รพ.แม่อาย เพาะเมล็ดพันธุ์ความดีสู่ชุมชน สร้างคุณค่า เสริมแรงบันดาลใจ และเท่าเทียมในสังคม

12 Oct 2009

กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--สสส.

ด้วยความมุ่งมั่น จริงจังของต้นแบบที่ดีอย่างนายแพทย์ไกร ดาบธรรม อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่อาย จ.เชียงใหม่ ที่จะยกระดับสุขภาพของชาวบ้าน ด้วยการรุกเข้าหาชุมชน หนุนเสริม

ให้ชาวบ้านได้กินอิ่ม นอนอุ่นนั้น แม้เริ่มต้นจะดูยากเย็นดุจ “เข็นครกขึ้นภูเขา” เพราะขาดทั้งงบประมาณ บุคลากร และยังเป็นพื้นที่ที่มีชนหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ปะปนกัน ทั้งอาข่า, ลีซอ, ลาหู่, ปกาเกอะญอ, ไทใหญ่, คนพื้นเมือง รวมถึงแรงงานต่างด้าว เช่นพม่า หากสุดท้ายก็ประจักษ์ชัดว่าความพยายามดังกล่าวไม่สูญหาย ถึงปัจจุบันหมอไกรจะผันตัวเองสู่ถนนการเมือง แต่ยังคงมีผู้สืบสานเจตนารมณ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลแม่อาย ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงถึง 900 กิโลเมตร และติดชายแดนไทย-พม่า เพียงแค่เส้นถนนคั่นบนสันเขา กลายเป็นโรงพยาบาลชุมชนต้นแบบระดับประเทศ มีผู้เดินทางเข้ามาดูงานอย่างไม่ขาดสาย

นางอริศรา บัวปอน หัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลแม่อาย และหัวหน้าโครงการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ความดีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแม่อาย จ.เชียงใหม่ เล่าว่าผลงานเชิงรุกที่ประสบความสำเร็จของหมอไกร ทำให้บุคลากรในโรงพยาบาลแม่อายเริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติ จากเดิมที่มองงบประมาณเป็นหลักในการขับเคลื่อนงาน ก็หันมายอมรับว่าการทำงานด้วยใจเต็มร้อย มุ่งมั่นที่ผลของงานเป็นหลัก คือแรงผลักดันสู่ความสำเร็จ ซึ่งได้ผลดีกว่าการใช้งบประมาณเป็นตัวตั้ง เพราะทำให้แหล่งทุน หรืองบประมาณ ถูกหยิบยื่นเข้ามาอย่างเต็มใจมากกว่าการเขียนโครงการขึ้นมาของบประมาณ ทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มต้นขยับในเชิงปฏิบัติแม้แต่น้อย

“ความที่เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ จึงต้องรองรับผู้ป่วยนอก ที่มีปัญหาสุขภาพหลากหลาย เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน ทางเดินหายใจ โรคปัจจุบัน อุบัติเหตุ ฯลฯ ถึงวันละเกือบ 500 ราย ถือเป็นภาระหนักของเจ้าหน้าที่ ซึ่งรวมแพทย์ พยาบาล กับบุคลากรทุกฝ่ายแล้ว มีแค่ 160 คน ขณะที่คนไข้ในก็ล้น 60 เตียง ต้องใช้เตียงเสริมตลอดมา หากขวัญ กำลังใจในการปฏิบัติงานอย่างเต็มร้อย ทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อยหน่าย จำเจกับปริมาณคนไข้ที่ถาโถมเข้ามา ซ้ำยังเกิดความรู้สึกดีๆ อยากช่วยเหลือ แนะนำผู้ป่วยให้หายเป็นปกติ หรือสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข” หัวหน้าโครงการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ความดีฯ อธิบาย

ดังนั้น ในการคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงานในโรงพยาบาล จึงไม่ได้มองเฉพาะผลคะแนนสอบเป็นเกณฑ์ แต่ยังมองถึงบริบทอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวด้วย โดยเฉพาะในด้านจิตอาสา หรือจิตสาธารณะ มีการฝึกปฏิบัติงานเพื่อทดสอบความเสียสละ และความมุ่งมั่นทุ่มเททำงาน พร้อมทั้งตรวจเช็คประวัติย้อนหลัง ว่าเป็นคนดีหรือไม่ มีทัศนคติอย่างไร มีความรักองค์กรมากน้อยแค่ไหน ภายหลังเมื่อคัดเลือกเข้าทำงานแล้ว ก็จะฝึกสอนงาน แล้วมอบหมายให้ทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่หวงงานกัน และถ้าผลงานออกมาดี ประสบความสำเร็จ ก็ร่วมกันชื่นชม ประกาศให้คนอื่นรับรู้ในวงกว้างว่าเป็นผลงานของใคร มีจุดเด่นคืออะไร

