กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--ธนบุรินทร์ เอเซีย แปซิฟิค
บรรยากาศระหว่าง พี่ๆ เทรนเนอร์ และศิษย์รุ่นที่ 7 ในวันสุดท้าย ของโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “นักข่าวสายฟ้าน้อย รุ่นที่ 7” จัดโดย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ดูคึกคักและสนุกสนานเป็นกันเองเสียจนไม่น่าเชื่อว่า นี่คือช่วงเวลาที่น่าจะเคร่งเครียด เพราะเป็นช่วงรับฟังคำวิจารณ์ผลงานการสร้างสรรค์ สารคดีข่าวสั้นทั้งวิทยุ และโทรทัศน์ของน้องๆ นักศึกษาสายสื่อสารมวลชนแต่ละกลุ่มจากทั่วประเทศ ที่ถือว่าสำคัญที่สุดของอบรมเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นการเปิดกว้างให้พี่ๆ วิทยากร และเพื่อนๆ วิจารณ์ผลงานที่ทุกคนได้ใช้เวลา 3 วัน 2 คืนที่ผ่านมาสำหรับการลงพื้นที่และอดหลับอดนอนคืนแล้วคืนเล่าเพื่อทุ่มเทให้กับการผลิตชิ้นงานสารคดีข่าวอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์....หลายคนจึงตื่นเต้นเหมือนกำลังจะฟังผลสอบ!!
โครงการอบรม “นักข่าวสายฟ้าน้อย” จัดขึ้นเป็นประจำ ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 แล้ว มีการปรับปรุงและพัฒนาด้านรูปแบบและเนื้อหาให้เข้มข้นขึ้น รัดกุมยิ่งขึ้นทุกปี โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พี่ๆ วิทยากร นักข่าวสายอาชีพ ฝ่ายโปรดักชั่น ช่างภาพระดับมืออาชีพที่ระดม สรรพกำลังความรู้ความสามารถ เค้นเอาแต่เคล็ดลับ และประสบการณ์ดีๆ ตลอดระยะเวลาการทำงาน ในสายงานข่าว มากลั่นกรองให้กับน้องๆ นิสิต นักศึกษาสาขาสื่อสารมวลชนตัวแทนจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มาร่วม 400 ชีวิตแล้ว
นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า “เทคโนโลยี ที่ก้าวหน้ามีส่วนช่วยในการผลิตผลงานข่าวมากขึ้น สมัยนี้คอมพิวเตอร์ตัวเดียวก็สามารถทำงานได้แล้ว ดังนั้น นักศึกษารุ่นใหม่ๆ มักจะมีทักษะ และเทคนิคที่ใกล้เคียงกัน แต่เนื้อหาในการอบรมโครงการนักข่าวสายฟ้าน้อย ที่น้องๆ ได้รับเพิ่มเติมคือ มุมมอง วิธีคิด และการสร้างสรรค์ประเด็นข่าว ดังนั้น นักข่าวสายฟ้าน้อยในแต่ละรุ่น จะเปล่งประกายความโดดเด่นกว่าเพื่อนๆ ตรงที่เขาจะสามารถวิเคราะห์ประเด็นข่าวได้ ลึก และคมกว่า เหมือนเป็น “ทางด่วน” ที่เปิดโอกาสให้น้องๆ นักศึกษาได้มาเรียนรู้วิธีการผลิตสารคดีข่าววิทยุ และโทรทัศน์ภายในระยะเวลา 4 วัน 3 คืน อย่างรวบรัด และอัดแน่นไปด้วยเทคนิคจากนักข่าวรุ่นพี่นั่นเอง”
ในส่วนของผู้สนับสนุนใจดี จากกลุ่มทรู โดย นางสาวเสาวนีย์ ลิมมานนท์ ผู้ช่วยบริหารงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบงานซีเอสอาร์ และหัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กร และประชาสัมพันธ์การตลาด กลุ่ม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวเสริมว่า “ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่น้องๆ นักศึกษาสายสื่อสารมวลชนต้องก้าวตามให้ทัน ดังนั้นประสบการณ์ รวมทั้งคุณค่าที่ได้รับจากการอบรมครั้งนี้ จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อวิชาชีพ และสร้างสรรค์สังคมโดยรวมให้มีคุณภาพดีขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างเครือข่ายนักสื่อสารมวลชนที่เข้มแข็งของประเทศชาติ อีกด้วย”
สำหรับในปีนี้เลือกพื้นที่ชุมชนในเขตอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นแบบฝึกหัด โดยมีทั้งชุมชนตลาดน้ำบ้านใหม่อันลือเลื่อง วัดหลวงพ่อโสธร สวนตาล และนากุ้ง และหลังจากที่พี่ๆ วิทยากรจากสมาคมนักข่าวฯ ลงไปสำรวจพื้นที่และกำหนดหัวข้อที่น่าสนใจให้น้องๆ แต่ละกลุ่มเลือกก่อนจะคิดประเด็น แล้วลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล พูดคุยกับคนในชุมชนเพื่อค้นหาประเด็นน่าสนใจมาเสนอเป็นสารคดีข่าว ทั้งวิทยุ และโทรทัศน์ ถือเป็นแบบฝึกหัดข้อใหญ่ที่ต้องช่วยกันทำ และนำเสนอให้พี่ๆ วิทยากร และเพื่อนๆ ช่วย ติ–ชม ในวันสุดท้าย
