กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
ยกระดับโรงพยาบาลสังกัดกทม. เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ครบทุกแห่ง หลังปรับโครงสร้างโรงพยาบาลในสังกัดที่เหลือ 5 แห่ง ให้มีขนาด 200 และ 300 เตียง รองรับการเจริญเติบโตของพื้นที่ มุ่งให้บริการประชาชนอย่างมีมาตรฐานและคุณภาพ ครอบคลุมทุกสาขาโรค ลดการเสียชีวิต และค่าใช้จ่ายของประชาชน
นายสามารถ ตันอริยกุล รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังโรงพยาบาลในสังกัดที่เหลือ 5 แห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลเวชการุณรัศมิ์ (หนองจอก) โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสิรินธร เพื่อให้การรักษาพยาบาล ส่งเสริม ฟื้นฟูสุขภาพ การป้องกันโรคแก่ประชาชนได้มาตรฐานและมีคุณภาพยิ่งขึ้น มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้บริการครอบคลุมทุกสาขาโรค ลดปัญหาการส่งต่อผู้ป่วย การเสียชีวิต แก้ปัญหาวิกฤตความเร่งด่วนในการรักษา รวมถึงเป็นการลดค่าใช้จ่ายและสร้างความพึงพอใจในการรับบริการแก่ประชาชน โดยพัฒนาจากหน่วยบริการระดับปฐมภูมิที่ให้บริการรักษาโรคทั่วไปเป็นระดับทุติยภูมิระดับสูงขยายขอบเขตการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น มีแพทย์เฉพาะทางสาขาหลัก ได้แก่ สาขาสูตินรีเวชกรรม ศัลยศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ อายุรกรรม ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ วิสัญญีแพทย์ และมีแพทย์เฉพาะทางสาขารอง อาทิ จักษุวิทยา โสตศอ นาสิก ลาลิงซ์ รังสีวิทยา จิตเวชศาสตร์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู เวชบำบัดวิกฤต เวชศาสตร์ครอบครัว ทั้งนี้กทม. มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่อยู่แล้ว จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน และโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ซึ่งตอบสนองความต้องการด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit