กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. หารือกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เพื่อให้เกิดพัฒนาการที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและผู้ลงทุน และซักซ้อมการปฏิบัติงานที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนในกองทุนรวม พร้อมแจ้งให้สมาคมทราบถึงโอกาสทางธุรกิจเมื่อเกิดการรวมตลาดทุนอาเซียน
ในการประชุมรายไตรมาส ระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต. กับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ได้มีการหารือ เพื่อให้เกิดพัฒนาการและการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานในธุรกิจจัดการลงทุน ดังนี้
1. แยกกองทุนที่มีความซับซ้อนออกมาให้ชัดเจนเพื่อให้การกำกับดูแลมีความเหมาะสมเพื่อสนับสนุนให้กองทุนรวมสามารถลงทุนในนวัตกรรมทางการเงินที่มีความเสี่ยงในระดับที่ผู้ลงทุนแต่ละประเภทยอมรับได้ และที่ผ่านมาบริษัทจัดการหลายแห่งได้นำเสนอนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะจัดกลุ่มกองทุนรวมตามลักษณะโดยจัดเป็น (1) กองทุนรวมที่มีความซับซ้อน และ (2) กองทุนรวมที่ไม่มีความซับซ้อน ซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดแนวทางการเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวมที่มีความซับซ้อนโดยให้เปิดเผยความเสี่ยงกรณีพิเศษเพิ่มเติมในหนังสือชี้ชวนและรายงานของกองทุนรวมด้วย เช่น กอง FIF มีความเสี่ยงเพิ่มด้าน country risk และ currency risk และคำเตือนเกี่ยวกับรูปแบบการจ่ายผลตอบแทนที่มีเงื่อนไข เป็นต้น
ทั้งนี้ ก.ล.ต. และสมาคมจะได้มีการหารือร่วมกันเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในส่วนของการเปิดเผยข้อมูลและการให้คำแนะนำที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนได้ถูกต้องต่อไป
2. การลงทุนในตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนมีลักษณะหลัก ๆ ได้แก่ ไม่กำหนดระยะเวลาคืนเงินต้น ไม่ชำระดอกเบี้ยในปีที่บริษัทไม่มีผลกำไร ไม่สะสมดอกเบี้ยจ่าย และในกรณีที่บริษัทผู้ออกตราสารหนี้เลิกกิจการ ผู้ถือตราสารมีสิทธิรับชำระเงินในลำดับหลังจากเจ้าหนี้ด้อยสิทธิทุกประเภท ตราสารหนี้ลักษณะคล้ายทุนจึงน่าจะเหมาะสมกับกองทุนรวมตราสารทุน และกองทุนรวมผสม และไม่น่าจะสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมตราสารหนี้
3. การเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจจากการเชื่อมโยงตลาดทุนในอาเซียน ในการประชุมครั้งนี้ ก.ล.ต. ได้แจ้งให้สมาคมทราบถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านตลาดทุนสู่การรวมตลาด ของหน่วยงานกำกับดูแลด้านตลาดทุนของอาเซียน เพื่อสมาคมจะได้แจ้งให้สมาชิก ทราบถึงโอกาสใหม่ ๆ ที่เปิดกว้างขึ้นในการทำธุรกิจข้ามชาติ และเตรียมตัวรับการแข่งขัน โดย ก.ล.ต. ยินดีที่จะรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อนำไปหารือกับ ก.ล.ต. ประเทศอื่นในอาเซียน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจไทยต่อไป
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “การลงทุนกับกองทุนต้องอาศัยความเชื่อถือเป็นสำคัญ ก.ล.ต. จึงขอให้สมาคมซักซ้อมกับบริษัทสมาชิกให้มีความเข้มงวดในการควบคุมดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.)ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด โดยไม่ให้มีการเอาเปรียบกองทุนและผู้ลงทุน และต้องตรวจสอบอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันมิให้ผู้บริหารและพนักงานนำข้อมูลภายในไปใช้ประโยชน์ และป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารและพนักงาน เพื่อให้ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่ง ก.ล.ต. ก็จะมีการตรวจสอบบริษัทจัดการในเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยตรวจพบการกระทำในลักษณะดังกล่าว”
นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า “ ในการกำกับดูแลการลงทุน เพื่อตนเองของพนักงานและผู้บริหารทุกระดับของบริษัทสมาชิก (บลจ.) นั้น ทางสมาคมมีกฎควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานและผู้บริหารให้บริษัทสมาชิกปฏิบัติ และในการซื้อขายนั้น พนักงานและผู้บริหารจะต้อง 1) ขออนุญาตก่อนทุกครั้ง 2) ส่งรายงานการซื้อขายให้ฝ่ายกำกับการปฏิบัติงานของ บลจ. ทุกครั้งที่มีการซื้อขาย 3) ฝ่ายกำกับการปฏิบัติงานของ บลจ. จะตรวจสอบโดยเทียบกับรายการที่พนักงานรายงานมานั้นกับรายการซื้อขายจริงที่ได้จากโบรกเกอร์ที่กำหนดให้พนักงานไปซื้อขายผ่านได้โดยตรงว่าข้อมูลตรงกันไหม มีพฤติกรรมอันเป็นการเอาเปรียบกองทุนหรือไม่ 4) ฝ่ายกำกับการปฏิบัติงานของ บลจ. จะส่งรายงานดังกล่าวให้ ก.ล.ต. ปีละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย และรายงานโดยสม่ำเสมอต่อคณะกรรมการ บลจ. โดยตรง ดังนั้น เมื่อ บลจ. ต่าง ๆ มีการกำหนดกรอบ มีการจัดทำระบบ มีการตรวจสอบ และมีการรายงานให้ ก.ล.ต. กับคณะกรรมการ บลจ. รับทราบทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้น จึงมั่นใจถึงความโปร่งใสในการปฏิบัติงานได้”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit