กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--สำนักงาน ก.พ.
สำนักงาน ก.พ. ยืนยัน ข้าราชการพลเรือนสามัญจะยังได้รับสิทธิตามเดิม ทุกประการ หลังยกเลิกระบบ “ซี” ส่วนกรณีนักวิชาการ 8 ว สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุ ไม่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง ถือเป็นความเข้าใจผิด ย้ำชัดการปรับเปลี่ยน ยึดหลักไม่รอนสิทธิข้าราชการ
นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ ก.พ. กล่าวว่า จากกรณีที่นายประหยัด พิมพา นักวิชาการ 8 ว สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ร่วมกับนายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองชั่วคราว ระงับ และหรือเพิกถอนคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกฎ ก.พ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2551 โดยอ้างว่าทำให้ข้าราชการต้องเสียสิทธินั้น ทางสำนักงาน ก.พ. ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากการปรับเข้าสู่ระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มีหลักการสำคัญที่จะไม่รอนสิทธิของข้าราชการ กล่าวคือ ข้าราชการพลเรือนสามัญที่เคยได้รับสิทธิประโยชน์ด้านค่าตอบแทนตามระบบเดิมอยู่อย่างไร ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวต่อไป
เลขาธิการ ก.พ. ยืนยันว่า เหตุผลในการพิจารณาของ ก.พ. ว่าสายงานใดสมควรได้รับเงินประจำตำแหน่งนั้น พิจารณาจากสภาพการณ์ของตลาดแรงงาน อัตราการจ้างงานภายนอกภาคราชการ เพื่อให้สามารถแข่งขันในการดึงดูดและรักษาข้าราชการที่มีคุณภาพสูง ไว้ใน ระบบราชการ โดยพิจารณาประกอบกับลักษณะงานของตำแหน่งในสายงานนั้นๆ ตาม พระราชกฤษฎีกากำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทวิชาชีพและประเภท เชี่ยวชาญเฉพาะ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 26 สายงาน
“กรณีที่ นายประหยัด พิมพา สำนักงาน ก.พ. ได้ตรวจสอบกับกระทรวงศึกษาธิการแล้วพบว่า เป็นนักวิชาการศึกษา 8ว สังกัด สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เดิมได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นรายเดือนในอัตราเดือนละ 3,500 บาท ของข้าราชการ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ข้อ 6 ซึ่งเมื่อมีการปรับเปลี่ยนระบบ จำแนกตำแหน่งใหม่แล้ว นายประหยัด พิมพา เปลี่ยนมาอยู่ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ และยังคงได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นรายเดือน 3,500 บาทนั้น อยู่ตามเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนที่เข้าใจผิดว่าตนเองจะได้รับเงินประจำตำแหน่งตามที่ร้องนั้น จึงไม่ถูกต้องแต่อย่างใด เนื่องด้วยก่อนการเปลี่ยนแปลงก็ไม่เป็นผู้เคยได้รับเงินประจำตำแหน่งตามพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว สำหรับ นายสมคิด หอมเนตร นั้นตรวจสอบแล้วทราบว่า มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ จึงมิทราบได้ว่าเพราะเหตุใดจึงร่วมการฟ้องร้องในครั้งนี้”
เลขาธิการ ก.พ. กล่าวย้ำว่า “สำหรับการให้ข้าราชการได้รับเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2535 นั้น เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกากำหนดตำแหน่งข้าราชการ พลเรือนสามัญ ประเภทวิชาชีพและประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อมีการปรับเปลี่ยนมาเป็นกฎหมายใหม่ จึงปรับมาเป็น กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการ พลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2551 ซึ่งทำให้ผู้ที่ได้รับเงินประจำตำแหน่งตาม พระราชกฤษฎีกาฯ เมื่อ ปี 2535 ก็จะยังคงได้รับเงินประจำตำแหน่งตาม กฎ ก.พ. ปี 2551 เช่นกัน ส่วนผู้ที่ไม่เคยได้รับเงินประจำตำแหน่งอยู่เดิม ก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายใหม่”
ทั้งนี้ ในการปรับเปลี่ยนระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก.พ. ยังดำเนินการโดยคำนึงถึงการไม่รอนสิทธิของข้าราชการและให้เกิดผลกระทบต่องบประมาณน้อยที่สุด เนื่องจากตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมว่า ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง ในขณะที่รัฐยังจำเป็นต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อสร้างความจำเป็นพื้นฐานและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคม
สำนักงาน ก.พ.
ผู้ส่ง : น้ำริน
เบอร์โทรศัพท์ : 080-447-1362
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit