นักฟิสิกส์ไทย ตามรอยโนเบล วิจัย “แกรฟีน” วัสดุแห่งโลกอนาคต ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--สวทช.

ทีมนักฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัย “แกรฟีน” วัสดุที่พัฒนาโดยสองนักฟิสิกส์เจ้าของรางวัลโนเบลปีล่าสุด เน้นศึกษาสมบัติทางอิเล็กทรอนิกส์ของแกรฟีนในเชิงทฤษฎี เผยมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติแล้ว 11 ฉบับ หวังใช้เป็นองค์ความรู้พื้นฐานในการนำไปต่อยอดพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นับเป็นทีมวิจัยกลุ่มแรกที่ศึกษาแกรฟีนในประเทศไทย รศ.ดร.รัศมีดารา หุ่นสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฟิสิกส์บูรณาการ ศูนย์ความเป็นเลิศทางฟิสิกส์(ThEP) และอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แกรฟีน(Graphene) เป็นวัสดุที่ประกอบด้วยอะตอมคาร์บอนเรียงตัวกันในลักษณะสองมิติ มีโครงสร้างเป็นรูปตาข่ายรวงผึ้ง ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของวัสดุคาร์บอนที่มีรูปแบบโครงสร้างชนิดอื่นในอัญรูปเดียวกัน เช่น ท่อนาโนคาร์บอน ฟูลเลอรีนหรือบัคกี้บอล และแกรไฟต์ ถูกค้นพบและพัฒนาขึ้นโดยสองนักฟิสิกส์ อังเดร กีม และ คอน สแตนติน โนโวเซลอฟ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร “สมบัติที่น่าสนใจของแกรฟีน คือไม่เพียงเป็นโครงสร้างคาร์บอนที่บางที่สุดในโลก มีความหนาเพียง 1 อะตอม หรือประมาณ 10-10 เมตร เท่านั้น แต่แกรฟีนยังสามารถนำไฟฟ้าได้ดีกว่าโลหะหรือสารกึ่งตัวนำชนิดอื่นมาก มีความโปร่งใสสูงถึง 98% และนำความร้อนได้ดี เป็นต้น แกรฟีนจึงเป็นวัสดุชนิดใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับทีมนักศึกษาภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความสนใจและเป็นแรงบันดาลใจที่ช่วยผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นทีมวิจัยด้านแกรฟีนในที่สุด” ปัจจุบันทีมวิจัยด้านแกรฟีนประกอบด้วยนักศึกษาปริญญาโทและเอกทั้งหมด 11 คน มี รศ.ดร.รัศมีดารา หุ่นสวัสดิ์ และศ.(พิเศษ) อิ มิง ถัง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดย รศ.ดร.รัศมีดารา กล่าวว่า “เราเริ่มทำงานวิจัยในปี 2549 เน้นการศึกษาสมบัติทางไฟฟ้าของแกรฟีนในเชิงทฤษฎี เพื่อค้นหาสมบัติและทำนายพฤติกรรมการทำงานของแกรฟีนในแง่มุมใหม่ๆ เพื่อเป็นองค์ความรู้พื้นฐานให้นักวิทยาศาสตร์นำไปประยุกต์ใช้พัฒนาแผ่นแกรฟีนสำหรับสร้างอุปกรณ์นาโนอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต “ตัวอย่างงานวิจัย เช่น การศึกษาสมบัติการเป็นซูเปอร์คอนดักเตอร์ (Superconductor) หรือการเป็นวัสดุตัวนำยิ่งยวดในแกรฟีน ของนายอัศนัย สุวรรณวรางกูร การศึกษาแกรฟีนสองชั้น (Bilayer Graphene) และควบคุมแถบช่องว่างพลังงานด้วยการหาสนามไฟฟ้า ผลงานของ นายชัยพัฒนา ใสสะอาด รวมถึงการศึกษาการยืดออกของแกรฟีน ของ ดร.บำเหน็จ สุดชมโฉม ที่อาจจะเกิดสมบัติใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยพบมาก่อน ซึ่งงานวิจัยทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศทางฟิสิกส์ (ThEP) โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)” รศ.ดร.รัศมีดารา กล่าวว่า ขณะนี้ผลงานวิจัยด้านแกรฟีนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติแล้วจำนวน 11 ฉบับ และถือได้ว่าเราเป็นกลุ่มวิจัยแรกในประเทศไทยที่ทำงานวิจัยแกรฟีนและมีผลงานในเชิงทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ส่วนเป้าหมายต่อจากนี้ ทีมวิจัยมีความหวังว่าจะทดลองเตรียมแกรฟีนเพื่อใช้ในการทดลองในด้านต่างๆ แต่ด้วยคนทำงานด้านนี้ยังมีน้อยและยังขาดห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์การทดลองอีกมาก ดังนั้น หากในอนาคตมีห้องปฏิบัติการที่พร้อมและมีนักวิทยาศาสตร์ในสาขาอื่นๆ เช่น เคมี วิศวกรรม เข้ามาร่วมทำวิจัยด้านนี้มากขึ้น เชื่อว่าประเทศไทยก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาแกรฟีนเพื่อประยุกต์ใช้กับงานทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นกัน” นายวัชระ เลี้ยวเรียน นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงงานวิจัยแกรฟีนในหัวข้อ Spin switching effect in a ferromagnetic graphene junction having a second gate ว่า ด้วยงาน “อิเล็กทรอนิกส์” มีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่ “สปินทรอนิกส์” ซึ่งก็คือการเปลี่ยนจากการใช้การควบคุมการไหลของอิเล็กตรอน หรือการไหลของกระแสไฟฟ้าในอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ โทรทัศน์ วิทยุ ฯลฯ มาเป็นการควบคุมการหมุน (spin) ของอิเล็กตรอนเพียงตัวเดียว