แพทย์โรคไตชี้ล้างไตทางช่องท้อง สะดวกปลอดภัย ไม่ยุ่งยาก เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน อาศัยหลักการธรรมชาติ

21 Sep 2010

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์

รศ.นพ.ทวี ศิริวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากในอดีตที่พบในอัตรา 300-400 คนต่อประชากรล้านคน ในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000-1,500 คนต่อประชากรล้านคน และ 2,200 คนต่อประชากรล้านคนในที่สุด โดยพบว่าผู้ป่วยโรคไตร้อยละ 70 – 80 ไม่เข้าถึงการรักษาและจะเสียชีวิตก่อนได้รับการบำบัดทดแทนไต มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่เข้าถึงการรักษาและได้รับการบำบัดทดแทนไต ทั้งนี้เนื่องจากอาการโรคไตเรื้อรัง มักจะแสดงให้เห็นก็ต่อเมื่อการทำงานของไตเหลือเพียงร้อยละ 10 ดังนั้น ผู้ป่วยไตเรื้อรังในระยะแรกโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็น จึงเสียชีวิตลงด้วยโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งโรคไตเรื้อรังเกิดจากหลายสาเหตุ ที่สำคัญคือ เกิดจากโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ นิ่วในไต กรวยไตอักเสบ รวมถึงอาจเกิดจากผลข้างเคียงจากการใช้ยา และ สารเคมีต่างๆ ได้แก่ ยาแก้ปวดกลุ่ม “เอ็นเสด (NSAIDs)” และยาปฏิชีวนะบางตัว รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนไทยที่ชอบอาหารรสเค็ม เป็นต้น

จากการสำรวจ พบจำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง มีมากที่สุดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยมีอัตราเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 60 ของประเทศ สืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต ภาวะสุขอนามัย พฤติกรรมในการบริโภคอาหาร การบริโภคเค็ม น้ำดื่มไม่สะอาด เป็นโรคนิ่ว การใช้ยาแก้ปวดและยาลดการอักเสบเกินความจำเป็น ไม่ยอมไปพบแพทย์เมื่อมีอาการป่วย คิดว่าสามารถซื้อยารับประทานเองได้ โดยเฉพาะยาแก้ปวด ทำให้ป่วยเป็นโรคไตโดยไม่รู้ตัว หรือมีภาวะโรคแทรกซ้อนอื่นๆ

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง เมื่อเป็นแล้วจะเสียชีวิตทุกคนหากไม่ได้รับการบำบัดทดแทนไต ดังนั้น ทางศูนย์บริการโรคไต รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้มีการสนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง รู้จักวิธีการล้างไตผ่านทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis: PD) ที่จะช่วยลดข้อจำกัดเรื่องเวลาที่ผู้ป่วยและญาติต้องเดินทางไปพบแพทย์อยู่เสมอๆ วิธีนี้ผู้ป่วยสามารถดูแลได้ด้วยตัวเอง สามารถทำการล้างไตได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องพึ่งพาบุคลากรทางการแพทย์ตลอดเวลา และมาพบแพทย์เพียงเดือนละ 1 ครั้ง ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างอิสระเหมือนคนทั่วไป

ผู้ป่วยโรคไต เริ่มหันมาสนใจการล้างไตทางช่องท้องด้วยตัวเองมากขึ้น เมื่อเทียบกับการฟอกเลือด โดยพบว่าอัตราผู้หันมาใช้บริการด้วยวิธีนี้เพิ่มขึ้นกว่า 800% หรือราว 8,500 คน จากปี 2551 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เริ่มเปิดให้บริการมีเพียง 1,000 คน แต่ก็ยังมีผู้ป่วยบางราย ที่คิดว่าการดูแลรักษาควรเป็นหน้าที่ของแพทย์ และพยาบาล หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะ ทำให้ไม่สนใจที่จะทำการรักษาด้วยตัวเอง

รศ.นพ.ทวี ศิริวงศ์ กล่าวแนะนำเพิ่มเติมว่า การล้างไตทางช่องท้อง เป็นเรื่องที่ง่าย ทุกคนสามารถทำเองได้ คนที่ไม่มีความรู้หรือจบป.4 ก็สามารถทำได้ เมื่อผู้ป่วยที่ได้รับการอบรม ก็จะสามารถทำเองได้ทันที เพราะการล้างไตทางช่องท้องนั้น เป็นการถ่ายของเสียออกจากร่างกายโดยอาศัยหลักการทางธรรมชาติ ซึ่งเกิดมาจากภูมิปัญญาชาวบ้านแบบธรรมดา ไม่มีขั้นตอนหรือเทคนิคที่ซับซ้อน ส่วนข้อควรระวังคือเรื่องความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างไตทางช่องท้องผู้ป่วยก็ต้องระมัดระวังเรื่องรักษาความสะอาดเช่นกัน ดังนั้น จึงอยากให้ผู้ป่วยโรคไตและญาติ ทำความเข้าใจใหม่ให้ถูกต้อง เพราะเป็นประโยชน์และสิทธิ์ของผู้ป่วยเอง

ข้อดีของการล้างไตผ่านช่องท้อง ก็คือการรักษาแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ร่างกายสามารถปรับตัวได้ดี เพราะมีการถ่ายเทของเสียออกจากร่างกายตลอดทั้งวัน ทำให้ร่างกายไม่ต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงฉับพลันเหมือนกับการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม ซึ่งผลการวิจัยพบว่า การรักษาด้วยการล้างไตผ่านช่องท้องนั้น ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นเทียบเท่ากับการฟอกเลือดแต่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอิสระได้มากขึ้น การล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองที่บ้านจะช่วยลดภาระผู้ป่วยและญาติ รวมถึงช่วยลดภาระการขาดแคลนพยาบาลและบุคลากรการแพทย์ด้านโรคไต โดยปัจจุบันสปสช.มีนโยบายให้ผู้ป่วยเบิกน้ำยาล้างไตไปใช้ที่บ้านได้เต็มจำนวน สอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนสปสช.โทร.1330

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net