ทรู บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์คนข่าว จัดอบรมนักข่าวสายฟ้าน้อย รุ่น 6 ก่อนก้าวเป็นมืออาชีพ

14 Jan 2009

กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--ธนบุรินทร์ เอเชีย แปซิฟิค

ผ่านไปอีกหนึ่งรุ่นสำหรับโครงการดีๆ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องของ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ภายใต้ชื่อโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “นักข่าวสายฟ้าน้อย” รุ่นที่ 6 ที่ย่อโลกการทำงานในสายอาชีพนักข่าววิทยุ โทรทัศน์เสมือนจริง ที่ตะบูนบานรีสอร์ท จังหวัดสมุทรสงคราม เปิดโอกาสให้น้องๆ นิสิต นักศึกษาสาขาสื่อสารมวลชน และนิเทศศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศกว่า 60 ชีวิต ได้มาใช้เวลาร่วมกัน และเรียนรู้คำว่า ทีมเวิร์คในการทำงาน อย่างถ่องแท้ พร้อมกับกอบโกยความรู้และเทคนิค วิธีการทำงาน ตลอดจนแนวคิด และจริยธรรมของผู้สื่อข่าว ในฐานะ “สุนัขเฝ้าบ้าน” (watch dog) กลับไป โดยมีของแถมเป็นมิตรภาพจากเพื่อนต่างสถาบันที่ล้วนมีเลือดสีเดียวกันกลับบ้านกล่องใหญ่

บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น องค์กรที่เกาะติด ส่งเสริมและเพิ่มพูนศักยภาพของเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง โดย นางสาวเสาวนีย์ ลิมมานนท์ ผู้ช่วยบริหารงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบงานซีเอสอาร์ และ หัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กร และประชาสัมพันธ์การตลาดกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า“อีกครั้งที่ ทรูมอบโอกาสให้นิสิต นักศึกษาสาขาสื่อสารมวลชน และนิเทศศาสตร์ทั่วประเทศ ได้เข้ามาฝึกทักษะ เรียนรู้จรรยาบรรณคนข่าวผ่านประสบการณ์จริงจากรุ่นพี่สายงานวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ มืออาชีพอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่วิชาชีพสื่อสารมวลชนแบบมืออาชีพ ถ่ายทอดข่าวสารเจาะลึกอย่างมีคุณภาพ ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสื่อสารไร้พรมแดนอย่างเต็มประสิทธิภาพ และนำประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อวิชาชีพการดำเนินชีวิตของตนเอง และเพื่อสังคมโดยรวมต่อไป”

นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อีกหนึ่งหัวเรือใหญ่ที่ผลักดันโครงการดีๆ ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมกับทรูอย่างแข็งขัน ได้ให้ข้อคิดแก่น้องๆ สายฟ้าน้อยรุ่นที่ 6 ว่า "อนาคตของวงการสื่อต้องการคนที่ทำหน้าที่สื่อที่ดี และไม่มีทางลัดสำหรับการก้าวขึ้นไปสู่นักข่าวที่เก่ง นอกจากมุ่งมั่นแล้วก้าวไปสู่จุดนั้น สิ่งที่น้องๆ ได้เรียนมาจากห้องเรียนมีการนำมาใช้ แต่จะเป็นการใช้อย่างไร น้องๆ จะได้เรียนรู้จากการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติในครั้งนี้ เพราะการฝึกอบรมในครั้งจะให้ประโยชน์กับน้องๆ ทุกคนในเชิงทักษะ การปฏิบัติ การสื่อสารและการเสนอแผนงาน ซึ่งน้องๆ สามารถนำไปใช้ได้จริงเมื่อวันที่ได้ทำหน้าที่สื่อมวลชน”

น้องต้น จักรกฤษณ์ ทองมาก นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ (วิทยุ-โทรทัศน์) ชั้นปี 3 เจ้าของรางวัลดาวรุ่งฝ่ายชายที่มีบุคลิกและความสามารถโดดเด่น กล่าวว่า “ผมรู้จักโครงการนี้จากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยครับ ท่านแนะนำให้ผมลองมาอบรมดู ตอนแรกก็ยังไม่ทราบว่าจะได้อะไรกลับไป มากน้อยแค่ไหน แต่พอมาสัมผัสแล้วสนุกดีครับ ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อนใหม่ ทำให้รู้จักการทำงานร่วมกันเป็นทีม และการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานจริงในอนาคต นอกจากนั้นผมชอบที่ได้เรียนรู้แบบลงสนามจริง ทำให้ได้มุมมองและเทคนิคเยอะเลยครับ แต่ผมอยากให้มีทฤษฎีให้น้อยลง แต่เพิ่มในส่วนปฏิบัติให้มากขึ้นครับ”