น้องสา นายสานิตย์ สือนิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จังหวัดปัตตานี เด็กใต้ ที่ทำให้เพื่อนๆ และพี่ๆ ทึ่ง นอกจากระยะทางแสนไกลจากปัตตานีถึงกรุงเทพฯ แล้ว เขายังมีเป้าหมาย ในชีวิตการทำงานที่น่าทึ่งยิ่งกว่า เพราะเขาอยากเป็นนักข่าวที่ต้องการสะท้อนข้อเท็จจริงในมุมของคน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ น้องสาพูดถึงโครงการอมรมสายฟ้าน้อยว่า “ผมได้มีโอกาสรู้จักโครงการนี้ครั้งนี้ เพราะหาข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมพบจากอินเทอร์เน็ตครับ ผมรู้สึกสนใจมาก จึงติดต่อไปที่สมาคมนักข่าวฯ และได้มีโอกาสได้มาร่วมการอบรมนักข่าวสายฟ้าน้อย รุ่นที่ 7 ในที่สุด การอบรมครั้งนี้ น่าประทับใจมากเพราะได้รับประสบการณ์จากการลงพื้นที่ทำงานมากมายหลายเรื่อง รวมถึงมิตรภาพ ที่ได้รับจากเพื่อนๆ ทุกคน ผมบอกกับทุกคนเสมอว่า ผมอยากเป็นนักข่าวเพราะผมเป็นคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมต้องการเผยแพร่ข่าวสารข้อเท็จจริง ให้คนนอกพื้นที่ได้รับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ และจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นทำให้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ผมกำลังศึกษาอยู่มีนักเรียนให้ความสนใจมาเรียนที่นี่น้อยมาก ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว สถานการณ์ที่เป็นอยู่ไม่ได้มีอะไรน่ากลัวมากขนาดนั้น นอกจากนั้น ในเขต 3 จังหวัดภาคใต้ยังมีจำนวนผู้สื่อข่าวอยู่น้อย และผมก็เป็นอิสลาม ซึ่งมีคนอิสลามจำนวนน้อยมากที่สนใจศึกษาในด้านนี้”
ด้าน น้องโตโต้ นายธนวัตร มัททวีวงศ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพฯ ว่าที่ช่างภาพโทรทัศน์ตัวโต เล่าว่า “เทคนิค และความรู้ที่ได้รับจากการอบรมนักข่าวสายฟ้าน้อยครั้งนี้ เรียกว่าที่สุดยอดของความคุ้มค่าเลยครับ เพราะนอกจากจะเหมือนเป็นการลับฝีมือความรู้พื้นฐานที่ได้จากห้องเรียนแล้ว ยังได้รับความรู้ใหม่ๆ จากการทำงานจริงของเรา และจากประสบการณ์ของมืออาชีพที่มาแบ่งปัน โดยเฉพาะเทคนิคด้านโปรดักชั่น การตัดต่อภาพและเสียง นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้และรับฟังมุมมองใหม่ๆ จากเพื่อนต่างสถาบันที่เรียนในสาขาวิชาเดียวกันแต่มีวิธีคิด และมุมมองแตกต่างกันออกไป ที่สำคัญ คือได้เปลี่ยนวิธีทำงานจากเดิมเราผลิตข่าวในมุมของผู้ชมมาเรียนรู้วิธีการผลิตจากมุมของผู้ผลิตจริงๆ และท้ายที่สุด คือความประทับใจที่ได้รู้จักเพื่อนใหม่ทุกคนครับ ผมมองว่าการมีโอกาสได้รู้จักเพื่อนๆ จากโครงการสายฟ้าน้อย ทำให้เรามีเครือข่ายของเพื่อนร่วมสายงานซึ่งจะสามารถช่วยเหลือกันได้ ในอนาคต“
เมื่อการอบรมมาถึงวันสุดท้าย การนำเสนอและวิจารณ์ผลงานสิ้นสุดลง แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงกลิ่นอายแห่งมิตรภาพ และสายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน รุ่นพี่และรุ่นน้อง ก่อนจะแยกย้ายจากกัน ผู้บริหารจากกลุ่มทรูได้กล่าวทิ้งท้ายกับ “ว่าที่นักสื่อสารมวลชน” ทั้ง 60 คนในห้อง ว่าการได้มาร่วมอบรมครั้งนี้เป็นเสมือนการจุดประกายให้นักศึกษาก้าวเข้าสู่สายวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้วยความมั่นใจยิ่งขึ้นดังนั้น เมื่อสายฟ้าน้อย รุ่นที่ 7 เดินทางกลับไปถึงสถาบันการศึกษาของตน เรื่องราวต่างๆ จะถูกบอกเล่าต่อไปยังรุ่นน้อง ทำให้หลายคนเริ่มนับวันรอคอยการอบรม “นักข่าวสายฟ้าน้อย” ปีหน้ากันอย่างใจจดใจจ่อเลยทีเดียว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ :
สายงานสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์การตลาด กลุ่มทรู
บริษัท ธนบุรินทร์ เอเซีย แปซิฟิค จำกัด
เกษมศรี ยูเฟมิโย โทร: +66 (0) 2231 6158 อีเมล: [email protected]
ธิดาพร จำรัสคำ โทร: +66 (0) 2231 6158-9 อีเมล: [email protected]
ณัฐชลิกา โตอดิเทพย์ โทร: +66 (0) 2231 6158-9 อีเมล: [email protected]
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
เสาวลักษณ์ เกตุแก้ว โทร: +66 (0) 2243 8479 อีเมล: [email protected]
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net