เช่นเดียวกันกับการคัดเลือกเจ้าหน้าที่สู่โครงการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ความดี ซึ่งเริ่มแรกรับสมัครเพียง 20 คน เข้ารับการการอบรม 2 วัน 1 คืน เริ่มตั้งแต่การแนะนำเพื่อนที่อยู่ข้างๆ เล่าถึงคุณความดีของเพื่อนๆ ที่รู้สึกประทับใจ โดยไม่ต้องแนะนำตัวเอง เพราะบุคลากรภายในองค์กรรู้จักกันดีอยู่แล้ว จากนั้นให้เล่าเรื่องที่ตนเคยประสบมาแล้วภาคภูมิใจ ทั้งที่เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว และการทำงาน ซึ่งปรากฏว่าสร้างความแน่นแฟ้นในองค์กรได้ดีกว่าเดิม เจ้าหน้าที่รู้จักกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ผู้ร่วมอบรมในโครงการแต่ละคนได้ความคิด และตัวอย่างที่ดีจากคนอื่นๆ ไปเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติ และขยายผลสู่วงกว้าง สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากผ่านการอบรมแล้ว คือแต่ละกลุ่มงาน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่ภายในแผนก ทำให้สามารถทำงานได้ทุกหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มงานของตน ในกรณีจำเป็น หรือฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ประจำไม่อยู่ คนอื่นๆ ในแผนก จึงสามารถรับมือแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การสร้างความสุขในการทำงาน และความพึงพอใจให้กับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และคนไข้หรือญาติที่เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาล สังเกตได้ง่ายๆ จากผลสะท้อนกลับเชิงบวก อาทิ คนไข้ที่พอมีฐานะ เมื่อได้รับการบริการที่ดีจากพนักงานเปล ตั้งแต่ลงจากรถ เข้ารับการตรวจรักษาตามจุดต่างๆ กระทั่งขึ้นรถกลับบ้าน ก็จะเกิดความประทับใจ และยัดเยียดให้เงินพิเศษ (ทิป) โดยพนักงานเปลไม่ได้เรียกร้อง หรือคนไข้ที่มีฐานะยากจน แต่รู้สึกว่าถูกเอาใจใส่ ได้รับบริการจากเจ้าหน้าที่อย่างดี ก็มักหาทางตอบแทนน้ำใจ หอบผักผลไม้ใส่ตะกร้ามาฝากเจ้าหน้าที่อยู่บ่อยๆ”

นางอริศรา บอกว่าผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ทุกคนตื่นตัว อยากเข้าร่วมโครงการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ความดี จึงได้ปรึกษาผู้อำนวยการโรงพยาบาล และทีมงาน วางแผนจัดอบรมเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยแบ่งออกเป็น 7 รุ่นๆ ละประมาณ 20 คน ถึงขณะนี้ทยอยจัดไปแล้ว 4 รุ่น ภายในสิ้นปี 2552 ก็จะครบทุกรุ่น ซึ่งผลที่เกิดขึ้นไม่เพียงแค่งานภายในโรงพยาบาลเท่านั้น ที่ได้รับผลดีโดยตรง โครงการต่างๆ ที่ทางโรงพยาบาลรุกเข้าไปทำกับชุมชน ก็ได้รับประโยชน์จากถ้วนหน้า อันเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่เกิดจิตอาสา อยากบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ สร้างความสุขให้กับคนอื่นๆ ในสังคม

ตัวอย่างเช่น การออกเยี่ยมดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่บ้าน ตามโครงการ Home Help Care ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัว หรือญาติละเลยไม่ได้ดูแลเอาใจใส่ เมื่อทีมงานลงไปก็จะชักชวนญาติให้หันมาดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกวิธี สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและอบอุ่น โดยลูกหลานไม่คิดว่าคนแก่เป็นภาระให้เลี้ยงดู ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็ตระหนักถึงความสำคัญของตัวเอง ว่ายังมีความคิด สติปัญญา และภูมิปัญญา ที่จะช่วยเหลือและถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้ แม้เรี่ยวแรงทางกายจะลดถอยลงเรื่อยๆ