จึงสนใจว่าวัสดุแกรฟีนมีสมบัติการเป็นสปินทรอนิกส์ได้ดีหรือไม่ ด้วยการคำนวณและสร้างสมการในการจำลองใส่อิเล็กตรอนที่มีการหมุนในรูปแบบต่างๆ เช่น หมุนขึ้น (Spin up) หมุนลง(Spin down) เข้าไปในแผ่นแกรฟีนที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีสมบัติความเป็นแม่เหล็ก และดูว่าแกรฟีนควบคุมการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนได้ดีหรือไม่ “ผลวิจัยพบว่า แกรฟีนมีสมบัติที่ดีในการกรองสปินของกระแสอิเล็กตรอน ซึ่งหากนำไปประยุกต์ใช้กับสปินทรอนิกส์ จะช่วยให้เก็บข้อมูลได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณเลยทีเดียว โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Physica E: Low-dimensional System and Nanostructures เมื่อเดือนมีนาคม 2553 ส่วนการพัฒนาต่อยอด มีความตั้งใจจะหาแนวทางพัฒนาแกรฟีนให้สามารถควบคุมการกรองสปินของอิเล็กตรอนให้ได้ 100 %” สำหรับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปีนี้ที่ราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนมอบให้แก่สองนักฟิสิกส์ผู้พัฒนาแกรฟีนนั้น นายวัชระ กล่าวว่า “รู้สึกดีใจ และปลื้มใจอย่างมากที่งานวิจัยสาขานี้เป็นที่ยอมรับ และเป็นการยืนยันว่าแกรฟีนเป็นวัสดุที่มีความน่าสนใจและจะเป็นประโยชน์ต่อวงการนาโนอิเล็กทรอนิกส์อย่างยิ่ง พร้อมทั้งหวังว่าแกรฟีนจะเป็นวัสดุตัวใหม่ที่คนไทยรู้จักมากขึ้น” ด้าน ศ.(พิเศษ) อิ มิง ถัง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้วิจัยแกรฟีน กล่าวว่า แกรฟีน เป็นวัสดุที่จะทำให้เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด มีนักวิทยาศาสตร์หลายประเทศให้ความสนใจศึกษาทดลองจำนวนมาก เช่น กลุ่มนักฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์กับสถาบันเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศรัสเซีย ได้ทดลองใช้แกรฟีนเป็นตัวนำโปร่งใสเคลือบบนอุปกรณ์โฟโตนิกส์ พบว่า แกรฟีนให้ค่าการส่องผ่านแสงสูงและมีสภาพต้านทานต่ำ เหมาะต่อการนำไปใช้สร้างอุปกรณ์เชิงแสง เช่น จอแสดงผลคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือ ทดแทนการใช้อินเดียมที่มีราคาสูงและคาดกว่าจะหมดไปภายใน 10 ปีนี้ “ล่าสุดบริษัทไอบีเอ็มผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของโลก ได้ทดลองนำแผ่นแกรฟีนมาผลิตเป็นทรานซิสเตอร์ในคอมพิวเตอร์ พบว่า ช่วยให้การประมวลผลมีความเร็วขึ้นถึง 100 GHz ขณะที่ ซิลิคอน ซึ่งใช้อยู่เดิมมีการประมวลผลสูงสุดเพียง 3-4 GHz เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยศึกษาสมบัติในการเก็บประจุหรือกักเก็บพลังงานไฟฟ้า พบว่าแกรฟีนมีศักยภาพในการเก็บประจุได้สูงมาก นับเป็นความหวังที่จะนำมาใช้กักเก็บพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ด้วยสมบัติพิเศษที่มากมายเช่นนี้ จึงเป็นคำตอบว่าเหตุใด กีม และ โนโวเซลอฟ จึงได้รับรางวัลโนเบลภายหลังจากการค้นพบแกรฟีนเพียง 5-6 ปีเท่านั้น และในไม่ช้า “แกรฟีน” จะเป็นวัสดุที่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่วงการด้านอิเล็กทรอนิกส์อีกครั้ง” ศ.(พิเศษ) อิ มิง ถัง กล่าวทิ้งท้าย เจาะลึกการพัฒนาแกรฟีน แกรฟีน เป็นวัสดุที่ประกอบด้วยอะตอมคาร์บอนเรียงตัวกันในลักษณะสองมิติ มีโครงสร้างเป็นรูปตาข่ายรวงผึ้ง ถูกค้นพบและพัฒนาขึ้นโดยสองนักฟิสิกส์ อังเดร กีมและ คอนสแตนติน โนโวเซลอฟ ด้วยวิธีที่เรียกว่า “micromechanical cleavage หรือ Scotch tape method” คือใช้ สก๊อตเทปแปะเกร็ดแกรไฟต์ (graphite flake)และดึงลอกแกรฟีนออกมาทีละชั้น เนื่องด้วยโครงสร้างแกรไฟต์ประกอบด้วยชั้นของแกรฟีนที่ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ และแต่ละชั้นยึดเหนี่ยวกันด้วยแรงอ่อนๆ ที่เรียกว่าแรงแวนเดอร์วาล์วเท่านั้น แม้การแยกแกรฟีนจะดูไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากคือการค้นหาแกรฟีนให้เจอและพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นแกรฟีนที่มีความหนาเพียง 1 อะตอม เพราะแกรฟีนมีความโปร่งใสมาก แต่ในที่สุดพวกเขาก็สามารถค้นหาแกรฟีนได้สำเร็จ ด้วยการนำไปวางบนวัสดุรองรับซิลิคอนไดออกไซด์ (SiO2) ที่อยู่บนซิลิคอน (Si) อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นวัสดุรองรับ (Substate) ที่ช่วยให้แกรฟีนเผยโฉมบนโลกใบนี้ในที่สุด หมายเหตุ : ใช้คำว่าแกรฟีน ตามราชบัณฑิต ข้อมูลภาพจาก : ทีมวิจัยแกรฟีน ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://nobelprize.org/ สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ข่าวรัศมีดารา หุ่นสวัสดิ์+มหาวิทยาลัยมหิดลวันนี้

