท

เกี่ยวกับ TESCA 2010

โครงการคัดสรรผลิตภัณฑ์ดีเด่นแห่งชาติ 2553 หรือ เทสก้า 2010 (TESCA 2010) เป็นหนึ่งในโครงการหลักของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งกระตุ้นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้ตื่นตัว และส่งเสริมศักยภาพของนักคิด นักพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อรองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ผ่านการแข่งขันใน 8 กิจกรรม ครอบคลุมทั้งด้านซอฟต์แวร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ แอนิเมชั่น เกม สมองกลฝังตัว เอนเตอร์ไพรส์ซอฟต์แวร์ และแผนธุรกิจซอฟต์แวร์ พร้อมพัฒนาผลงานต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับผลงานฝีมือคนไทย

รายละเอียด 8 กิจกรรม ของโครงการ TESCA 2010 ประกอบด้วย

1. Thailand ICT Award and Asia Pacific ICT Alliance 2010 (TICTA/APICTA)

2. SIPA Animation Contest 2010 and DigiCon6

3. SIPA Game Contest and Award 2010

4. Thailand Embedded Product Award 2010 (TEPA)

5. National Software Contest 2010 (NSC)

6. ACM International Collegiate Programming Contest 2010 (ACM/ICPC)

7. Software Business Plan Contest 2010

8. Cut & Paste Bangkok Global Tournament 2010

สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ TESCA 2010 ได้ที่เว็บไซต์ www.tesca2010.sipa.or.th

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:

สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน): โทร. 02 –141–7227

ตัวแทนที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์:

คุณฤทัยวรรณ ศิลปาจารย์ โทร. 02-343-6067 อีเมล์: [email protected]

คุณรุ่งนภา ชาญวิเศษ โทร. 02-343-6061อีเมล์: [email protected]

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net