โลกร้อนทำพิษ ส่งผลน้ำทะเลร้อน ปะการังตาย ทช.วอนหยุดดำน้ำชั่วคราว ลดรบกวนปะการัง

กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูง ส่งผลให้ปะการังฟอกขาวเป็นบริเวณกว้าง ทั้งฝั่งอ่าวไทยและ อันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งวอนนักท่องเที่ยวงดดำน้ำ ลดการรบกวนปะการัง ให้เวลาฟื้นตัว นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน จนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลากว่า 6 สัปดาห์แล้วที่ปะการังบริเวณความลึกไม่เกิน 20 เมตรทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ได้รับความร้อนทั้งจากแสงแดดโดยตรงและจากอุณหภูมิของน้ำที่เพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุให้ปะการังอ่อนแอลง และในบางพื้นที่ปะการังได้รับความเสียหายจนตายในที่สุด ซึ่งโดยปกติปะการังสามารถดำรงชีวิตได้ในที่ที่อุณหภูมิน้ำทะเลอยู่ในช่วง 20 – 30 องศาเซลเซียส แต่หากอุณหภูมิน้ำทะเลมีการเปลี่ยนแปลงจากปกติ เช่น อุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิสูงสุดที่ปะการังสามารถอยู่ได้ตามปกติเพียง 1 – 2 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลานาน ปะการังจะขับสาหร่ายซูแซนเทลลี่ที่เป็นส่วนหนึ่งของปะการังออก ดังนั้นเมื่อไม่มีสาหร่ายชนิดดังกล่าว เราจึงสามารถมองผ่านเนื้อเยื่อใสของปะการังลงไปจนเห็นสีขาวของโครงสร้างหินปูน ซึ่งเราเรียกปรากฎการณ์เช่นนี้ว่าปะการังฟอกขาว “ที่ได้รับรายงานว่าปะการังฟอกขาวเป็นวงกว้างแล้วคือบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์และสิมิลัน ส่วนบริเวณใกล้ชายฝั่งของเกาะภูเก็ตพบว่าปะการังมีความเสียหายมากที่สุด รองลงมาคือเกาะบริเวณจ.ตรัง กระบี่ สตูลและชุมพรที่อุณหภูมิของน้ำเพิ่มขึ้นถึง 32 องศาเซลเซียส” นายวรรณเกียรติ กล่าว ทางด้านนายนิพนธ์ พงศ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ขณะนี้ ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวกำลังเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลก อาทิ มหาสมุทรแปซิฟิค ทางตอนใต้ของอินเดียและศรีลังกา ทางตะวันออกของอัฟริกา บริเวณใกล้เกาะมาดากัสการ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้วเมื่อปี 2534 และปี 2538 ซึ่งนับว่าเป็นการฟอกขาวของปะการังครั้งใหญ่ที่ปะการังเกือบทุกแห่งมีการฟอกขาว และตายเยอะ จนในขณะนี้ก็ยังได้รับการฟื้นฟูไม่หมด ต่อมาอีกครั้งในปี 2546 แต่ครั้งนั้นปะการังสามารถฟื้นตัวได้เร็วเนื่องจากน้ำทะเลได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ช่วยให้อุณหภูมิของน้ำทะเลลดลง “หากภายใน 2 – 3 อาทิตย์ต่อจากนี้ ยังไม่มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน ก็จะทำให้ปะการังตายเพิ่มมากขึ้น แม้ขณะนี้จะมีการประกาศปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเลหลายแห่งแล้วก็ตาม แต่ทะเลบริเวณนอกเหนือจากอุทยานแห่งชาติ ฯ ก็ต้องได้รับการดูแลเช่นกัน จึงขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว นักดำน้ำงดกิจกรรมดำน้ำในทะเลไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันเป็นการชั่วคราว เพื่อลดการรบกวนปะการัง และปล่อยให้ปะการังมีเวลาฟื้นตัวให้สมบูรณ์ดังเดิม” นายนิพนธ์ กล่าวในที่สุด ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มสื่อสารองค์กร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 120 หมู่ 3 ชั้น 5 อาคารรวมหน่วยราชการ (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0-2141-1299 โทรสาร 0-2143-9249

ข่าวกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง+วรรณเกียรติ ทับทิมแสงวันนี้

มิสทิน ร่วมกับ ทช. เดินหน้าโครงการยกเลิกการใช้สารที่เป็นอันตรายต่อปะการัง

มิสทิน ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เดินหน้าโครงการยกเลิกการใช้สารที่เป็นอันตรายต่อปะการังในผลิตภัณฑ์กันแดดปลูกจิตสำนึก อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน มิสทิน ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นำโดย ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) พร้อมด้วยคณะให้การต้อนรับคุณปราการ สท้านโยธิน กรรมการผู้จัดการ และคณะผู้บริหาร บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด และ และ บริษัท เบทเตอร์เวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในนามผู้จัดจำหน่าย

นายอรรถพล เจริญชันษา (ที่2จากซ้าย) อธิบดี... LET จัดอบรม e-Service การบริหารจัดการสัตว์ป่าตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ — นายอรรถพล เจริญชันษา (ที่2จากซ้าย) อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รัก...