Group-IB ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ในประเทศไทย

กรุ๊ป-ไอบี (Group-IB) ผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีความปลอดภัยไซเบอร์ระดับแนวหน้า เพื่อใช้ตรวจสอบ ป้องกัน และ ต่อสู้กับอาชญากรรมดิจิทัล ประกาศลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับมหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทย ที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการไอที จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ (The Cybersecurity Center of Excellent: CCE) ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของประเทศด้านการศึกษา วิจัย และเสริมศักยภาพด้านการป้องกันภัยทางไซเบอร์ ที่มีประสิทธิภาพระดับโลก

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทย... โครงการสัมมนาวิชาการ AI & Cyber Intelligence: The Future of Human-Machine Collaboration & Security — คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัย...

ภาพข่าว: บสย.ร่วมกับ KBANK และมหิดลหนุน SMEs มือใหม่

นายวิบูลย์ เพิ่มอารยวงศ์กรรมการและผู้จัดการทั่วไปบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมนายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และศาสตราจารย์ ดร.รัศมีดารา หุ่นสวัสดิ์ คณบดี วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าว...

ภาพข่าว: กสิกรไทย บสย. และมหิดล จัดโครงการสนับสนุนเอสเอ็มอีมือใหม่

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับ นายวิบูลย์ เพิ่มอารยวงศ์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไปบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ ศาสตราจารย์ ดร.รัศมีดารา หุ่นสวัสดิ์ คณบดี วิทยาลัยการจัดการ...

CMMU จับมือ บางจาก จัดโครงการ “ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจฯ”

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) จับมือ บริษัทบางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จัดโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเผยแพร่สู่เวทีระดับชาติและนานาชาติ เพื่อ...

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ บางจาก ปิโตรเลียม จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ บางจาก ปิโตรเลียม เชิญสื่อมวลชนร่วมงานแถลงข่าว เปิดตัวโครงการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง:ระเบิดจากข้างในเพื่อความยั่งยืน โดยรองศาสตราจารย์ ดร.รัศมีดารา...

ธนาคารกสิกรไทย และวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าวโครงการ “K SME สานฝันธุรกิจไทยปี 54”

ด้วย ธนาคารกสิกรไทย และวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดแถลงข่าวโครงการ “K SME สานฝันธุรกิจไทยปี 54” การแข่งขันค้นหาสุดยอดแผนธุรกิจระดับประเทศ โดยนายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ...

นักฟิสิกส์ไทย ตามรอยโนเบล วิจัย “แกรฟีน” วัสดุแห่งโลกอนาคต ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.

ทีมนักฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัย “แกรฟีน” วัสดุที่พัฒนาโดยสองนักฟิสิกส์เจ้าของรางวัลโนเบลปีล่าสุด เน้นศึกษาสมบัติทางอิเล็กทรอนิกส์ของแกรฟีนในเชิงทฤษฎี เผยมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติแล้ว 11...