น้องเปีย วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง นิสิตสาขาการสื่อสารมวลชน นิเทศศาสตร์ วิทยุ-โทรทัศน์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชั้นปีที่3 เปิดใจด้วยความภาคภูมิใจว่า “เมื่อก่อนทราบเพียงว่าโครงการสายฟ้าน้อยเป็นโครงการประกวดผลงานสารคดีเชิงข่าว แต่ไม่ทราบว่ามีการจัดโครงการเข้าค่ายแบบนี้ด้วย พอทราบจากอาจารย์ จึงเขียนบทความส่งเพื่อเป็นตัวแทนในการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งก่อนจะไปก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก คิดว่าคงเป็นโครงการฝึกอบรมธรรมดา ที่คงไม่ต่างจากค่ายอื่นๆ แต่พอเอาเข้าจริงสุดยอดมากค่ะ คือพี่ๆ ผู้จัดทุกคนให้อะไรกับเราเยอะมาก ทั้งความรู้ด้านวิชาการที่เราไม่เคยได้รับจากในห้องเรียน และการทำงานร่วมกับคนอื่นที่ต่างคนต่างสถาบัน ต่างที่มา แต่ต้องมาทำงานร่วมกัน เป็นเหมือนการจำลองโลกการทำงานจริงๆ มาไว้ในระยะเวลา 4 วัน 3 คืนค่ะ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้เรียนรู้บุคคล ทัศนคติ การทำงาน การวางตัวในการทำงานเป็นทีม ซึ่งจำเป็นอย่างมากต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชนเพราะเราทำงานคนเดียวไม่ได้ค่ะ กิจกรรมในครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เรามากๆ โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัดที่ค่อนข้างเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นส่วนกลางหรือมืออาชีพได้ยาก แต่ที่ค่ายนี้เราได้ทำได้สัมผัสจริง หนูว่าโครงการนี้สมบูรณ์แบบมากค่ะ”

ตลอดระยะเวลาที่นิสิต นักศึกษาสาขาสื่อสารมวลชน และนิเทศศาสตร์กว่า 60 ชีวิต จากทั่วประเทศ ได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากการทำงานแบบมืออาชีพ ทั้งภาคทฤษฎี และการลงพื้นที่ในภาคปฏิบัติ เปรียบได้กับการได้รับถ่ายทอดวิทยายุทธ ทั้ง บู๊ และ บุ๋น จากวิทยากรที่ล้วนคร่ำหวอดอยู่ในวงการวิทยุ และโทรทัศน์ของเมืองไทย เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการสังเกต จับประเด็น เขียนข่าว ไปถึงกระบวนการผลิตสารคดีข่าววิทยุ และโทรทัศน์ และเวลา 4 วัน 3 คืน ก็คงไม่เพียงพอสำหรับการผ่องถ่ายประสบการณ์ ความรู้ และแนวความคิดของนักสื่อสารมวลชนที่ดีได้ทั้งหมด และเวลาเพียงเท่านี้ก็ไม่อิ่มเต็มกับการได้ลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่ แต่เชื่อแน่ว่าช่วงเวลาสั้นๆ เพียงพอสำหรับการจุดประกายไฟแห่งความกระหายใคร่รู้ และไฟแห่งความท้าทายในใจของน้องๆ ทุกคน เสียงเล็กๆ เหล่านี้ เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ยังคงสืบสานโครงการดีๆ แบบนี้ให้ยังมีอยู่ในสังคมไทย เพื่อบ่มเพาะ และปลูกไม้ยืนต้นที่เรียกว่า “นักสื่อสารมวลชนที่ดี” ให้เติบใหญ่อยู่คู่สังคมไทยต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ :

สายงานสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์การตลาด กลุ่มบริษัท

ทรู คอร์ปอเรชั่น

พิมลพรรณ ศิริวงศ์วานงาม โทร: +66 (0) 2699 2772 อีเมลล์ [email protected]

วิภาดา อิศระ โทร: +66 (0) 2699 2778 อีเมลล์ [email protected]

นฤมล แสงระ โทร. +66 (0) 699 2773 อีเมลล์ [email protected]

บริษัท ธนบุรินทร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด

เกษมศรี ยูเฟมิโย (081 611 4696)

โทร: +66 (0) 2231 6158 อีเมลล์: [email protected]

ธิดาพร จำรัสคำ (081 734 0473)

โทร: +66 (0) 2231 6159 อีเมลล์: [email protected]

ณณัฐชลัญช์ สุวรรณพันชู โทร: +66 (0) 2231 6159 อีเมลล์: [email protected]

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

เสาวลักษณ์ เกตุแก้ว (086 522 4288) โทร: +66 (0) 2243 8479 อีเมลล์: [email protected]

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net