ธนายง ประกาศแผนการเข้าซื้อกิจการ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส)

23 Mar 2010

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--เวิรฟ

บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) ประกาศแผนการเข้าซื้อกิจการของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส หรือ BTSC) โดยจะเข้าเจรจา และตกลงทำสัญญาเพื่อซื้อหุ้นสามัญของบีทีเอส จากผู้ถือหุ้นบีทีเอสในปัจจุบัน เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเพิ่มความน่าสนใจในหุ้นของบริษัท จากมูลค่าหลักทรัพย์ (Market Capitalization) และสภาพคล่องของหุ้นที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงผลการดำเนินธุรกิจการให้บริการรถไฟฟ้าของบีทีเอสซึ่งมีความมั่นคงและมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติเห็นชอบในแผนการเข้าซื้อกิจการของบีทีเอส โดยภายใต้แผนดังกล่าว บริษัทจะเข้าเจรจาและตกลงทำสัญญาเพื่อซื้อหุ้นสามัญของบีทีเอสจาก Siam Capital Developments (Hong Kong) Limited, Keen Leader Investments Limited, และนายคีรี กาญจนพาสน์ รวมถึงการซื้อและรับโอนกิจการทั้งหมดจาก บริษัท สยาม เรลล์ ทรานสปอร์ต แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบีทีเอสในปัจจุบัน จำนวนรวมประมาณ 15,022.33 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นจำนวนร้อยละ 94.60 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบีทีเอส คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 40,034.53 ล้านบาท โดยบริษัทจะชำระค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นเงินสดจำนวนประมาณ 20,655.71 ล้านบาท (ประมาณร้อยละ 51.59 ของค่าตอบแทน) และออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทอีกประมาณ 28,166.88 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 0.688 บาท คิดเป็นมูลค่า 19,378.81 ล้านบาท (ประมาณร้อยละ 48.41 ของค่าตอบแทน) เพื่อชำระค่าหุ้นแทนการชำระด้วยเงินสด ทั้งนี้ บริษัทจะดำเนินการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน จำนวนรวม 22,000 ล้านบาท เพื่อใช้ชำระค่าหุ้นในส่วนที่เป็นเงินสด และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

ภายหลังจากการเข้าซื้อหุ้นสามัญของบีทีเอสจำนวนดังกล่าว บริษัทจะออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน มูลค่ารวมประมาณ 12,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนของหุ้นที่ถือ (Rights Offering) เพื่อนำมาชำระเงินคืนเงินกู้ยืมบางส่วน ในกรณีที่มีหุ้นเหลือจากการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม บริษัทจะทำการจัดสรรหุ้นที่เหลือโดยเสนอขายแก่นักลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง (Private Placement) นอกจากนั้น เพื่อเป็นสิ่งตอบแทนและเป็นการจูงใจในการจองซื้อหุ้น บริษัทจะดำเนินการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) โดยไม่คิดมูลค่า ให้แก่ผู้ลงทุนทุกรายที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนดังกล่าว โดยใบสำคัญแสดงสิทธิมีอายุ 3 ปี สามารถเริ่มใช้สิทธิครั้งแรกได้เมื่อครบ 2 ปี นับจากวันที่ออก มีราคาใช้สิทธิที่ 0.70 บาท ต่อหุ้น ทั้งนี้ คาดว่าการซื้อหุ้นและการรับโอนกิจการจากผู้ถือหุ้น บีทีเอสดังกล่าว จะแล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2553 โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับดูแล ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 29 เมษายน 2553 และบริษัทสามารถปฏิบัติได้ครบถ้วนตามเงื่อนไขบังคับก่อนที่ระบุไว้ในสัญญาที่เกี่ยวข้อง

“การเข้าซื้อหุ้นสามัญของบีทีเอสจะทำให้ธนายงจะมีขอบเขตการดำเนินธุรกิจและสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ปัจจุบัน บีทีเอสมีสินทรัพย์รวมประมาณ 55,401.50 ล้านบาท หรือ คิดเป็นประมาณ 7.3 เท่า ของสินทรัพย์ทั้งหมดของ ธนายง การตัดสินใจในการดำเนินการซื้อหุ้นสามัญของบีทีเอสดังกล่าว เป็นไปตามเหตุผลสำคัญเพื่อเสริมสร้าง ความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากการพัฒนาโครงการต่างๆ ร่วมกัน โดยการใช้ประโยชน์จากที่ดินของบีทีเอส และประสบการณ์ในการพัฒนาและบริหารโครงการของธนายง นอกจากนั้น ยังเป็นการเพิ่มความน่าสนใจในหุ้นของบริษัท จากมูลค่าหลักทรัพย์ (Market Capitalization) และสภาพคล่องของหุ้นที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงผลการดำเนินธุรกิจการให้บริการรถไฟฟ้าของบีทีเอส ซึ่งมีความมั่นคงและมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทเชื่อว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง รวมถึงเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่การดำเนินธุรกิจของบริษัทและผู้ถือหุ้นของบริษัท” นายคีรี กล่าวเสริม

“ผู้บริหารของบริษัทเชื่อว่าธุรกิจการให้บริการรถไฟฟ้าของบีทีเอส เป็นธุรกิจที่ดี มีโอกาสในการเติบโตสูง ตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2542 บีทีเอสมีจำนวนผู้โดยสารและรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน บีทีเอสให้บริการ ผู้โดยสารมากกว่า 450,000 คนต่อวันทำงาน และเพื่อรองรับความต้องการใช้รถไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บีทีเอสมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนรถที่ให้บริการอีกประมาณร้อยละ 50 ซึ่งจะทำให้สามารถให้บริการผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน สำหรับโครงการส่วนต่อขยายของระบบขนส่งมวลชนของภาครัฐที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น บีทีเอสจะเป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการส่งต่อผู้โดยสารเข้ามาในระบบรถไฟฟ้าของบีทีเอส ซึ่งได้รับสัมปทานจาก กทม. นอกจากนั้น บีทีเอสยังมีข้อได้เปรียบในการให้บริการส่วนต่อขยายจากความสามารถในการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะให้ความสะดวกแก่ผู้โดยสารมากกว่า จากการเป็นผู้ให้บริการรายเดียวกัน บริษัทเชื่อว่าธุรกิจการให้บริการรถไฟฟ้าของบีทีเอส จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจของธนายง และสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงต่อผู้ถือหุ้นของธนายง”

สำหรับการดำเนินธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ร่วมกันของธนายงและบีทีเอส นั้น นายคีรี กล่าวเสริมว่า “ธนายงมีประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มาเป็นระยะเวลานาน มีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรและเทคโนโลยีในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ขั้นตอนการประเมินโครงการ การวางแผนพัฒนาที่ดิน การบริหารจัดการโครงการ การดำเนินการก่อสร้าง และการดำเนินโครงการภายหลังโครงการแล้วเสร็จ ซึ่งประสบการณ์และความเชี่ยวชาญดังกล่าวนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของบีทีเอส ซึ่งอยู่ใจกลางกรุงเทพตามแนวทางเดินรถไฟฟ้า”

ภายหลังการเข้าซื้อหุ้นของบีทีเอสเสร็จสิ้น โครงสร้างผู้ถือหุ้นของธนายงจะมีการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ นายคีรี และนายกวิน กาญจนพาสน์ จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 41.46 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของธนายง และมีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหม่ 2 กลุ่ม ได้แก่ กองทุนที่บริหารโดย Ashmore Investment Management Limited และ กองทุนที่บริหารโดย Farallon Capital Management, L.L.C. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในปัจจุบันของบีทีเอส ทั้งนี้ ในอนาคต บริษัทยังมีแผนที่จะซื้อหุ้นสามัญของบีทีเอสจำนวนร้อยละ 5.4 จากผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ ทั้งหมดของบีทีเอส โดยชำระค่าหุ้นด้วยการการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทให้ในราคาไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 0.60 บาท

เกี่ยวกับบริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน)

บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทยที่ก่อตั้งมากว่า 30 ปี โดยบริษัทได้เริ่มเปิดโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการแรก คือ โครงการธนาซิตี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ประกอบด้วยบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารชุดพักอาศัย และที่ดินเปล่าจัดสรร ในปัจจุบัน บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ทั้งในส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้น ทีมงานผู้บริหาร ตลอดจนได้มีการร่วมลงทุนและร่วมดำเนินธุรกิจกับพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากดูไบ ฮ่องกง และจีน โดยบริษัทได้ขยายการดำเนินธุรกิจจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไปยังธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจโรงแรม การบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ และการให้บริการ และ งานบริหารโครงการ

ในปี 2534 บริษัทได้นำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหริมทรัพย์ หมวดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ภายใต้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ “TYONG” โดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ นายคีรี กาญจนพาสน์

โครงการหลักในปัจจุบันของบริษัท ได้แก่ โครงการธนาซิตี้ โครงการโรงแรม ยู เชียงใหม่ บริหารโดย Absolute Hotel ซึ่งได้ลงนามในสัญญาเพื่อบริหารโรงแรมอีก 38 แห่งภายใต้แบรนด์ U Hotel โครงการเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ เดอะรอยัลเพลส และเดอะแกรนด์ นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้บริหารงานโครงการบ้านเอื้ออาทร และโครงการโรงแรมโฟร์พอยท์ เชอราตัน (Four Points by Sheraton) ซึ่งเป็นโครงการโรงแรมระดับ 4 ดาว สูง 32 ชั้น จำนวนห้องพัก 437 ห้อง ตั้งอยู่ในศูนย์กลางธุรกิจบนถนนสาทร ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ มูลค่าโครงการประมาณ 2,200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้าง แล้วเสร็จในปี 2554 โดยบริหารโครงการในลักษณะสัญญาจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey) โดยขอบเขตการให้บริการครอบคลุมตั้งแต่ การออกแบบ การก่อสร้าง ตลอดจนการจัดหา ผู้บริหารงานโรงแรมภายหลังโรงแรมก่อสร้างเสร็จ

เกี่ยวกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นผู้ได้รับสิทธิในการดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชน กทม. (“ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส”) แต่เพียงผู้เดียว โดยระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นระบบรถไฟฟ้าสายแรกในประเทศไทย เริ่มเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2542 มีเส้นทางที่ครอบคลุมพื้นที่เขตชั้นในย่านการค้าและธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ ปัจจุบันระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส มีขบวนรถไฟฟ้า 35 ขบวน มีจำนวนสถานีทั้งหมด 23 สถานี ให้บริการในสองเส้นทาง คือ สายสุขุมวิทและสายสีลม คิดเป็นระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.5 กิโลเมตร นอกจากนี้ BTSC ได้รับจ้างกทม. เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีลม โดยมีสถานี 2 แห่ง บนระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ณ ปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2552 BTSC ให้บริการผู้โดยสารกว่า 136 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 11.0 นับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ และในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม ปี 2552 มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันคิดเป็น 448,362 คนต่อวันทำงาน นับจากเริ่มเปิดให้บริการ BTSC ได้ให้บริการผู้โดยสารมากกว่า 1,155 ล้านเที่ยวคน

นอกเหนือจากธุรกิจการให้บริการรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก BTSC ยังดำเนินธุรกิจให้เช่าพื้นที่โฆษณา และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดย กลุ่มวีจีไอซึ่ง BTSC ถือหุ้นร้อยละ 100 ดำเนินการบริหารจัดการด้านการตลาดเกี่ยวกับพื้นที่โฆษณา ทั้งภายในและพื้นที่รอบนอกขบวนรถไฟฟ้า รวมถึงพื้นที่ร้านค้าและโฆษณาในบริเวณสถานีรถไฟฟ้ารวมถึงการโฆษณาในร้านค้าปลีกชั้นนำขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น การบริหารพื้นที่โฆษณา และจอแอลซีดี ในห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส การบริหารพื้นที่โฆษณาในบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และคาร์ฟูร์ เป็นต้น สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น BTSC ได้ดำเนินการซื้อที่ดิน 5 แปลง ซึ่งมีที่ดินอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงแรมระดับ 4 ดาว 1 แปลง อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการพัฒนาที่ดินเป็นอาคารชุดพักอาศัย 1 แปลง อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการพัฒนาที่ดินเป็นโรงแรมอีก 2 แปลง ส่วนที่เหลืออีก 1 แปลง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการพัฒนา

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ: เวิรฟ

พรรณราย ทวีโชติกิจเจริญ (อ๋า) โทร. 02-204-8212

ประสิทธิ์ กฤษฎาอริยชน (บ็อบ) โทร. 02-204-8216