หรือกรณีคนแก่บางรายถูกทอดทิ้งให้อยู่ตัวคนเดียว พักในเพิงกระท่อมคลุมดิน มีเพียงห้องเดียว ที่ใช้เป็นทั้งห้องนอน ห้องน้ำ ห้องรับประทานอาหาร ทีมงานที่ลงพื้นที่ก็นำเรื่องมาหารือกันเพื่อทางช่วยเหลือ คนงานสวนรับอาสานำวัสดุอุปกรณ์ที่โรงพยาบาลไม่ได้ใช้ ไปสร้างบ้านที่แข็งแรงและถูกสุขลักษณะกว่าให้อยู่อาศัย แม่บ้าน บุคลากรฝ่ายอื่นๆ ช่วยดูแลแผ้วถางบริเวณรอบๆ และภายในบ้านให้สะอาด ปลอดโปร่ง ขณะที่แพทย์ พยาบาล ก็ช่วยเรื่องสุขภาพ อาหารการกิน พืชสมุนไพร ทำให้ผู้สูงอายุเกิดกำลังใจในการต่อสู้กับชีวิต เป็นต้น นอกจากนี้ในพื้นที่แม่อายยังประสบปัญหาวัยแรงงานเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์จำนวนมาก ทำให้เหลือแต่เด็กกำพร้า กับคนชรา ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และขาดรายได้เลี้ยงตัวเอง เมื่อต้องเลี้ยงหลานด้วยก็ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือเด็กไร้อนาคต อยากเรียนหนังสือแต่ไม่มีทุน กินอยู่อย่างอดๆ อยากๆ ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตระยะยาว ไม่สามารถหางานดีๆ ทำได้ เนื่องจากไม่มีการศึกษา ทางโรงพยาบาลจึงร่วมมือกับภาคเอกชน ซื้อข้าวสาร อาหารแห้ง เข้าไปให้ครอบครัวที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มานานกว่า 10 ปี จนทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ยกให้เป็นโครงการนำร่อง ขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วจังหวัด

“ในฐานะที่ตนเป็นทั้งหัวหน้าพยาบาล และหัวหน้าโครงการฯ จึงต้องรู้จักมอบหมายงาน เลือกคนและอัตรากำลังให้เหมาะสม ต้องเชื่อมั่นและไว้วางใจในศักยภาพของทีมงานแต่ละคนว่ามีความสามารถ เปิดใจรับความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกคน ทุกฝ่าย เพื่อนำมาปรับปรุงตนเองและงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แม้ผู้แนะนำจะเป็นเพียงคนขับรถ หรือคนทำความสะอาด ไม่ใช่แพทย์หรือพยาบาลโดยตรง เพราะถือว่าทุกคนมีคุณค่า มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ในการที่จะผลักดันให้งานประสบความสำเร็จ และเมื่อเกิดปัญหาระหว่างปฏิบัติงาน ก็ต้องพร้อมจะช่วยเหลือกันในการแก้ไขปัญหา ตรงกันข้ามถ้าผลงานบรรลุผลสำเร็จก็ชื่นชมความสำเร็จของทีมงาน ทำให้ทุกคนภาคภูมิใจ รู้สึกว่าตนเป็นคนสำคัญของการทำงาน มีส่วนร่วมริเริ่มสร้างสรรค์ มีความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือผู้เดือดร้อนต่อไปโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน นอกเหนือจากความสุขใจ อิ่มเอิบที่ได้ทำความดีสู่เพื่อนมนุษย์” นางอริศรา กล่าว

อย่างไรก็ตาม การดึงศักยภาพของคนทำงานออกมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถลดช่องว่างระหว่างบุคลากรภายในโรงพยาบาล ทั้งระดับผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ พนักงานบริการ ให้รู้สึกผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น มีเป้าหมายในการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งทำให้ชุมชนเกิดความรู้สึกใกล้ชิด และเป็นมิตรกับทางโรงพยาบาล เป็นการลดปริมาณผู้ป่วยทางอ้อม เพราะเมื่อหมดปัญหาปากท้อง ชาวบ้านก็จะคิดถึงเรื่องสุขภาพ ตลอดจนคุณภาพชีวิตมากขึ้น.

แผนพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net